13 ก.พ. เวลา 13:21 • การศึกษา

เชือกขาดข้าวเน่า (貫朽粟腐)

ถ้าอยู่ๆ มีคนอวยพรท่านว่า "ขอให้เชือกขาดข้าวเน่า" ท่านจะโกรธไหม
หากว่าจะมีใครอวยพรอย่างนี้ (แม้จะไม่มีใครอวยพรอย่างนี้ก็ตาม) ก็อย่าได้โกรธเลย เพราะเขากำลังหวังดีต่างหาก
เพราะคำว่า เชือกขาดข้าวเน่า (貫朽粟腐) โดยแท้แล้วมีความหมายว่าร่ำรวยมหาศาล หาได้มีความหมายเชิงลบตามรูปศัพท์ไม่
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ต้นสายปลายเหตุนั้นมาจากข้อความในประวัติศาสตร์ที่บรรยายถึงยุคสมัยฮั่นเหวินตี้ (漢文帝) ฮั่นจิ่งตี้ (漢景帝) ที่ปกครองบ้านเมืองโดยวิถีเต๋า คือลดอากรและเกณฑ์แรงงาน ไม่ก่อสงครามกับอริราชศัตรู ฮ่องเต้ไม่ฟุ่มเฟือย ประชาชนก็มัธมัสถ์
ส่วนชาวบ้านที่ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานและล้มตายในสนามรบ จึงมีลูกมีหลานเต็มบ้านเต็มเมือง ผลผลิตจึงมากล้นจนไม่รู้จะทานหมดอย่างไรดี ปรากฏว่านโยบายเหล่านี้ กลับสร้างความมั่งคั่งให้แก่ราชสำนัก จนนักประวัติศาสตร์เรียกยุคสมัยทั้งสองนี้ว่า การปกครองเหวินจิ่ง (文景之治) ทั้งยังได้บรรยายความมั่งคั่งในยุคสมัยเหวินจิ่งเช่นนี้ว่า
"เงินทองวังหลวงสะสมมากมาย เชือกร้อยเงินขาดจนมิอาจนับถ้วน ส่วนข้าวในพระคลังที่ทับซ้อนนั้น ก็มากเหลือจนล้นออกสู่ภายนอก กระทั่งบูดเน่ามิอาจทาน"
京師之錢累巨萬,貫朽而不可校。太倉之粟陳陳相因,充溢露積於外,至腐敗不可食。
ดังนั้น คำสุภาษิตที่ว่า เชือกขาด หมายถึงเชือกร้อยเงินอีแปะขาด ส่วนข้าวเน่านั้น หมายถึงข้าวกองเยอะจนล้นออกนอกคลัง สุดท้ายข้าวก็บูดเน่าจนไม่สามารถทานได้
ดังนั้น สุภาษิตคำว่า เชือกขาดข้าวเน่า จึงหมายถึงร่ำรวยจนสุดพรรณนา
โฆษณา