Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Movie Series มานี่จะรีวิว
•
ติดตาม
20 ก.พ. 2024 เวลา 17:10 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Avatar ร่างใหม่ ใจคงเดิม
Avatar เป็นภาพยนตร์แนว Science Fiction , Fantasy ที่ออกฉายครั้งแรกในปี 2009 จากฝีมือผู้กำกับ James Cameron เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อโลกกำลังมาถึงจุดหายนะ
มนุษยชาติจึงต้องการทรัพยากรจากดาวเคราะห์ดวงอื่นอย่าง Pandora ภารกิจของ “เจค ซัลลี” อดีตนาวิกโยธินจึงเริ่มต้นขึ้น เขาเข้าไปในร่าง avatar แทนพี่ชายของตัวเองที่เสียชีวิตไปและได้รับมอบหมายให้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับชนเผ่านาวาต้า เพื่อซื้อใจและเอาข้อมูลมาให้มนุษย์ แต่เมื่อเขาได้พบกับเนธีรี ชนเผ่าบนดาวดวงนั้น ความคิดของเขาก็ค่อยๆเริ่มเปลี่ยนไป ก่อตัวเป็นความรัก ที่ต้องแลกมากับเผ่าพันธุ์
หลังออกฉาย Avatar เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ด้วยความอลังการของเทคโนโลยี 3D ที่ล้ำสมัยในยุคนั้น ที่สามารถทำได้สมจริงและสวยงาม จนดึงความสนใจของผู้ชมได้อยู่หมัด แต่นอกจากด้านฟอร์มของหนังที่สวยงามมากๆแล้ว Avatar ยังเป็นภาพยนตร์ที่มีการสอดแทรกประเด็นทางสังคมหลายประเด็นที่สามารถวิจารณ์ภายใต้กรอบ Structuralism ได้ทั้งความต่างทางวัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย ความเชื่อ หรือวิถีชีวิต แต่ประเด็นที่เราจะหยิบยกมาวิจารณ์คือทฤษฎี Marxist Criticism หรือทุนนิยมและชนชั้น
ประเด็นนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะเรื่องทั้งหมดเริ่มจากการที่มนุษย์ต้องการแร่ธาตุใต้ดินของดาวแพนโดรา ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน โดยไม่ได้สนใจถึงผลลัพธ์และความเสียหายภาพรวม หรือแม้แต่ไม่ได้สนว่าใครจะได้รับความเดือดร้อนจากการทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงปัญหาของทุนนิยมที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างจากฉากที่ตัวละคร Parker Selfridge นักธุรกิจหนุ่มผู้บงการโครงการ พูดว่า “การฆ่าชาวพื้นเมืองมันดูแย่ แต่สิ่งที่ผู้ถือหุ้นเกลียดมากกว่าข่าวลบ ก็คือผลประกอบการที่ห่วยแตก” หรือฉากที่บอกว่า “ต้นไม้ศักด์สิทธิ์ก็เป็นแค่เพียงต้นไม้ต้นหนึ่ง” ที่สามารถทำเงินให้ตนได้ ซึ่งทั้งสองฉากนี้แสดงให้เห็นว่านายทุนมองว่าอำนาจของเงินเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด
หนำซ้ำยังตอกย้ำเรื่องของชนชั้นในสังคมด้วยบริบทของหนังที่แทนมนุษย์โลกด้วยคำว่า “คนจากฟ้า” ในขณะที่มนุษย์เรียกชาวนาวีว่า “ไอ้พวกคนป่า” ซึ่งเป็นการแบ่งแยกชนชั้น รวมถึงใช้ตัวละคร เจค ซัลลี เป็นภาพแทนของคนตัวเล็กไร้อำนาจ ที่ถูกกดขี่เป็นเบี้ยล่าง
อย่างฉากตอนเริ่มเรื่องที่เล่าถึงความพิการของเจค จะมีการกล่าวว่า “หมอรักษาไขสันหลังให้ได้ ถ้าคุณมีเงิน แต่ไม่ใช่ด้วยเบี้ยหวัดทหารในเศรษฐกิจแบบนี้” ทำให้เห็นว่าอาชีพทหารที่มีความเสี่ยง แต่รายได้ที่ได้กลับมากลับไม่พอเลี้ยงชีพ และแม้เขาจะพิการ แต่ก็ยังต้องเป็นชนชั้นแรงงานทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับเงินไปเลี้ยงชีพในโลกที่มีระบบทุนนิยมและชนชั้นนี้อยู่ดี
และด้วยระบบทุนนิยมนี้เอง ที่ส่งผลให้เกิดการล่าพื้นที่และทรัพยากรบนดาวแพนโดรา อันสอดคล้องกับทฤษฎี Colonialism หรือการล่าอาณานิคม ที่เป็นสารหลักของเรื่องอย่างชัดเจน แสดงออกผ่านการกระทำของมนุษย์โลกที่เป็นผู้ล่าอาณานิคม และชาวนาวี เป็นเจ้าของอาณานิคมเดิม โดยเริ่มแรกมนุษย์ใช้วิธีหยิบยื่นความเจริญ แลกกับการย้ายถิ่นฐานโดยมองว่าชนพื้นถิ่นเป็นผู้ไร้ความเจริญอย่างบทพูดที่ว่า “มนุษย์จะยื่นข้อเสนอทั้ง ถนน ยา และการศึกษาไปให้”
แต่เมื่อไม่สำเร็จก็เริ่มส่งเจคเข้าไปเพื่อสืบหาข้อมูลเลียนแบบวิถีชีวิตคนพื้นเมือง แทรกแซงเพื่อให้ชาวนาวีเชื่อใจและหาจุดอ่อน นำไปสู่การทำส่งครามแย่งพื้นที่ด้วยความรุนแรง ทั้งการใช้แก๊สน้ำตา ยิงไฟ และใช้ความรุนแรง จนสุดท้ายชนพื้นเมืองก็ต้องอพยพออกจากพื้นที่ของตน กลายเป็นคนไร้ถิ่นฐาน อยู่ในสวาวะพลัดพรากจากแผ่นดินเกิด และแม้จะได้พื้นที่บริเวณนั้นไป มนุษย์ก็ยังไม่หยุดที่จะทำลายเผ่าพันธุ์ชาวนาวี โดยการจะทิ้งระเบิดและทำลายรากฐานทั้งหมด
ในช่วงนี้นอกจากจะแสดงออกถึงสงครามการล่าอาณานิคมแล้ว ยังมีการกล่าวถึงเรื่องของเชลยศึกอีกด้วย ซึ่งสะท้อนถึงการล่าอาณานิคมจริงที่มีเกิดขึ้นบนโลก และสุดท้ายด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวนาวี พวกเขาก็สามารถเอาเอกราชของตัวเองกลับคืนมา และขับไล่ผู้ล่าอาณานิคมไปได้ ดังฉากตอนท้ายที่ชาวนาวีส่งมนุษย์กลับโลกและพูดว่า “พวกต่างดาวกลับไปยังโลกใกล้ตายของตน”
นอกจากแนวคิดด้านสังคมที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Avatar แล้ว อีกสิ่งที่แฝงอยู่อย่างน่าสนใจคือแนวคิดของผู้กำกับ และผู้เขียนบทอย่าง James Cameron หากมองอย่างผิวเผินก็อาจจะคิดว่า Avatar เป็นภาพยนตร์ที่หลุดจากกรอบการกำกับเดิมๆ แต่เมื่อศึกษาและวิเคราะห์ลงไปด้วยทฤษฎี Auteur Criticism แล้วจะพบว่าผลงาน Block Buster ทุกชิ้นของ James Cameron จะมีจุดเด่นมากๆคือการเป็นนักสำรวจ
ด้วยความที่เขาเติบโตมาในแคนาดาเมืองที่อยู่กับป่าไม้ และธรรมชาติ รวมถึงความชอบในสารคดี ทำให้มุมมองของภาพยนตร์ของเขาจะให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ อย่างใน Avatar ก็เหมือนเรากำลังได้ศึกษาทุกซอกทุกมุมของดาวแพนโดรา เช่นเดียวกับไททานิค ที่เราก็เหมือนได้เห็นทุกมุมของเรือเช่นเดียวกัน ต่อมาคือการใส่ประเด็นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ที่ทำลายขีดจำกัดของมนุษย์
อย่างในอวตารก็เป็นเรื่องของเทคโนโลยีจากโลก ที่ล้ำสมัยจนไปทำลายธรรมชาติของดาวแพนโดรา ซึ่งเป็นแนวความคิดเดียวกับหุ่นเหล็กไหลใน Terminator ที่เป็นอันตรายต่อโลก ซึ่งจุดร่วมของภาพยนตร์สองเรื่องนี้ รวมถึงผลงานการกำกับอื่นๆ คือภัยเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการที่เทคโนโลยีทำเอง แต่เป็นฝีมือของมนุษย์ที่สร้างเทคโนโลยีขึ้นมานลจนสุดท้ายก็กลับมาเป็นภัย
อีกสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของผลงาน James Cameron คือความล้ำสมัยที่อยู่บนพื้นฐานของมนุษย์ แม้ภาพยนตร์ของเขาจะดูเกินจริง มีเอฟเฟคอลังการ แต่ก็จะแฝงด้วยนัยยะที่มนุษย์เข้าใจได้ง่าย อย่างการแทรกความรักลงในเรื่องอวตารและไททานิค หรือทำให้เอเลี่ยนในภาพยนตร์ Aliens และหุ่นเหล็กไหล ใน Terminator มีเลือดเนื้อและวิวัฒนาการคล้ายมนุษย์
และสุดท้ายคือการแฝงเรื่องราวของการรักธรรมชาติที่เป็นนัยยะส่วนตัวลงไปใน Avatar ด้วยพื้นฐานที่รักธรรมชาติของตัวเอง เขาเลยตั้งใจสร้างดาวแพนโดรา ให้เทียบเคียงกับโลก ทั้งสัตว์ สภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ ภาษา และสร้างตัวละครที่มาจากความฝันของแม่ จนกลายมาเป็นชาวนาวี เพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและภัยจากมนุษย์นั่นเอง
ถึงภาพจะสวย และสอดแทรกด้วยประเด็นที่สะท้อนสังคมมากมาย Avatar ก็ยังมีจุดที่เรายังไม่ค่อยประทับใจนั่นก็คือด้านการดำเนินเรื่องในบางช่วง อย่างตอนที่เจคเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตที่ดาวแพนโดรากับเนทีรี
ตรงจุดนี้ภาพยนตร์ตัดฉากหลายๆฉากมาต่อกันไวๆให้เราได้รู้ถึงวิวัฒนาการของตัวละคร แต่ไม่ค่อยได้ใส่ช่วงเวลาที่ตัวละครเริ่มมีความรู้สึกดีๆต่อกัน พอรู้ตัวอีกที เจคและเนทีรีก็เริ่มรักกันแล้ว ทำให้เราไม่ค่อยอินกับบริบทความรักที่เกิดขึ้น ยิ่งพอตัวละครเจคเลือกจะเปลี่ยนฝั่งมาช่วยชาวนาวี แรงจูงใจของตัวละครมันเลยไม่หนักแน่นเท่าที่ควร เพราะเราไม่ได้รู้ภูมิหลังอย่างละเอียด เราจึงมองว่าถ้าภาพยนตร์เพิ่มจุดเริ่มต้นความรัก หรือใส่ฉากของเจคและเนทีรีเข้ามาเพิ่ม อาจจะทำให้เราอินกับบริบท และเข้าใจตัวละครมากกว่านี้
แต่โดยภาพรวม Avatar ก็ยังเป็นหนังอีกเรื่องที่ดีขึ้นหิ้งสำหรับเรา ด้วยโปรดักชั่น สารหลักของเรื่องที่ส่งให้ผู้ชมเข้าใจได้อย่างชัดเจนไม่หลุดประเด็น ทั้งการสะท้อนสังคมทั้งทุนนิยมชนชั้น และการล่าอาณานิคม นอกจากนี้ความละเอียดด้านข้อมูลบท การสร้างโลกใหม่ขึ้นมาและทำให้เราเหมือนได้เข้าไปในโลกนั้นจริงๆ ก็ยังคงเป็นความรู้สึกประทับใจ ดูกี่รอบก็ยังรู้สึกทันสมัยและไม่เก่า จนยังไม่มีหนังเรื่องไหนลบล้างได้สำหรับเรา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย