16 ก.พ. เวลา 06:24 • กีฬา

"ฟิออเรนติน่า" ฉายา ม่วงมหากาฬ ทีมที่จะล่มสลายแต่รอดตายเหลือเชื่อ

รู้หรือไม่ว่า สโมสรฟุตบอลฟิออเรนติน่าของกาเบรียล บาติสตูต้า จริงๆ นั้นตายไปแล้ว แต่กลับฟื้นทะยานขึ้นมาได้เหมือนนกฟีนิกซ์
1
นี่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และทำให้เห็นว่า ทีมที่ยิ่งใหญ่ ถ้าได้คนไม่ดี เข้ามาบริหารก็ล่มจมได้เหมือนกัน
เอซี ฟิออเรนติน่า (AC Fiorentina) คือสโมสรเก่าแก่ของอิตาลี ก่อตั้งมายาวนาน และมีจุดเด่นคือ เสื้อสีม่วงอันสดใส มันเป็นเอกลักษณ์ที่สโมสรอื่นไม่มี พวกเขาใส่เสื้อสีม่วงมาตั้งแต่ปี 1929 จึงได้รับฉายาในประเทศไทยว่า "ทีมม่วงมหากาฬ"
ในปี 1993 เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อประธานสโมสร มาริโอ เช็คคี กอรี่ เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้ลูกชายชื่อ วิตตอริโอ เช็คคี กอรี่ วัย 51 ปี ที่ทำธุรกิจภาพยนตร์ เข้ามารับตำแหน่งประธานต่อจากพ่อ
การมาของวิตตอริโอ เช็คคี เขาเปย์เงินหนักเอาเรื่อง ซื้อนักเตะดังๆ เข้ามาหลายคน เช่น รุย คอสต้า (1994), อันเดร แคนเชลสกี้ (1997), เอ็ดมุนโด้ (1998), เปแดร็ก มิยาโตวิช (1999), เอ็นริโก้ เคียซ่า (1999) ยิ่งมารวมกับ ตัวดังๆ อย่างกาเบรียล บาติสตูต้า ที่ซื้อมาในยุคพ่อ ทำให้ฟิออเรนติน่าเป็นทีมที่ดีขึ้น แกร่งขึ้น
1
สมัยนั้นเป็นช่วงที่แฟนฟิออเรนติน่า เชียร์บอลอย่างมีความสุขมาก พวกเขาได้แชมป์โคปปา อิตาเลีย 2 สมัย และสร้างผลงานมาสเตอร์พีซหลายครั้ง เช่น การบุกไปชนะอาร์เซน่อล ที่เวมบลีย์ 1-0 ในแชมเปี้ยนส์ลีก ปี 1999 จากการยิงประตูแสกหน้าเดวิด ซีแมนของบาติสตูต้า รวมถึง ชัยชนะเหนือแมนฯ ยูไนเต็ด 2-0 ในปีเดียวกัน ทั้งๆ ที่ทีมปีศาจแดงของเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เพิ่งได้แชมป์ยุโรปมาแท้ๆ
1
ฟิออเรนติน่า มีฐานแฟนบอลหนาแน่นมาก คนดูเข้าชมเต็มตลอด แต่ประเด็นคือ พวกเขากลับไม่สามารถต่อยอดได้
1
แฟนบอลสงสัยว่า สโมสรเอาเงินไปทำอะไรหมด ทำไมสนามซ้อมต่างๆ ไม่มีการพัฒนา ระบบอะคาเดมี่ก็ปั้นนักเตะไม่เยอะเหมือนทีมอื่น
สุดท้าย ความจริงก็แดงขึ้นมา ว่าประธานสโมสร วิตตอริโอ เอาเงินรายได้ของสโมสร ยักยอกออกไปทำธุรกิจของตัวเอง
มีการเปิดเผยภายหลังว่า วิตตอริโอ เอาเงินออกจากสโมสร 32 ล้านดอลลาร์ เพื่อเอาไปเป็นทุนสร้างหนัง โดยหนึ่งในนั้น คือเรื่อง Life is Beautiful ที่ได้สามรางวัลออสการ์
นอกจากนั้น วิตตอริโอ พยายามจะสร้างอาณาจักรสื่อขึ้นมา เพื่อเตรียมตัวสร้างฐานที่มั่น สำหรับการเล่นการเมืองในอนาคต
ถ้าฟิออเรนติน่า ฟอร์มดีในสนาม ได้เล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกอย่างต่อเนื่อง อาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาคือ ในปี 2000 ฟิออเรนติน่าจบอันดับ 7 ของตาราง หลุดจากพื้นที่แชมเปี้ยนส์ลีก นั่นทำให้รายได้ของสโมสรร่อยหรอ แถมทุนสำรองก็ถูกถอนออกไปทำธุรกิจอื่นหมดแล้ว
สโมสรอยู่ในภาวะถังแตก ต้องขายตัวหลัก เพื่อความอยู่รอด เช่น บาติสตูต้าและอาเบล บัลโบ้ ไปโรม่า (2000), ยอร์ก ไฮน์ริชไปดอร์ทมุนด์ (2000), ปาสกวาเล่ ปาดาลิโน่ ไปโบโลญญ่า (2000), รุย คอสต้า ไปเอซี มิลาน (2001) และ ฟรานเชสโก้ ตอลโด้ ไปอินเตอร์ (2001)
การเสียนักเตะตัวหลัก และไม่มีเงินซื้อใครทั้งนั้น ทำให้ทีมเละเทะ ในฤดูกาล 2001-02 ฟิออเรนติน่า หมดสภาพอย่างแท้จริง แพ้แทบทุกนัด ต้องมาดิ้นรนหนีตาย
ยิ่งไปกว่านั้น เพราะสโมสรไม่เหลือเงินอีกแล้ว ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะเป็นเวลา 5 เดือนเต็ม รวมถึงไม่มีเงินชำระหนี้สินธนาคารจำนวน 50 ล้านดอลลาร์
1
ฤดูกาล 2001-02 จบลง ฟิออเรนติน่า จบอันดับ 17 ของตาราง ร่วงตกชั้นเรียบร้อย แต่สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ลงโทษซ้ำไปอีก โทษฐานไม่สามารถรักษากฎการเงินได้ และไม่ชำระค่าจ้างผู้เล่น สหพันธ์ฯ จึงไม่อนุญาตให้เล่นเซเรียบีด้วยเช่นกัน
วิตตอริโอโดนตำรวจแจ้งความข้อหาฟอกเงิน และครอบครองโคเคน ชีวิตของเขาตกต่ำมาก จึงตั้งใจจะไม่ทำทีมฟุตบอลอีกต่อไปแล้ว เพราะมันไม่ใช่ธุรกิจที่เขาสนใจแต่แรก
ดังนั้นก็แปลว่า นับจากนี้ สโมสรเอซี ฟิออเรนติน่า จะล่มสลายไปเลย เมืองฟลอเรนซ์จะไม่มีทีมฟุตบอลอีกต่อไป
เมื่อจบฤดูกาล 2001-02 นักเตะทุกคนของเอซี ฟิออเรนติน่า ได้รับอนุญาตจากฟีฟ่าให้ย้ายทีมได้ฟรี เพราะพวกเขาไม่ได้ค่าจ้างจากสโมสร
3
นูโน่ โกเมสย้ายไปเบนฟิก้า, เอ็นริโก้ เคียซ่า ไปลาซิโอ, เปแดรก มิยาโตวิช ไปเลบันเต้ ฯลฯ
เอซี ฟิออเรนติน่า ไม่เหลือนักเตะ ไม่มีโค้ช เพราะไม่มีเงินจ่ายใคร ดังนั้นจึงลงแข่งฟุตบอลไม่ได้อีก ทีมจบสิ้นไปอย่างเงียบๆ
เรื่องนี้ ทำให้แฟนบอลเมืองฟลอเรนซ์ปวดร้าวมาก สโมสรที่พวกเขาคอยตามซัพพอร์ทมาหลายสิบปี อยู่ๆ ก็หายไปดื้อๆ ทุกคนเคว้งคว้างหมดไม่รู้จะเอายังไงต่อ
อย่างไรก็ตาม เมืองที่มีแพสชั่นในฟุตบอลอย่างแรงกล้า ไม่มีทางปล่อยให้ทุกอย่างจบสิ้นลงไปอย่างนี้
ลีโอนาร์โด้ โดเมนิซี่ นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ ตัดสินใจสร้างสโมสรแห่งใหม่ขึ้นมา และโดยแจ้งสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ว่าคนเมืองฟลอเรนซ์ ไม่ควรต้องแยกทางกับฟุตบอล เพียงเพราะการกระทำของอาชญากรเพียงคนเดียว ดังนั้นจึงขอสร้างทีมใหม่ เพื่อลงเล่นในฐานะตัวแทนของเมืองฟลอเรนซ์
สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีอนุญาต นั่นทำให้ในฤดูกาล 2002-03 "ทีมใหม่" จะได้เริ่มต้นในระดับต่ำสุดของฟุตบอลอาชีพ นั่นคือ เซเรีย ซี2 หรือระดับดิวิชั่น 4 นั่นเอง
แต่สหพันธ์มีเงื่อนไขคือ สโมสรใหม่ ห้ามใช้ชื่อว่า "เอซี ฟิออเรนติน่า" และ "สีม่วง" เพราะทางทฤษฎี ทีมเดิมของวิตตอริโอ ยังไม่ได้ยุบ ยังถือครองชื่อนั้นอยู่ ถ้ามาใช้ชื่อหรือสีเดียวกัน มันจะทำให้เกิดความสับสนได้
นั่นทำให้นายกเทศมนตรีโดเมนิซี่ ต้องใช้ชื่อสโมสรใหม่ว่า "ฟลอเรนเทีย วิโอล่า" ส่วนเสื้อก็เลือกใช้สีขาวเป็นเสื้อทีมเหย้า แต่มีขลิบสีม่วงเล็กน้อยที่แขนเสื้อเท่านั้น
จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการหานักเตะ ด้วยความที่เป็นสโมสรตั้งใหม่ และอยู่ในดิวิชั่น 4 ย่อมไม่มีสตาร์คนไหนอยากมาเล่นด้วย
ดังนั้นฟลอเรนเทีย วิโอล่า ต้องนับหนึ่งใหม่แต่แรก โดยไปควานหานักเตะช้างเผือกในท้องถิ่น หรือ ปั้นเด็กอะคาเดมี่ขึ้นมา
นักเตะจากทีมฟิออเรนติน่าเดิม ที่ย้ายมาเล่นกับ ฟลอเรนเทีย วิโอล่า มีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น คืออังเจโล่ ดิ ลิวิโอ ดาวเตะทีมชาติอิตาลี โดยเขากล่าวว่า "Io resto qui" (ผมจะอยู่ที่นี่ต่อ) คือยอมลดค่าเหนื่อยจากเดิม 80% เพื่อให้ได้เล่นในเมืองฟลอเรนซ์ต่อไป
นี่เป็นเหตุการณ์คลาสสิค ที่ทำให้แฟนบอลรู้สึกประทับใจว่า มีนักเตะสักคนเหมือนกันนะ ที่พร้อมจะล่มหัวจมท้าย ยอมปฏิเสธสโมสรอื่น ทั้งๆ ที่การันตีว่าจะได้ค่าเหนื่อยแพงๆ แน่ๆ แต่พร้อมลงสู้ด้วยกันต่อ ในระดับดิวิชั่น 4
แน่นอน การยอมถอยลงไปเล่นในดิวิชั่น 4 แปลว่า ดิ ลิวิโอ ยอมทิ้งโอกาสจากทีมชาติ นับจากเขาเลือกเล่นในลีกล่าง ก็ไม่เคยถูกเรียกตัวติดทีมชาติอิตาลีอีกเลยแม้แต่นัดเดียว
สำหรับแฟนบอล ก็เปลี่ยนจากเอซี ฟิออเรนติน่า มาเชียร์ ฟลอเรนเทีย วิโอล่ากันยกเมือง ทุกคนก็ผิดหวังที่ต้องนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ดิวิชั่น 4 แต่มันก็ไม่มีทางเลือกแล้ว
ฤดูกาล 2002-03 เริ่มต้นขึ้น สิ่งที่ฟลอเรนเทีย วิโอล่า ได้เปรียบกว่าทีมอื่นๆ ในดิวิชั่น 4 อย่างมาก คือ "จำนวนแฟนบอล" ตามปกติลีกรองแบบนี้ มีกองเชียร์ถึง 1 พันคนก็เก่งแล้ว แต่ฟลอเรนเทีย วิโอล่า มีคนเข้ามาดูเกม ขั้นต่ำคือ 30,000 คน คือก็เป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์เดิม ที่ปกติเชียร์ เอซี ฟิออเรนติน่า นั่นแหละ แถมใช้สนามอาร์เตมิโอ ฟรังคี่ เหมือนเอซี ฟิออเรนติน่า อีกต่างหาก เพราะก็เช่าสภาเมืองเหมือนกัน
1
นอกจากนั้น พอเริ่มฤดูกาลใหม่ได้ไม่นาน นายกเทศมนตรี ขายสโมสรต่อให้กับ ดีเอโก้ เดลล่า วัลเล่ นักธุรกิจเจ้าของรองเท้าแบรนด์ Tod's ซึ่งพอมีเจ้าของใหม่ที่พอจะมีทุน ทำให้สโมสรก็มีงบประมาณพอสมควร ไปดึงพวกนักเตะจากเซเรียบี มาเสริมทัพได้ จนสภาพทีมโดยรวมแกร่งกว่าคู่แข่งร่วมลีก
และเพียงแค่ 1 ฤดูกาลเท่านั้น ฟลอเรนเทีย วิโอล่า ก็เลื่อนชั้นจากเซเรีย ซี 2 ได้สำเร็จ ขึ้นมาสู่ เซเรีย ซี 1 หรือ ระดับดิวิชั่น 3
แต่ฟลอเรนเทีย วิโอล่า โชคดีสองเด้ง เพราะสโมสรในเซเรีย บี ชื่อ โคเซนซ่า โดนไล่ออกจากลีก ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี เชิญฟลอเรนเทีย วิโอล่า พาสชั้น จากเซเรีย ซี 1 (ดิวิชั่น 3) ขึ้นมาเซเรีย บี (ดิวิชั่น 2) เลย เพราะที่อิตาลีจะมีระบบชื่อ "Sporting Merit" คือถ้ามีทีมไหนถูกยุบ หรือไล่ออกจากลีก กะทันหัน จนมีสล็อตว่าง จะพิจารณาทีมเก่าแก่ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ให้เลื่อนชั้นก่อน
ก่อนเริ่มฤดูกาล 2003-04 เดลล่า วัลเล่ ติดต่อไปที่สโมสรเดิม เอซี ฟิออเรนติน่า ยื่นเงินขอซื้อ สิทธิ์การใช้ชื่อคำว่าฟิออเรนติน่า, ตราสโมสรเดิม และ สีม่วง
เจ้าของเดิม วิตตอริโอ ตอนนี้ก็ไม่เอาอะไรแล้ว แค่เอาตัวรอดยังลำบาก จึงยอมขายสิทธิ์การใช้ชื่อ และโลโก้ทั้งหมด ให้กับฟลอเรนเทีย วิโอล่า
1
ซัมเมอร์ปี 2003 ฟลอเรนเทีย วิโอล่า จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ เอซีเอฟ ฟิออเรนติน่า (ACF Fiorentina) ส่วนสี และโลโก้ ก็กลับมาใช้ของเดิมทั้งหมด
ดังนั้นถ้าพูดกันในเชิงกฎหมาย เอซี ฟิออเรนติน่า ของวิตตอริโอ กับ เอซีเอฟ ฟิออเรนติน่า ของเดลล่า วัลเล่ คือคนละทีมกัน
แต่ในทางวัฒนธรรม และความรู้สึก ทุกคนจะรวมกันไปเลยว่าคือทีมเดียวกัน นี่คือสโมสรฟิออเรนติน่านั่นแหละ
เข้าสู่ฤดูกาล 2003-04 ฟิออเรนติน่า ลงแข่งขันเซเรีย บี และจบอันดับ 6 ของตารางคะแนน ได้สิทธิ์เพลย์ออฟ ไปเจอกับทีมอันดับ 15 ของเซเรีย อา นั่นคือเปรูจา
1
เลกแรก ฟิออเรนติน่า บุกไปชนะเปรูจา 1-0 จากนั้นเลกสองกลับมาเล่นที่อาร์เตมิโอ ฟรังคี่ มีแฟนบอล 45,000 คนเข้ามาเต็มสนาม หนึ่งในนั้นคือบาติสตูต้า ที่มาเชียร์ทีมเก่าด้วย และสรุปคือ ฟิออเรนติน่ายันเสมอ 1-1 รวมผลสองนัดชนะ 2-1 เลื่อนชั้นไปเล่นเซเรีย อา ได้สำเร็จ
แปลว่าหลังจากร่วงตกชั้นไปเล่นดิวิชั่น 4 ในปี 2002 ฟิออเรนติน่าใช้เวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น ในการคัมแบ็กกลับมาสู่เซเรีย อา
สำหรับอังเจโล่ ดิ ลิวิโอ หลังจากพาทีมเลื่อนชั้นมาเล่นเซเรีย อาได้ เขาก็อยู่กับทีมอีก 1 ปี ก็ประกาศแขวนสตั๊ด ทำให้เจ้าตัวก็ยังเป็นที่รักของแฟนๆ จนถึงวันนี้
สถานการณ์ต่อจากนั้น วิตตอริโอ เช็คคี่ กอรี่ ติดคุก 8 ปี ข้อหาฟอกเงิน ส่วนฟิออเรนติน่าหลังจากคัมแบ็กมาสู่ลีกสูงสุด ก็ไม่เคยร่วงตกชั้นจากเซเรีย อา อีกเลยแม้แต่หนเดียว
ปัจจุบัน เดลล่า วัลเล่ ขายสโมสรฟิออเรนติน่า ให้กับร็อคโค่ คอมมิสโซ่ นักธุรกิจจากอเมริกันเรียบร้อยแล้ว สโมสรเองก็ถือว่าเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างมั่นคง ความสำเร็จก็พอได้ลุ้น มีเข้าชิงคอนเฟอเรนซ์ลีกไปหนึ่งที เอาเป็นว่า ไม่ได้หวือหวาร่ำรวย แต่ก็อยู่ห่างไกลจากความเสี่ยงที่จะล้มละลาย
นี่คือเรื่องราวของทีม "ม่วงมหากาฬ" ฟิออเรนติน่า ที่เหมือนจะตายไปแล้ว ใกล้จะล่มสลายไปแล้ว แต่เอาตัวรอด และได้อยู่ต่อในสารบบของฟุตบอลอิตาลี
ชาวเมืองฟลอเรนซ์ ไม่ยอมให้ทีมล่มสลาย ก่อสร้างทีมใหม่ขึ้นมาคู่ขนานกับทีมที่ล่มไปแล้ว จากนั้นแฟนๆ ก็เข้ามาดูในสนามอย่างแน่นขนัดแม้จะเป็นบอลระดับดิวิชั่น 4 ก็ตาม เพื่อช่วยกันซัพพอร์ททีมในยามที่ตกต่ำที่สุด จนทีมกลับมาได้
กรณีของฟิออเรนติน่า เป็นหลักฐานที่ดีว่า สโมสรใดๆ ก็ตาม แม้จะอยู่มาเกือบร้อยปี ก็อาจจะเกิดวิกฤติได้ทั้งนั้น แต่มันจะอยู่รอดต่อไปได้ ถ้าได้รับการสนับสนุนที่ดีจากประชาชน
สัจธรรมของทีมฟุตบอล ถ้าหากคุณครองใจชาวบ้านไม่ได้ ไม่ใช่แค่ม่วงมหากาฬ จะเป็นสโมสรไหน ใช้สีอะไร ก็มีสิทธิ์ล่มสลายได้เสมอ
#VIOLETPOWER
โฆษณา