12 ก.พ. เวลา 11:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ

โรคสะเก็ดเงิน โรคที่สร้างรายได้ระดับ Top 3 ให้กับบริษัทยาหลายแห่ง

🥇ยาที่สร้างรายได้อันดับ 1 ให้กับ Johnson & Johnson (NYSE : JNJ) บริษัทยาที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 คือ ยา Ustekinumab เป็นยารักษาโรคสะเก็ดเงิน
🥈ยาที่สร้างรายได้อันดับ 2 ให้กับ AbbVie (NYSE : ABBV) บริษัทยาที่ใหญ่อันดับ 5 ของโลก ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 คือยา Rizankizumab เป็นยารักษาโรคสะเก็ดเงิน
🥉ยาที่สร้างรายได้อันดับ 3 ให้กับ Amgen (NASDAQ : AMGN) บริษัทยาที่ใหญ่อันดับ 9 ของโลก ในช่วงเดียวกัน คือยา Apremilast ยารักษาโรคข้ออักเสบจากสะเก็ดเงิน
💊ยาที่ขายดีที่สุดระดับ Top 3 ของบริษัทยาที่มีมูลค่าระดับ Top 10 ของโลก ล้วนเป็นยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคสะเก็ดเงิน..
ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566
🧐 แล้วโรคสะเก็ดเงินคือโรคอะไร ?
🫳 สะเก็ดเงิน หรือ Psoriasis คือ โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ผิวของตัวเอง จนเกิดผื่นแดงนูนหนา แห้ง และคัน ตกสะเก็ดเป็นสีเงิน หรือสีขาว และลอกออกเป็นขุยคล้ายรังแค พบได้ตั้งแต่หนังศีรษะจรดปลายเท้า ตามข้อศอก ลำตัว หัวเข่า เล็บและข้อ
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาได้ แต่จะไม่หายขาด และอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ซึ่งจะเกิดในข้อต่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น ข้อต่อนิ้ว กระดูกสันหลัง
👥 ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนราว 1.5 % ของประชากรโลก ถึงแม้จะเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก แต่เมื่อคำนวณออกมาเป็นตัวเลขแล้ว ก็มีผู้ป่วยโรคนี้อยู่ถึง 125 ล้านคน โดยมีชาวอเมริกันเป็นโรคสะเก็ดเงินอยู่ราว 8 ล้านคน
😈 สาเหตุหลักของโรคสะเก็ดเงิน เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง โดยเซลล์จากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไปทำลายเซลล์ผิวหนังปกติ โดยเข้าใจผิดว่าเซลล์ผิวปกติเป็นแบคทีเรียหรือไวรัสที่รุกรานมาจากภายนอก
จนทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ เกิดการสะสมของเซลล์ผิวหนังทั้งใหม่และเก่า แผ่นหนากลายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบสะเก็ดเงินที่แห้ง ตกสะเก็ด และลอกออกเป็นขุย
😵‍💫 โดยสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน หลัก ๆ มาจาก พันธุกรรม ความเครียด การพักผ่อนน้อย ซึ่งโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ และไม่เกี่ยวกับความสกปรก
แต่ด้วยความที่โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาโรคสะเก็ดเงินจึงเป็นการรักษาให้โรคสงบเพียงเท่านั้น หากมีสิ่งมากระตุ้น โรคก็จะสามารถกำเริบได้อีก ในกรณีที่เป็นผื่นไม่มาก จะรักษาด้วยการใช้ยาทาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการอักเสบ แต่หากมีผื่นหนาและเป็นบริเวณกว้าง จะต้องรักษาโดยใช้ยาทาร่วมกับยากินหรือยาฉีด โดยเฉพาะการใช้ยาชีวภาพ
🧬 ยาชีวภาพ หรือยาในรูปแบบ “โปรตีน” จะเป็นยาอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอย่างโรคสะเก็ดเงิน เช่น ยา Ustekinumab ของบริษัท Johnson & Johnson และยา Rizankinumab ของบริษัท AbbVie
ยาทั้ง 2 ตัว เป็นยาโปรตีนสังเคราะห์เลียนแบบโปรตีนในระบบคุ้มกันของร่างกาย จะออกฤทธิ์ยับยั้งสารจากระบบภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาทำลายเซลล์ผิวหนัง คือ Interluekin 12 และ Interleukin 23 จนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน
🛡️ ยาอีกรูปแบบหนึ่งคือ ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ รวมถึงยับยั้งสาร TNF ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเมื่อเกิดการอักเสบ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบ ซึ่งเกิดร่วมกับโรคสะเก็ดเงิน เช่น ยา Aprelimast ของบริษัท Amgen
🫳 ถึงแม้โรคสะเก็ดเงินจะเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยไม่มากเมื่อเทียบกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ แต่ขึ้นชื่อว่าโรคเรื้อรังแล้ว ก็ย่อมเป็นโรคที่ใช้ระยะเวลานานในการรักษา ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดให้เหล่าบริษัทยา เข้ามาวิจัยและพัฒนายาเพื่อตอบโจทย์ในการรักษาโรคนี้ จนมูลค่าตลาดของยารักษาโรคสะเก็ดเงิน สูงถึง 28,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท
📈 จากการคาดการณ์ของ Fortune Business Insights มูลค่าตลาดของยารักษาโรคสะเก็ดเงินในทุกรูปแบบ จะเพิ่มขึ้นจาก 28,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปสู่ 51,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มปีละ 8.8 %
🔬 ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไป ว่าเหล่าบริษัทยาจะสามารถวิจัยและพัฒนายารักษาโรคสะเก็ดเงินที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินไม่แพ้ยารักษาโรค ก็คือกำลังใจจากคนรอบข้าง และการทำความเข้าใจผู้ป่วย ว่าโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ และไม่เกี่ยวกับความสกปรก เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนรอบข้างได้อย่างเป็นปกติ..
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจ  
ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบ ผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นโดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะ ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความน่าเชื่อถือซึ่งปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือประมาณการต่าง ๆ ที่ปรากฏโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
มูลค่าบริษัท ณ วันที่ 30 มกราคม 2567
 
════════════════════                   
#เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน                   
════════════════════                   
Dime! เปลี่ยนเรื่องเงินให้เป็นเรื่องสนุก เพื่อความสุขอย่างเท่าเทียมของทุกคน                   
บริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Dime! ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ใบอนุญาตเลขที่ ลก-0007-02
ติดตามเราในช่องทางต่าง ๆ ได้ที่                   
Facebook - https://www.facebook.com/dimeinvest                   
Instagram - https://www.instagram.com/dime.finance           
Twitter - https://twitter.com/dimefinance                
TikTok - https://www.tiktok.com/@dime.finance                   
LINE -  https://lin.ee/4W7j4nG                         
#การเงิน #การลงทุน #กองทุน #ตราสารหนี้ #หุ้นอเมริกา #ไดม์ #Dime #Dimeออมได้ลงทุนดี      
-----
โฆษณา