23 ก.พ. เวลา 05:46 • ประวัติศาสตร์

เมืองเพชรบุรีในพุทธศตวรรษที่ ๑๘

หลังจากสมัยทวารวดีผ่านไป ฐานะการเป็นเมืองท่าภายในของเมืองคูบัว ก็เปลี่ยนศูนย์กลางไปอยู่ที่เมืองราชบุรี ในระยะเดียวกันราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก็เกิดเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองท่าภายในศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ทั้งเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรที่สำคัญ เช่น เกลือ ไม้หอม ไม้ฝาง สะดวกและเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นกว่าชุมชนสถานีการค้าที่ชะอำ
และจากนั้นเพชรบุรีถือเป็นนครประวัติศาสตร์ที่มีการอยู่อาศัยสืบเนื่องตลอดมา คล้ายกับเมืองโบราณอีกหลายแห่งที่ไม่เกิดการทิ้งร้างไป อาจจะด้วยถิ่นฐานที่ตั้งและสภาพแวดล้อมซึ่งยังคงความสำคัญและอุดมสมบูรณ์จนทำให้เกิดการสืบเนื่องของกลุ่มคนกลุ่มเก่าและใหม่ผสมผสานกันมาโดยตลอด เมืองเพชรบุรีที่มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี ปัจจุบันไม่คงเหลือสภาพแต่อย่างใด
คูเมืองและกำแพงเมืองที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเกือบจะด้านเท่า ความยาวของแนวคูเมืองกำแพงเมืองแต่ละด้านประมาณ ๑,๒๐๐ เมตร และ ๑,๓๐๐ เมตร ซึ่งเป็นขอบเขตของเมืองที่ค่อนข้างใหญ่และใช้แม่น้ำเพชรบุรีเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกแต่ก็มีแนวคันดินและแนวกำแพงเมืองและประตูเมืองมาแต่เดิม ลักษณะเป็นเมืองอกแตก เพราะขยายตัวไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันตกจากแถบเขาวังมาบรรจบกับลำน้ำเพชรและวัดสำคัญเช่น วัดมหาธาตุและวัดอื่นๆ ของเมืองกระจายตัวอยู่ริมฝั่งนี้
เมืองเพชรบุรีได้อาศัยลำน้ำเพชรบุรีเป็นคูเมืองและเป็นบริเวณหน้าเมืองที่มีประตูออกสู่ท้องน้ำ ทำให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้คนสัญจรไปมาตามลำน้ำจากอำเภอบ้านลาดผ่านเมืองไปทางเหนือเพื่อออกทะเลที่อ่าวบางตะบูนและอ่าวบ้านแหลม
ในบริเวณกำแพงเมืองก็มีวัดสำคัญที่มีพัฒนาการมาแต่สมัยทวารวดีและลพบุรีได้แก่ วัดพริบพรี และวัดกำแพงแลง ในขณะที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นวัดศูนย์กลางของพิธีกรรมของบ้านเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและวัดกำแพงแลง รวมไปถึงความเก่าแก่ของบริเวณวัดพริบพรี กำหนดได้ว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ร่วมสมัยกับรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๙ แห่งเขมร
มีศูนย์กลางทางความเชื่อขนาดใหญ่อยู่ที่วัดกำแพงแลง และต่อมามีพัฒนาการกลายเป็นเมืองระดับนคร และมีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่อยู่ภายในเช่น สุโขทัย แพรกศรีราชา สุพรรณภูมิ ราชบุรี และบ้านเมืองทางแถบคาบสมุทรที่นครศรีธรรมราช ซึ่งปรากฏเนื้อความอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และจารึกวัดเขากบ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการติดต่อกับบ้านเมืองโพ้นทะเล ดังเราพบในเอกสารจดหมายเหตุจากราชสำนักจีน อีกทั้งในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชที่กล่าวถึงการติดต่อกับราชสำนักจีนไว้โดยสอดคล้องกัน
โดยบันทึกจากราชสำนักจีนช่วงเวลานั้นได้กล่าวถึงบ้านเมืองขนาดใหญ่สองแห่งที่แยกกันส่งเครื่องราชบรรณาการตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๘๓๕ - พ.ศ.๑๘๖๕ คือ เสียน และหลอหู ซึ่งเป็นรัฐอยู่ในเขตภาคกลางของดินแดนประเทศไทย ในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวนก็กล่าวว่าสุโขทัยส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ราชสำนักจีนในปี พ.ศ. ๑๘๔๒ อีกแห่งหนึ่ง โดยเขียนถึง เพชรบุรี ว่า กัมรเตง ที่เป็นเจ้าเมือง ปี๋ฉาปู้หรี่ น่าจะคือเพชรบุรีส่งทูตถวายเครื่องราชบรรณาการในปี พ.ศ. ๑๘๓๗
สำหรับหลอหูไม่มีปัญหาว่าคือละโว้ ศูนย์กลางคือลพบุรี ส่วนเสียนนั้นมีความพยายามสันนิษฐานกันว่าศูนย์กลางอยู่ที่ใด เสียนเป็นคำเดียวกับคำว่าเสียมหรือสยาม นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า สุโขทัยคือศูนย์กลางของรัฐเสียน แต่อาจารย์ศรีศักรให้ความเห็นว่าน่าจะอยู่ที่สุพรรณภูมิ เพราะในช่วงนั้นราว พ.ศ. ๑๘๔๐ จดหมายเหตุของโจวต๋ากวานกล่าวถึง เสียนหลอหู แสดงว่าบ้านเมืองทั้งสองแห่งที่แยกกันได้รวมเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ซึ่งพ้องกับตำนานและสภาพการของบ้านเมืองในภูมิภาคตะวันตกในลุ่มท่าจีนและแม่กลอง
ในเวลาใกล้เคียงกัน ทางราชสำหนักหยวนยอมรับทูตจากกัมรเตงแห่งเพชรบุรี และจัดเพชรบุรีอยู่ในประเภท เฉิง หรือ นคร แต่ไม่จัดเป็นประเภท กว๋อ หรือ รัฐ หรือ ประเทศ และยอมรับทูตจากสุโขทัย รวมถึงทูตจากเสียนและหลอหูด้วย
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น นคร หรือ รัฐ ก็สามารถส่งทูตไปสู่ราชสำนักจีนได้ หากมีศักยภาพเพียงพอ เช่น มีเรือสำเภา มีความชำนาญ หรือมีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่เป็นเมืองท่า โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการบังคับบัญชาหรือมีอำนาจแบบรวมศูนย์เท่านั้น และทางการจีนก็ยอมรับสภาพของบ้านเมืองที่ประกอบไปด้วยบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ กันของภูมิภาคนี้
พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ ช่วงเวลานี้ยังเป็นปัญหาของนักวิชาการส่วนใหญ่ ในอดีตจึงมักกล่าวอย่างสรุปๆ ว่าคนไทยที่อาณาจักรสุโขทัยถูกกลุ่มราชวงศ์อู่ทองเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจมาเป็นอาณาจักรอยุธยาแทนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓-๙๔ ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ต้องอาศัยตำนานต่างๆ ประกอบการอธิบายอย่างมาก และเพชรบุรีนับเป็นเมืองที่มีส่วนร่วมสำคัญแห่งหนึ่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางของรัฐแห่งใหม่
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเรื่องเล่าที่มีผู้จดบันทึกไว้ภายหลัง กล่าวถึงเมืองเพชรบุรีว่าเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองนครศรีธรรมราชและมีกษัตริย์ปกครอง ทางฝ่ายเมืองนครฯ คือพญาศรีธรรมาโศกราช ฝ่ายเมืองเพชรบุรีคือพระเจ้าอู่ทอง ภายหลังมีปัญหาเรื่องเขตแดนรบกันไม่แพ้ไม่ชนะจึงตกลงทำสัญญาแบ่งเขตและเป็นไมตรีต่อกัน ทั้งฝากฝังเครือญาติและแลกเปลี่ยนทรัพยากร โดยเฉพาะฝ่ายเมืองนครฯ ขอเกลือจากเมืองเพชรบุรี แต่หลังจากนั้นเมืองนครฯ จึงร้างเป็นป่าเป็นดง
ต่อมาพระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราชกษัตริย์ เจ้านายซึ่งมีเชื้อสายกษัตริย์จากอโยธยามาตั้งบ้านเมืองริมสมุทรที่นครเพชรบุรี แล้วสร้างชุมชนทำนาเกลือ อีกทั้งทำนาอยู่ที่บางสะพาน ต่อมาได้ติดต่อค้าขายกับสำเภาจากราชสำนักจีนซึ่งซื้อไม้ฝางกลับไป
เหตุการณ์ในตำนานพ้องกับจดหมายเหตุจีน ที่เมืองเพชรบุรีส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักหยวน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๗
จะเห็นว่าทรัพยากรที่สำคัญของเมืองเพชรบุรีนั้นคือเกลือรวมไปถึงไม้ฝาง ทั้งมีพื้นที่ทำนาปลูกข้าว และเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลที่เป็นศูนย์กลางทั้งการเดินเรือเลียบชายฝั่งและเส้นทางข้ามคาบสมุทร
พื้นฐานเหล่านี้เพียงพอจะทำให้เพชรบุรีเป็นนครสำคัญแห่งหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
Official Web : https://siamdesa.org
โฆษณา