13 ก.พ. เวลา 02:30 • ศิลปะ & ออกแบบ

ภาพ “เต้นรำ” และ ลัทธิโฟวิสม์ (Fauvism) โดย อองรี มาติส

Henri Matisse, Dance (1910)
เหล่านักเต้นเปลือยกายจับมือกันเต้นเป็นวงกลม วาดขึ้นด้วยลายเส้นที่ดูไร้เดียงสา และเรียบง่ายเหมือนลายเส้นของเด็ก นักเต้นเหล่านั้นไม่มีการแสดงออกทางสีหน้า และไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงที่บ่งบอกถึงเพศ มาติสใช้สีเพียงสามสีในภาพนี้ คือ น้ำเงิน เขียว และแดง ซึ่งเป็นสีที่ดูสดจนเหมือนไม่ได้ผสมสีใดเข้าไป ต่างจากการวาดภาพในสมัยนั้นที่เน้นแสงสีหลากหลาย ด้วยเหตุนี้เองทำให้นักวิจารณ์บางคนถึงกับบอกว่าลักษณะการวาดของมาติสนั้นดูหยาบโลน น่ากลัว และป่าเถื่อนเกินไป
Henri Matisse, Dance (1910)
ลักษณะการวาดภาพเช่นนี้คือการวาดภาพแบบ “ลัทธิโฟวิสม์” (Fauvism) ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องการใช้สีสด ใช้คู่สีที่ตัดกันอย่างรุนแรง ด้วยลายเส้นที่เรียบง่ายเพื่อสื่อความหมายทางอารมณ์ แสดงถึงสัญชาตญาณ คำว่า “โฟวิสม์”เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “สัตว์ป่า” เปรียบได้กับการวาดที่ไม่สนใจความสมจริง แต่เน้นไปทางด้านการแสดงอารมณ์รุนแรงเหมือนสัตว์ป่า
การเต้นรำแบบพื้นบ้านเป็นเนื้อหาที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในงานของมาตีส ภาพ “เต้นรำ” ภาพนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากส่วนหนึ่งของผลงาน ความสุขแห่งชีวิต (The Joy of Life, 1906) ของเขา ซึ่งวาดขึ้นหลังจากที่เขาได้เห็นผู้คนกำลังเต้นรำบนชายทะเลทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
Henri Matisse, The Joy of Life (1906) ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Le_Bonheur_de_vivre_Barnes_%2801c%29_-_Flickr_-_rverc.jpg
ภาพ “เต้นรำ” ยังได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดสีน้ำ “Oberon, Titania and Puck with Fairies Dancing, 1786” ของ วิลเลียม เบลค และจากการไปชมภาพ การเต้นรำที่มูแล็งเดอลากาแล็ต (Moulin de la Galette, 1876) ของเรอนัวร์ในกรุงปารีส
William Blake, Oberon, Titania and Puck with Fairies Dancing (1786) ที่มาภาพ: https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Oberon,_Titania_and_Puck_with_Fairies_Dancing._William_Blake._c.1786.jpg
Pierre-Auguste Renoir, Le Moulin de la Galette (1876) ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/snarfel/3249800671
มาตีสได้รับมอบหมายให้วาดภาพ“เต้นรำ”ขึ้นเพื่อตกแต่งผนังขนาดใหญ่ในคฤหาสน์ของพระราชวัง Trubetskoy โดย Sergei Shchukin นักธุรกิจ และผู้อุปถัมภ์ศิลปินชาวรัสเซีย เขาวาดภาพเต้นรำนี้คู่กับภาพ “ดนตรี” (Music, 1910) และได้ติดตั้งผลงานทั้งสองไว้เคียงข้างกัน ภาพ “ดนตรี”เองก็ใช้โทนสีเดียวกันกับภาพเต้นรำ แต่ต่างกันที่อริยาบทของคนในภาพได้เปลี่ยนเป็นการเล่นเครื่องดนตรีแทน พร้อมกันนั้นก็มีผู้ชมนั่งฟังอยู่ด้วย
Henri Matisse, Music (1910) ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/gandalfsgallery/4817249905
เเม้มาติสจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานที่ใช้เทคนิคในการวาดค่อนข้างมาก แต่ตัวเขาเองกลับเลือกที่จะนำเสนอผลงานในแบบของตนเอง มาตีสละทิ้ง "งานฝีมือแบบฝรั่งเศส" โดยสิ้นเชิง เขาไม่สนใจที่จะวาดภาพการเต้นบัลเล่ต์ที่งดงาม แบบเดอกาส์ แต่กลับวาดภาพการเต้นรำแบบพื้นเมืองดั้งเดิมเพื่อหันไปหาศิลปะที่บริสุทธิ์ที่สุด
ภาพ “เต้นรำ” จึงเป็นการสื่อถึงการเชื่อมโยงของการเคลื่อนไหว จังหวะและดนตรี เข้ากับสุนทรียะของลัทธิโฟวิสม์ และแสดงถึงการปลดปล่อยตนเองจากแบบแผนดั้งเดิมของศิลปะตะวันตก เช่นเดียวกับผู้คนที่กำลังเปลือยกายเต้นรำอย่างไม่อายสายตาผู้คน
ทั้งนี้มาตีสเองอาจจะได้รับอิทธิพลจากการประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพซึ่งทำให้บทบาทของศิลปะเปลี่ยนไป ด้วยกล้องถ่ายภาพนั้นสามารถบันทึกภาพได้อย่างละเอียดแม่นยำ ผู้คนจึงหันไปถ่ายภาพพอร์ตเทรตแทนที่จะจ้างให้ศิลปินวาดภาพเหมือนของตน ด้วยเหตุนี้ศิลปินจึงไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นกับรายละเอียด และความสมจริงในการวาดภาพอีกต่อไป เขาจึงหันไปใช้แนวทางศิลปะที่สามารถแสดงอารมณ์ได้โดยตรงแบบที่กล้องถ่ายภาพไม่สามารถทำได้
ภาพเต้นรำ และ ภาพดนตรี ของมาติส ถูกแขวนไว้ในคฤหาสน์อันหรูหราเป็นเวลาหลายปี ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 คฤหาสน์หลังนี้ก็ได้ถูกรื้อค้น และภาพวาดทั้งสองก็หายไปอย่างลึกลับเป็นเวลาหลายปี จนในปี 1930 ภาพวาดเหล่านี้ก็ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง และถูกนำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจในรัสเซียจนถึงทุกวันนี้
-ซับศิลป์-
ที่มา
โฆษณา