10 ก.พ. 2024 เวลา 03:42 • การศึกษา

วันตรุษจีน : ความเป็นมาและสาระดีๆที่น่าสนใจ

วันตรุษจีน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนทั้งในผืนแผ่นดินใหญ่และชาวจีนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย วันตรุษจีนนี้นับเป็นวันพิเศษและมีความสำคัญยิ่งสำหรับคนจีน จะมีการเฉลิมฉลองกันไปทั่วโลก
โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนจีนในประเทศต่างๆ ในวันตรุษจีนนี้ชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีน ถือว่าเป็นวันที่สมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะไปประกอบธุรกิจการงานที่ไหน หากอยู่ในจังหวัดหรือในประเทศเดียวกัน หรือที่ใด บรรดาสมาชิกในครอบครัวชาวจีนเหล่านั้น ก็จะพากันกลับบ้าน กลับถิ่นเพื่อมาพบปะกันอย่างพร้อมเพรียงกัน คล้ายกับวันสงกรานต์ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยนั้นเอง.
สำหรับตรุษจีนในประเทศไทย
คนไทยเชื้อสายจีนจะถือเป็นประเพณีปฏิบัติอยู่ ๓ วัน คือ
๑.) วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปี ซึ่งเป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (ตี่จู๋เอี๊ย) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน
๒.) วันไหว้ คือวันสิ้นปีจะมีการไหว้ในวันนี้ ๓ ช่วงเวลา ได้แก่
๒.๑ ตอนเช้ามืด คือ การไหว้เทพเจ้าต่างๆ ด้วยเครื่องไหว้ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ๓ ชนิด (ซาแซ คือ หมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม และเป็ดต้ม) หรือปรับเปลี่ยนเป็นเนื้อสัตว์ชนิดอื่นก็ได้ หรือมากกว่านี้ เป็นเนื้อสัตว์ ๕ ชนิดก็ได้ แล้วมีเหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
๒.๒ ตอนสาย คือ การไหว้บรรพบุรุษที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้บรรพบุรุษนี้จะไหว้กันไม่เกินเที่ยงวัน เครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วยซาแซ อาหารคาวหวาน รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทองและเสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมาร่วมรับประทานอาหารที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษเสร็จเรียบร้อยแล้ว และช่วงเวลานี้ถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด และเมื่อร่วมรับประทานอาหารกันเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีการแลกเปลี่ยนอั่งเปากัน
๒.๓ ตอนบ่าย คือ การไหว้ผีไม่มีญาติ เครื่องเซ่นไหว้จะประกอบด้วยข้าว กับข้าวต่างๆ ขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล
๓.) วันขึ้นปีใหม่ คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน กล่าวคือ การไปไหว้ขอพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยจะนำส้มสีทองจำนวน ๔ ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชายไปมอบให้ สาเหตุที่มอบส้มให้กัน เนื่องจากคำว่า “ส้ม” ในภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “กา” ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นกาให้ส้มจึงเปรียบเสมือนเป็นการนำโชคไปให้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในวันนี้ยังถือคติหลายๆ อย่าง เช่น ไม่พูดจาที่ไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน และไม่กวาดบ้าน เป็นต้น.
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว หรือมากกว่านั้น คนจีนที่เข้ามาในสยามหรือไทย ยังมีความยากจนอยู่ หลายครอบครัวถือเสื่อผืนหมอนใบอพยพมาเมืองไทย ทำงานลำบากทุกอย่างเช่นเป็นกุลีแบกข้าวสาร รับจ้างลากรถ ขายน้ำเต้าหู้ รับจ้างทุกอย่าง ฯลฯ
ตอนนั้นคนไทยหลายคนที่ดูถูกคนจีนโดยเรียกว่า "เจ๊ก" จนติดปาก จนเป็นที่มาของ "รถเจ๊กลาก" ในอดีตที่ส่วนใหญ่คนจีนเป็นคนลากรถบริการในอดีต.
แต่ด้วยความที่คนจีนเป็นคนขยันขันแข็งรู้จักหนักเอาเบาสู้ พวกเขามีความอยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากค้าขายเก็บเงินเก็บทองโดยไม่สนใจคำดูถูกต่างๆ คนจีนในไทยทำทุกอย่างที่เป็นเงินยกเว้นไปนั่งงอมืองอเท้าขอทานหรือรอคอยโชคลาภวาสนา ในขณะเดียวกันคนไทยชอบสบาย อยากเป็นเจ้าคนนายคน อยากมียศถาบรรดาศักดิ์ รับราชการ มียศมีสีมีเกียรติ แต่มาถึงวันนี้คนจีนร่ำรวยเป็นเจ้าของกิจการมากมาย ส่วนคนไทยจำนวนไม่น้อยกลับกลายมาเป็นลูกจ้างและเป็นลูกหนี้ของคนจีน
มี 5 คำสอน ที่คนจีนสอนลูกหลาน จากเสื่อผืนหมอนใบกลายเป็นเศรษฐี โดยคนจีนมักสอนลูกหลานสืบต่อกันมาว่าให้
" ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน กตัญญู " จึงทำให้สร้างธุรกิจจากเสื่อผืนหมอนใบได้ และมีการสอนข้อห้ามที่ไม่ควรพูด 5 คำ ห้ามพูดคำพวกนี้ จะถือว่าเป็นอัปมงคลคือ
๑. "ยาก" พอพูดคำว่ายาก จะเป็นเสมือนการล็อคความสามารถทันที "ห้ามพูด"
๒. "ทำไม่ได้" จะเป็นการขับไล่ตัว จากสิ่งที่ทำ หรือปิดกั้นการเรียนรู้ "ห้ามพูด"
๓. "ท้อ" เพราะเพียงคำนี้ผุดขึ้น พลังทั้งมวลทั้งร่างกายและจิตใจ จะถดถอยสูญสิ้นลง "ห้ามพูด"
๔. "ขี้เกียจ" ไม่ควรแม้แต่ พูดเล่น เพราะจะทำให้สร้างความไม่รับผิดชอบ "ห้ามพูด"
๕. "เหนื่อย" พอพูดคำนี้ออกมา ร่างกาย ก็จะตอบสนองด้วยการอ่อนแอลงทันที. "ห้ามพูด"
คำเหล่านี้ล้วนเป็นคำที่คนจีนดั้งเดิมเค้าถือ และมักนำมาสั่งสอนคนรุ่นหลัง ๆ ให้ได้รู้ว่าไม่ควรอย่างยิ่ง.
“... รู้สึกเจ็บใจที่ถึงตรุษจีนทีไร เจ๊กปิดร้านขายของหมด หมูก็ไม่มีกิน กับข้าวไม่มีขาย เป็นเพราะคนไทยชอบแต่สบาย ทำราชการ ไม่รู้จักหัดทำมาค้าขายกันแบบเขาบ้าง...”
นี่เป็นคำให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในอดีต ซึ่งได้กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงสภาพของสังคมในยุคสมัยนั้น ว่าการค้าขายแทบทั้งหมดอยู่ในมือของชาวจีนเกือบทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อถึงเทศกาลอันเป็นประเพณีสำคัญของชาวจีน ร้านค้าของชาวจีนทั้งหมดจะหยุดดำเนินกิจการ เป็นเหตุให้เกิดความลำบากโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ซึ่งขึ้นอยู่กับคนจีนเสียส่วนใหญ่
ส่วนคนไทยมักไม่นิยมทำการค้าขายเพราะอุปนิสัยนิยมสบายจึงรับราชการเป็นส่วนใหญ่ซึ่งก็คงจะเป็นแบบนี้ทุกยุคทุกสมัยแม้ในยุคปัจจุบัน.
คนจีนอดทนนิยมค้าขาย คนไทยนิยมสบายสอนลูกหลานรับราชการ
----------------------
ขอขอบคุณผู้เขียนที่ไม่ได้ระบุชื่อ
โฆษณา