17 ก.พ. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Private Equity สินทรัพย์ทางเลือกในการลงทุน

Private Equity (PE) หมายถึงรูปแบบการลงทุนคล้ายกองทุนที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในหมู่นักลงทุนสถาบัน
หากแปลตรงตัว คำว่า Private Equity หมายถึงหุ้นในบริษัทจำกัดที่ไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนสามารถถือครองได้ ตรงข้ามกับคำว่า Public Equity หรือหุ้นในบริษัทมหาชนจำกัดที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์ แต่ในแวดวงลงทุน คำว่า Private Equity (ย่อว่า PE) หมายถึงรูปแบบการลงทุนคล้ายกองทุนที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะในหมู่นักลงทุนสถาบัน อย่างเช่น กองทุนบำนาญ บริษัทประกัน ไปจนถึงผู้มีฐานะ (High Net Worth Investors) และกงสี (Family Office)
บริษัทจำกัดมีทางเลือกในการระดมทุนจำกัด
เมื่อพูดถึงพอร์ตการลงทุนของคนทั่วไป ก็มักนึกถึงสินทรัพย์สองหมวดหลัก ได้แก่ตราสารทุน (Equity) เช่น หุ้นสามัญ และตราสารหนี้ (Fixed Income Securities) เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ แต่อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities)
อย่างเช่น น้ำมัน ผลิตผลเกษตร โลหะมีค่า ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถค้าขายได้ หรือเป็นปัจจัยการผลิต ไปจนถึงตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) อย่างเช่น สัญญาฟิวเจอร์ สัญญาออปชัน เพราะการลงทุนคือการนำความมั่งคัั่งที่มีในปัจจุบันแลกกับความมั่งคั่งในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรายได้หรือการเพิ่มมูลค่าของการลงทุน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไม่สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเพราะมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอหรือไม่มีความเชี่ยวชาญ (กองทุนหรือกองทรัสต์เกิดขึ้นเพราะเหตุผลนี้) หรือไม่สามารถเข้าถึงได้
ยกตัวอย่างเช่น หุ้นสามัญของบริษัทที่ประชาชนไทยเข้าถึงได้นั้น เป็นเพียงส่วนเดียวของบริษัททั้งหมดในประเทศไทยเท่านั้น แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะต้องการขายหุ้นสามัญให้ประชาชนทั่วไป
แต่บริษัทที่ประสงค์ขายหุ้นเพิ่มทุนก็ไม่สามารถทำได้โดยอิสระ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1102 ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น” และมาตรา 1222 ก็ระบุว่า “บรรดาหุ้นที่ออกใหม่นั้น ต้องเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลาย ตามส่วนจำนวนหุ้นซึ่งเขาถืออยู่” ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถซื้อหุ้นในบริษัทจำกัด (Company Limited) เหล่านั้นได้
แม้ว่าบริษัทจะกลายสภาพเป็นบริษัท มหาชน จำกัด (Public Company Limited) และเสนอขายหุ้นออกใหม่ให้ประชาชนทั่วไปได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 137 ใน พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ 2535 การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในวงกว้าง ยังต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และหากต้องการให้หุ้นสามัญซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังต้องทำตามหลักเกณฑ์ของตลท. และต้องมีกระบวนการกำกับหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีความชัดเจน โปร่งใสอีกด้วย
วัตถุประสงค์ของข้อจำกัดเหล่านี้ คือเพื่อคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยจากบริษัทที่ไม่ดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เมื่อระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นเพราะความหละหลวมในการดำเนินงาน เพราะนักลงทุนขาดการติดตามดูแล หรือเพราะตั้งใจฉ้อโกงหลอกลวงนักลงทุนจนทำให้เกิดความเสียหาย หากบริษัทไม่มีคุณสมบัติที่เพียงพอก็ไม่ควรได้รับโอกาสให้ระดมทุนจากประชาชนได้ในวงกว้าง
ตัวอย่างของคุณสมบัติที่พึงประสงค์ ได้แก่ ประวัติการดำเนินงานที่ผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง มีกรรมการผู้บริหารและผู้ที่มีอำนาจควบคุมที่เหมาะสม มีระบบการกำกับดูแลกิจการและควบคุมภายในที่ดี ไม่มีความขัดแยังทางผลประโยชน์ เปิดเผยข้อมูลที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อขายหรือมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์ อย่างเพียงพอ เท่าเทียม ทั่วถึง และภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และรับรองโดยผู้สอบบัญชีที่เชื่อถือได้ เป็นต้น
หากเปรียบการขายหุ้นเพิ่มทุนกับการขายอาหาร การทำอาหารขายคนที่คุ้นเคยกันในวงจำกัด ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากรับประทานแล้วไม่สบาย ก็สามารถติดต่อพูดคุยสอบถามสาเหตุหรือเยียวยากันได้เอง
แต่หากขายในวงกว้าง ผู้ปรุงอาหารและผู้บริโภคไม่ได้พบกันได้โดยง่าย และในบางครั้ง อาจมีผู้จัดจำหน่ายอยู่ระหว่างกลางอีกด้วย ทำให้ระยะทางระหว่างกันยิ่งไกลขึ้นอีก การขออนุญาตและประทับตรา อย. ก็เป็นเครื่องมือลดความกังวลให้ผู้บริโภคได้ดี และหากเปิดเผยข้อมูลวัตถุดิบและส่วนผสมอย่างเพียงพอ ก็สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มากขึ้นด้วย
ด้วยเหตุนี้ หุ้นสามัญที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้างจึงมีข้อจำกัดคล้ายกับการขายอาหารในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองนักลงทุนเหล่านี้ ก็เป็นการ “จำกัด” โอกาสในการระดมทุนของ “บริษัทจำกัด” ไปด้วยเช่นกัน
กองทุน Private Equity ลงทุนในบริษัทจำกัด
ความหมายกว้างๆ ของคำว่า “กองทุน” คือการนำทุนมากองรวมกันเพื่อให้มีเม็ดเงินมากขึ้น สามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย ไม่กระจุกตัวในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้สามารถลดความเสี่ยงผ่านการกระจายลงทุน (Diversification) ได้ เหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง (Risk-Averse) ต้องการผลตอบแทนสูงสุดภายในความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้
หากนำทุนไปซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี ก็เรียกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) หากซื้อหุ้นสามัญในหลักทรัพย์จดทะเบียนใน ตลท. (Listed Companies) ก็เรียกว่ากองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) หากซื้ออสังหาริมทรัพย์ ก็เรียกว่ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) เป็นต้น
และหากผู้ลงทุนสามารถไถ่ถอนเงินลงทุนได้อย่างอิสระ ก็เรียกว่ากองทุนเปิด (Open-Ended Fund) เหมาะกับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง หากกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องอยู่จนครบอายุกองทุน ก็เรียกว่ากองทุนปิด (Closed-Ended Fund) เหมาะกับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ
บริษัทจำกัดไม่สามารถระดมทุนจากประชาชนในวงกว้างได้เพราะยังขาดคุณสมบัติ ประกอบกับมีทางเลือกอื่นในการระดมทุนน้อย หากไม่มีหลักประกันก็กู้ยืมได้ยาก และเมื่อขนาดการลงทุน (Ticket Size) เล็กเมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนทำให้ต้นทุนในการให้บริการสูง ทำให้ต้นทุนเงินทุนสูงไปด้วย การเข้าถึงเงินลงทุนจึงเป็นอุปสรรคสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
แต่หากรวบรวมเงินลงทุนจากผู้คนจำนวนมากแล้วร่วมลงทุนในชื่อเดียว ก็ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว ทำให้เสมือนสามารถระดมทุนได้จากผู้คนจำนวนมากแม้ยังเป็นบริษัทจำกัด หากผู้บริหารกองทุนมีความรู้ความสามารถในการเข้าใจศักยภาพของกิจการ มีแรงจูงใจในการติดตามทวงถามผลประโยชน์ของตน พร้อมที่จะลงทุนในบริษัทจำกัดศักยภาพสูง ก็สามารถกระทำการแทนเจ้าของเงินทุนได้
และหากผู้บริหารกองทุนมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ หรือทรัพยากรที่สามารถช่วยให้บริษัทที่รับเงินทุนสามารถเติบโตได้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ยิ่งมีเหตุผลให้เจ้าของบริษัทเหล่านั้นยอมขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับกองทุน
อย่างเช่นบริษัท LINE MAN Wongnai แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่โดดเด่นในด้านบริการขนส่ง และการบริหารร้านอาหารร้านค้า ก็รับเงินลงทุนจาก GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์และกองทุน BRV Capital Management รวมถึงบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท Taiwan Mobile ด้วย นอกจากจะได้รับเงินลงทุนจากการขายหุ้นเพิ่มทุนแล้ว บริษัท LINE MAN Wongnai ก็ยังได้พันธมิตรที่ลงเรือลำเดียวกัน มีแรงจูงใจในการช่วยบริษัทให้ประสบความสำเร็จมากกว่าพันธมิตรธุรกิจในรูปแบบอื่นที่อาจไม่ผูกพันกันมากเท่า
กองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (โดยมากมักเป็นบริษัทจำกัด) จึงมักเรียกว่ากองทุน Private Equity (PE) เป็นสินทรัพย์ทางเลือกสำหรับนักลงทุนบางกลุ่ม (จะกล่าวถึงในบทความถัดไป) และเนื่องจากกองทุน PE เป็นทั้งแหล่งเงินทุนทางเลือกให้กับเจ้าของบริษัท และสามารถมีส่วนร่วมในการเพิ่มศักยภาพของกิจการด้วย จึงทำให้กองทุน PE มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
บทความห้องเรียนบริษัทจดทะเบียน
สรุปและเรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.คณิสร์ แสงโชติ
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โฆษณา