24 ก.พ. เวลา 06:14 • การศึกษา

การดำเนินคดีอาญาน่ารู้ : บิดามารดามีสิทธิดำเนินคดีอาญาแทนผู้เยาว์หรือไม่ อย่างไร Part 1

เมื่อมีการกระทำผิดทางอาญาเกิดขึ้น และมีบุคคลที่ตกอยู่ในฐานะผู้เสียหาย บุคคลที่ตกอยู่ในฐานะผู้เสียหาย ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่กระทำความผิดต่อตนได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ หรือการนำคดีอาญาไปฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง ภายใต้หลักประการหนึ่งที่ว่า
สิทธิในการดำเนินคดีอาญา เป็นสิทธิของผู้เสียหายแต่ละคน
อย่างไรก้ดี หากบุคคลที่ตกกลายเป็นผู้เสียหาย ยังเป็นเพียงผู้เยาว์อยู่ ผู้เยาว์จะมีสิทธิดำเนินคดีอาญาเหมือนกับผู้ใหญ่หรือไม่นั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) ได้บัญญัติไว้ว่า
บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
จากบทบัญญัติข้างต้นได้วางหลักการสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินคดีในกรณีที่ผู้เยาว์ตกเป็นผู้เสียหายไว้ว่า ให้ "ผู้แทนโดยชอบธรรม" เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาแทนผู้เสียหาย
ข้อพิจารณาต่อมาคือ แล้ว "ผู้แทนโดยชอบธรรม" คือใคร
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ขอแยกลักษณะของผู้แทนโดยชอบธรรมออกเป็น 2 กรณี คือ
  • 1.
    ผู้ใช้อำนาจปกครอง และ
  • 2.
    ผู้ปกครอง
ผู้ใช้อำนาจปกครอง คือ บุคคลที่ใกล้ชิดผูกพันกับตัวของผู้เยาว์มากที่สุด บุคคลนั้นก็คือ บิดาและมารดาของผู้เยาว์นั่นเอง ขณะที่ผู้ปกครอง คือ บุคคลอื่นใดที่ไม่ใช่บิดามารดาของผู้เยาว์ เช่นอาจจะเป็น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือบุคคลอื่นใดที่ได้ให้การอุปการะผู้เยาว์ก็ได้ โดยมีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งว่า บุคคลที่จะเป็นผู้ปกครองได้จะต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลแต่งตั้งตนเป็นผู้ปกครองเสียก่อน
ย้อนกลับไปถึงผู้ใช้อำนาจปกครอง ซึ่งก็คือ บิดาและมารดานั้น ว่า บุคคลทั้งสอง จะสามารถดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ เพียงใด
ในเบื้องต้น ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า เด็กทุกคนที่เกิดมาย่อมจะมีบิดาและมารดาอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่า สถานะของบิดาและมารดานั้น จะเป็นบิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งความชอบด้วยกฎหมายของบิดาและมารดาจะเป็นตัวกำหนดถึงสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแทนบุตรผู้เยาว์ของตนด้วยเช่นกัน
ให้เข้าใจหลักการเบื้องต้นก่อนว่า บิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่จะมีสิทธิดำเนินดคีอาญาแทนบุตรผู้เยาว์ (หมายเหตุ - อย่าสับสนกับคำว่า บุพการีตามที่ปัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2) ซึ่งจะมีความหมายและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน)
ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงฝ่ายมารดาก่อน เพื่อจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายกว่า ซึ่งกฎหมายได้วางหลักให้เด็กที่เกิดมาทุกคนจะมีมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเสมอ ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 ที่บัญญัติว่า
เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎฆหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า ไม่ว่าฝ่ายหญิงจะได้มีการจดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชายหรือไม่ เด็กที่เกิดมาก็จะมีฝ่ายหญิงเป็นมารดาของเด็กที่ตนได้ให้กำเนิดมาอย่างแน่นอน โดยจะไม่นำเงื่อนไขว่า ชายหญิงมีการจดทะเบียนสมรสหรือไม่ หรือชายหญิงคู่นี้เป็นสาีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มาเป็นข้อผู้กมัด ทั้งนี้ก็เพื่อที่ว่า อย่างน้อย เด็กที่เกิดมา ก็จะมีฝ่ายมารดาเป็นผู้ที่จะสามารถใช้สิทธิใดๆแทนผู้เยาว์ได้
เช่น ด.ญ. ฟ้า อายุ 14 ปี ถูกนายโฉดกระทำชำเรา โดยมีนายแก้วและนางสาวแหวนเป็นบิดาและมารดาของ ด.ญ. ฟ้า แต่ทั้งสองมิได้จดทะเบียนสมรสกัน
จากข้อเท็จจริงข้างต้น นางสาวแหวน สามารถดำเนินคดีอาญาข้อหากระทำชำเราแทน ด.ญ. ฟ้า ได้ ด้วยเหตุที่ ด.ญ. ฟ้า เป็นผุ้เยาว์ และนางสาวแหวนที่ฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ในฐานะที่นางสาวแหวนเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่นายแก้ว แม้จะเป็นบิดาที่ให้กำเนิด ด.ญ. ฟ้า ก็ตาม แต่เมื่อตนกับนางสาวแหวนมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ผลลัพท์ที่ตามมาคือ นอกจาก นายแก้วและนางสาวแหวนจะไม่เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายกันเแล้ว นายแก้วก็จะไม่มีฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ในฐานะที่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย ซึ่งผลที่ตามมาในเรื่องนี้คือ นายแก้วจะไม่มีสิทธิดำเนินคดีอาญาแทน ด.ญ. ฟ้านั่นเอง (นายแก้ว ไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของ ด.ญ. ฟ้า และ ด.ญ. ฟ้า ก็ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายแก้ว เช่นกัน)
ประเด็นที่น่าคิดตามมาคือ หากเคสแบบนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง สมมติปรากฎว่า มีหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้นางสาวแหวนไม่สามารถดำเนินคดีอาญาแทน ด.ญ. ฟ้าได้ (เช่น นางสาวแหวน ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต) เราจะมีแนวทางให้นายแก้วในฐานะบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดำเนินคดีอาญาแทนได้หรืออย่างไร
ประเด็นปํญหาข้างต้น เราจะมาหาคำตอบกันในบทความหน้าครับ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : www.bsru.ac.th
เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
เว็บไซต์สาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
โฆษณา