19 ก.พ. เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

'Kakeibo' สูตรจัดการเงินแบบทางสายกลางจากญี่ปุ่น

หลักคิดใช้เงินแบบมีสติ อยู่กับปัจจุบัน 'ใช้จ่ายให้ดี ออมให้ดี มีชีวิตที่ดี'
เรื่องการเงินสำหรับหลายๆ คนคือปัญหาเกี่ยวกับเรื่องตัวเลข ประหนึ่งปัญหาคณิตศาสตร์ บวก ลบ คูณ​ หาร ออกมาเป็นลบเป็นบวก
เริ่มจากรายรับที่เข้ามาแต่ละเดือนเท่าไหร่ จ่ายหนี้ตรงนั้น ค่าน้ำ ค่าไฟ เก็บอีกสักหน่อย ที่เหลือก็เฉลี่ยๆ ให้ชีวิตอยู่รอดไปจนถึงเดือนต่อไป เอาตัวเลขไปใส่ตาราง Excel จบแค่นั้น
มันไม่ได้ผิด เพียงแต่เราทุกคนก็น่าจะทราบดีว่าเรื่องการเงินเป็นปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับปัจจัยทางจิตวิทยาและอารมณ์ของเราอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน (อยากแนะนำหนังสือ “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” ตรงนี้ด้วยครับ)
เงินที่เขามามีจำกัด ชีวิตที่สิ่งที่อยากได้และสิ่งที่จำเป็นอยู่เสมอ ทุกวันเราต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกในการใช้เงินที่หามาได้อยู่ตลอด
ควรไปกินข้าวนอกบ้านไหมอาทิตย์นี้หรือทำอาหารทานที่บ้าน? เสื้อผ้าในตู้มีที่เก่าๆ จนควรจะบริจาคแล้วรึเปล่า ต้องซื้อใหม่ไหม? รถต้องมีเอาเข้าศูนย์เมื่อไหร่กัน หรือเราเก็บเงินไว้ซื้อประกันสุขภาพเพิ่มดีไหมนะ บางทีควรไปตรวจสุขภาพดีกว่า?
นี่ยังไม่นับความท้าทายเรื่องเงินก้อนสำหรับการเกษียณ เก็บเงินซื้อบ้าน ออมเงินเพื่อส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย ฯลฯ
เงินที่เข้ามาดูแล้วยังไงก็ค่อนข้างตึงมือ และที่สำคัญคือทุกช่วงจังหวะของชีวิต มุมมองว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือสิ่งไหนที่อยากได้ก็มีเปลี่ยนไปได้อยู่เสมอด้วย
พอเริ่มเครียด สมองโหลดตัน คิดไม่ออก คนส่วนใหญ่จะกลายเป็นหนึ่งในสองขั้วสุดโต่ง หนึ่งคือเครียดจนไม่สนใจอะไรแล้ว ใช้เงินโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ปล่อยจอยทิ้ง หรือสองคือจัดการเงินทุกสตางค์ที่เข้ามาจนเหมือนใช้ชีวิตอยู่บนหน้าสมุดจดรายรับรายจ่าย
มันจะดีกว่ามากถ้าเราสามารถหาจดสมดุลย์ตรงกลางระหว่างความสุดขั้วนี้ได้ และวิธีการหนึ่งในการเดินทางสายกลางแบบนี้คือการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Kakeibo (คะเคโบะ) วิถีจัดการเงินแบบญี่ปุ่นที่ถือกำเนิดตั้งแต่ 120 ปีก่อน
2
คะเคโบะช่วยให้มองผ่านเปลือกนอกของเรื่องการเงินเข้าไปถึงแก่นของมันว่าการเงินคืออะไรและจัดการกับมันยังไง ไม่เพียงแต่แสดงเห็นว่าเรากำลังทำอะไร แต่เราสามารถใช้จ่ายให้ดี ออมให้ดี ท้ายที่สุดมีชีวิตที่ดีได้ยังไงด้วย
1
[[#การอยู่กับปัจจุบันขณะ]]
คะเคโบะ ถือกำเนิดในปี 1904 โดย ฮานิ โมโกโตะ (Hani Mokoto) นักข่าวหญิงคนแรกของญี่ปุ่น และต่อมาเป็นผู้จัดพิมพ์นิตยสารรายเดือนของผู้หญิง
โมโกโตะต้องการช่วยเหลือผู้หญิงในสมัยนั้นซึ่งปกติแล้วต้องใช้ชีวิตด้วยเงินที่ค่อนข้างจำกัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตและการออม
ด้วยเหตุนี้เองเธอจึงสร้างระบบการจัดทำงบการเงินที่ผสมผสานประโยชน์ใช้สอย ความเรียบง่าย และความมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะเข้าด้วยกันด้วย
แม้แต่ชื่อ “คะเคโบะ” เองก็มีความเรียบง่ายอยู่ในนั้น เป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า "สมุดบัญชีครัวเรือน"
1
แนวคิดเบื้องหลัง คะเคโบะ เริ่มต้นจากการมีสติอยู่กับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ก่อนที่จะเปิดสมุดบัญชีขึ้นมาด้วยซ้ำ เริ่มจากการถามเพื่อสะท้อนตัวเอง 4 ข้อ
1. เรามีรายได้เข้ามาเดือนละเท่าไหร่?
2. เราต้องการออมเงินเท่าไหร่?
3. ตอนนี้เราใช้เงินเท่าไหร่?
4. มีส่วนไหนที่เราอยากทำให้ดีขึ้น?
พอลล่า แพนต์ (Paula Pant) นักเขียนและผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเงินบอกว่า คำถามเหล่านี้ไม่เพียงสร้างเป้าหมายทางการเงินเท่านั้น แต่มันคือกระบวนการคิดที่จะมองถึงปัจจัยพื้นฐานที่เรียกว่า “First Principle Thinking” ที่พิจารณาว่าสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตของเราจริงๆ คืออะไรกันแน่และเราจะสามารถเก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านั้นในชีวิตได้อย่างไร
เป็นการตระหนักว่าเงินเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกให้กับชีวิต ไม่ใช่แค่การมานั่งวางแผนและคิดกลยุทธ์เพื่อควบคุมมันเท่านั้น
2
แพนต์ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ BigThink ว่าสิ่งที่เราต้องทำอย่างแรกเลยคือยอมรับความจริงพื้นฐานข้อหนึ่งที่ว่าเราสามารถซื้อได้เกือบทุกอย่างตราบใดที่วางแผนและเก็บออมเพื่อสิ่งนั้น แต่เราไม่สามารถซื้อทุกอย่าง
3
“คุณไม่สามารถมี ‘และ’ แบบไม่รู้จบได้ คุณอาจจะไม่สามารถมีอันนั้นและอันนั้นและอันนั้นและอันนั้น และนั่นไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น มันใช้กับเรื่องเวลา โฟกัส พลังงาน ความใส่ใจ ทรัพยากรที่จำกัดทุกอย่าง และชีวิตคือทรัพยากรที่จำกัดที่สุดแล้ว
เพราะฉะนั้นเมื่อเราฝึกที่จะจัดการเงินได้ดีขึ้น คุณจะฝึกจัดการชีวิตของคุณได้ดีขึ้นไปด้วย”
ฮารูมิ มารุยามะ (Harumi Maruyama) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคอนเซปต์ของคะเคโบะก็แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเธอบอกกับเว็บไซต์ BBC ว่า
“เงินไม่ได้ไม่มีข้อจำกัด มันมีข้อจำกัด มันขึ้นอยู่กับคุณว่าจะออมมันไว้หรือจะเสียมันไป”
[[#4_หมวดหมู่ของคะเคโบะ]]
1
หลังจากที่ทราบแล้วว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะยอมรับความจริงและมีภาพที่ชัดเจนขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเรื่องของตัวเลขแล้วครับ
1
ช่วงต้นเดือนของทุกเดือน คำนวณเงินที่จะได้เข้ามา แล้วลบค่าใช้จ่ายประจำ (ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต และค่าใช้จ่ายหนี้ต่างๆ) ที่เหลือคือเงินที่เราสามารถใช้และเก็บออมได้ในแต่ละเดือน
ทีนี้หลังจากที่หักเงินส่วนที่ออมออกไปแล้ว ทุกครั้งที่คุณใช้จ่ายอะไร ให้เขียนลงไปในสมุดบันทึก โดยเขียนติดไปด้วยว่าเป็นหมวดหมู่ไหนใน 4 หมวดนี้
- จำเป็น (Essentials) : ค่าน้ำมันรถ ค่าสบู่ แชมพู​ อาหารเข้าบ้าน
- ไม่จำเป็น (Non-Essentials) : เสื้อผ้าแฟชั่น กินข้าวนอกบ้าน ไปนวดผ่อนคลาย
- ศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาตัวเอง (Culture) : หนังสือ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เรียนเสริมออนไลน์ บริจาคเพื่อการกุศล
- รายจ่ายที่ไม่คาดคิด (Unexpected) : ไปหาหมอ, ค่าซ่อมรถ, ของขวัญให้เพื่อน, หลานเพื่อนบวช, น้องในออฟฟิศแต่งงาน
3
ทำไมเราต้องทำแบบนี้? การจัดหมวดหมู่แบบยิบย่อยมากเกินไปเช่นหมวดหมู่อาหารเข้าบ้าน กินข้าวนอกบ้าน ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมรถ ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือ ค่าของขวัญ ฯลฯ สุดท้ายแล้วจะสร้างความสับสนโดยไม่จำเป็น
3
การทำเป็น 4 หมวดใหญ่แบบนี้ช่วยทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของชีวิตมากขึ้น เช่นรองเท้าใหม่ซื้อเพราะอยากได้ก็อยู่ในหมวด “ไม่จำเป็น” ถ้าเราต้องใช้เงินเพื่อการทำงานเช่นค่ารถไฟฟ้าก็ไปอยู่ในหมวด “จำเป็น” เมื่อมองเห็นภาพใหญ่ เราจะดูได้ว่าเราใช้เงินยังไง ไม่ใช่แค่เพียงใช้เงินกับอะไร
คนที่ใช้เทคนิคการเงินแบบคะเคโบะแนะนำให้ใช้สมุดและปากกาเพื่อจด แทนที่จะเป็นการพิมพ์ใส่มือถือหรือคอมพิวเตอร์ เพราะมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าการเขียนด้วยมือนั่นจะทำให้จดจำข้อมูลได้ดีกว่าและมีสายสัมพันธ์กับสิ่งที่เขียนดีกว่า
แต่การใช้โปรแกรมอย่าง Excel ก็มีข้อดีเช่นกัน สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่าย ทำกราฟรายงานและแสดงผลได้ดีกว่าด้วย เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วไม่ว่าจะใช้แบบไหนก็น่าจะได้ประโยชน์ไม่ต่างกันนัก ตราบใดที่ทำอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอทุกวัน
พอถึงสิ้นเดือนเราจะมานั่งรีวิวการเงินของตัวเองกัน ดูว่าแต่ละหมวดเราใช้เงินไปเท่าไหร่ เงินที่หักเพื่อเก็บออมได้ตามที่ใจไหม แล้วก็ไปเทียบกับเป้าหมายที่วางเอาไว้ให้กับตัวเอง
- เก็บเงินได้เยอะเท่าที่ต้องการไหม?
- ของที่ซื้อในหมวดไม่จำเป็นมีอะไรที่ตัดได้บ้างไหม?
- หมวดจำเป็นมีอะไรที่ควรย้ายไปเป็นรายจ่ายประจำรึเปล่า?
- รายจ่ายที่คาดไม่ถึงสามารถป้องกันได้ไหมในอนาคต?
ถ้าเราทำได้ตามเป้าการเก็บออมที่วางไว้ก็เป็นเรื่องดี ถ้าไม่ได้เดี๋ยวเดือนหน้าเอาใหม่
เพราะนี่คือเป้าหมายของตัวเองไม่ต้องไปแข่งกับใคร ไม่ต้องอายถ้าทำไม่สำเร็จ ไม่ได้แต้มเพิ่มในชีวิต ไม่ได้เหรียญทอง แต่เราสามารถใช้ข้อมูลจากสมุดบัญชีจดรายจ่ายของเรามาทำให้ดีขึ้นได้ ความผิดพลาดเป็นบทเรียนที่จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นในเดือนถัดไป
บางทีคุณอาจจะต้องตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกบ้าง หรือกลับกันบางทีเป้าหมายการเก็บเงินของคุณเยอะไปจนทำให้ตึงเครียดไปหมด ก็อาจจะหย่อนบาง ลดเป้าลงสักหน่อย อาจจะเงินส่วนนี้ไปจ่ายในหมวดไม่จำเป็น (เช่นไปนวดผ่อนคลาย) ให้เครียดน้อยลงก็ได้
ไม่ว่าข้อมูลที่ได้มานั้นบ่งบอกเราว่ายังไง เราก็กลับไปยังคำถาม 4 ข้อในตอนเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ นอกจากสุขภาพการเงินที่ดีขึ้นแล้ว มีงานวิจัยยังบอกอีกว่าการติดตามรายรับรายจ่ายแบบนี้เป็นประจำช่วยสร้างความมั่นใจและลดความเครียดลงซึ่งทำช่วยทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ด้วย
[[#จุดสมดุลทางการเงิน]]
ภายใต้พื้นฐานของ คะเคโบะ คือปรัชญาชีวิตที่เรียกว่า ‘นาโงมิ’ (Nagomi) แม้จะไม่มีคำแปลแบบตรงตัว แต่หัวใจก็คือความสงบนิ่ง สมดุล และยั่งยืน และเราจะนำคุณลักษณะเหล่านี้มาใช้กับชีวิตของเรายังไง
1
เคน โมงิ ผู้เขียนหนังสือ ‘Nagomi’ บอกว่า “นาโงมิไม่ใช่การหาทางลัดเพื่อจะไปสู่ความสุข ความสำเร็จ หรือความมั่งคั่ง แต่เป็นการทำความเข้าใจและยกระดับด้านดีและด้านบวกของชีวิตของเรา เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นกับเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
คะเคโบะเองก็มีความคล้ายคลึงกันในจุดนี้เกี่ยวกับเรื่องการเงิน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงมีหมวดหมู่ที่สาม (Culture) ที่ชี้ให้เห็นว่าชีวิตเราไม่ควรถูกมัดเป็นโซ่ตรวนกับเรื่องการเงินเท่านั้น แต่เป็นการมองว่าเงินคือทรัพยากรอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถเติบโต เรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายในชีวิตได้
1
ตั้งแต่คะเคโบะถือกำเนิดขึ้นมา มันมีเวอร์ชันที่แตกต่างกันออกไปมากมายตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา โมเดลที่ถูกนำเสนอในบทความนี้เป็นเพียงวิธีหนึ่งเท่านั้น
เราสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับความต้องการของตัวเองได้ อาจจะเพิ่มหมวดหมู่การลงทุนเป็นหมวดที่ 5 หรือบางทีคุณรักการดูหนังมาก เดือนหนึ่งไปดูที่โรงไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง แบบนี้อาจจะแยกเป็นหมวดของตัวเองได้เช่นกัน ตราบใดที่มันยังตอบโจทย์ชีวิตพื้นฐาน 4 ข้อที่วางไว้ในตอนแรก
การใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจแก่นของการเงินไม่เพียงแต่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงหลุมพรางของการเก็บเงินทุกบาทจนไม่มีความสุข แต่มันสร้างกำลังใจทำให้การจัดการเงินรู้สึกว่าไม่ยากเกินไปนัก วิถีคะเคโบะคือทางสายกลางที่จะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น มีชีวิตที่มีความหมายขึ้นในเวลานี้ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถออมเงินไว้สำหรับอนาคตได้ด้วย
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#สูตรการเงิน #Kakeibo #วิธีจัดการเงิน #การเงินส่วนบุคคล #personalfinance
โฆษณา