19 ก.พ. เวลา 10:40 • อสังหาริมทรัพย์

ทรงกับทรุด! วิกฤตอสังหาฯ ยังต้องรอยาแรง

ทิศทางตลาดบ้านไทย ปี 2567 มีแค่ ‘ทรง’ กับ ‘ทรุด’
ผลพวงจากปัจจัยลบปี 2566 ที่ดูเหมือนนโยบายจะสวนทางกับการปฏิบัติ เพราะขณะที่รัฐพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คนซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับดำเนินมาตรการสวนทาง กลายเป็นลดทอนกำลังซื้อ
ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการปล่อยสินเชื่อแอลทีวี หรือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้งในรอบปีแบบถี่ยิบ แถมธนาคารพาณิชย์ที่อิ่มเอมกับการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตามดอกเบี้ยนโยบาย ก็ไม่ยอมปล่อยกู้ให้กับตลาดล่างที่กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท เพราะอ้างว่าหนี้ครัวเรือนสูงแล้ว ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงจึงทำให้กำลังซื้อภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงแบบฮวบ ๆ ส่งผลไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมที่เติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ภาพรวมอสังหาฯ ปี 2566 พบว่าจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ลดลงจากปีก่อน 6.6% โดยพบยอดที่สถาบันการเงินปฏิเสธการให้กู้ยืมรวม 50% และคอนโดมิเนียมบางโครงการพบยอดสูงถึง 75-80% ส่งผลให้คอนโดราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท มียอดคงค้างการขาย (ขายไม่ได้) 50% ของทั้งตลาด
สำหรับการคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ไทยในปี 2567 เชื่อว่าราคาอสังหาฯ จะเพิ่มขึ้น 5-10% เป็นผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ และการพุ่งขึ้นของราคาที่ดินในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ภาคอสังหาฯ ไทยในปีนี้รอดไปได้ กูรูทั้งหลายในภาคอสังหาฯ มองว่า รัฐต้องออกแรงดันให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถไปต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยเงินกู้ ผ่อนปรยมาตรการแอลทีวี การให้ซอฟต์โลน (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษ) รวมไปถึงมาตการที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพ อย่างเช่น Easy E-Receipt
นอกจากนี้หากมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ มาเสริมอย่างการท่องเที่ยวฟื้นตัว หรือนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น และภาคเอกชนขยายการลงทุนก็จะช่วยได้มาก
แต่ถ้ารัฐยังไม่รีบออกแรง ปล่อยไปตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติเพียงอย่างเดียว ภาคอสังหาฯ ปีนี้ก็อาจจะสาหัสกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์, ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย, DDproperty
โฆษณา