24 ก.พ. เวลา 09:41 • การศึกษา

การดำเนินคดีอาญาน่ารู้ : บิดามารดามีสิทธิดำเนินคดีอาญาแทนผู้เยาว์หรือไม่ อย่างไร Part 2

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึงสิทธิของบิดามารดาว่าจะมีสิทธิดำเนินคดีอาญาแทนผู้เยาว์ได้หรือไม่ เพียงใด โดยในบทความที่แล้ว ได้กล่าวถึงสิทธิของมารดาในการดำเนินคดีอาญาแทนผู้เยาว์ กล่าวโดยสรุปคือ มารดาจะมีฐานะเป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเสมอ ไม่ว่ามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสการบิดาหรือไม่ อันส่งผลให้มารดาสามารถดำเนินคดีอาญาแทนบุตรผู้เยาว์ได้ทุกกรณี
ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยู่ที่สถานะของบิดาของบุตรผู้เยาว์ว่าจะสามารถดำเนินคดีอาญาแทนบุตรอยู่เยาว์หรือไม่่ ในที่นี้ จะขอแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และ บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หากกล่าวโดยสรุปในเบื้องต้น บิดาที่จะดำเนินคดีอาญาแทนบุตรผู้เยาว์ได้จะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
ปัญหาที่ตามมาคือ หากเราไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หากบุตรผู้เยาว์ของเราตกเป็นผู้เสียหาย เราในฐานะที่เป็นพ่อแท้ๆ เพียงแต่ไม่ใช่พ่อตามกฎหมาย ก็จะไม่สามารถดำเนินคดีแทนบุตรผู้เยาว์เลยยังงั้นหรือ???
หากตอบแบบทันทีทันใดเลย ก็ต้องตอบว่า "ใช่"...
อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่าน อาจมีความรู้สึกขึ้นมาในใจว่า กฎหมายไม่ยุติธรรม ?
บางคนอาจคิดว่า เป็นพ่อลูกกันแท้ๆ แค่ไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายตัดสิทธิแบบนี้เลย ในทางกลับกัน บางคนเป็นพ่อลูกชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับปล่อยปะละเลยลูก ไม่สนใจใยดี กลับมีสิทธิดีกว่า
แต่อย่างให้เข้าใจประการหนึ่งว่า
บิดาตามกฎหมาย (บิดาโดยนิตินัย)
กับ
บิดาตามความเป็นจริง (บิดาโดยพฤตินัย)
ไม่เหมือนกน
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ คงต้องมองว่า กฎหมายต้องการให้สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันหลักและเป็นสถานบันขั้นพื้นฐานทางสังคม ควรต้องมีความชัดเจน แน่นอน และถูกต้องตามกฎหมายด้วย เพราะหากไม่มีกระบวนการทางกฎหมายที่จะสามารถพิสูจน์หรือแสดงถึงสถานะของบุคคลในครอบครัว (เช่น สถานะของบุคคล ผู้ใดคือบิดา ผู้ใดคือมารดา) ก็อาจจะเกิดปัญหาที่วุ่นวายตามมาในอนาคต
ซึ่งกฎหมายก็เห็นถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรผู้เยาว์ดังกล่าว กฎหมายจึงได้กำหนดแนวทางให้บิดาที่แต่เดิมเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เปลี่ยนสถานะมาเป็น บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย อันส่งผลให้บิดาดังกล่าวมีสิทธิดำเนินคดีอาญาแทนบุตรผู้เยาว์เช่นเดียวกับมารดาด้วยเช่นกัน
สำหรับบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแทนบุตรผู้เยาว์ได้อย่างแน่นอนเฉกเช่นเดียวกับมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งความเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถดำเนินการได้ดังนี้
  • บิดาและมารดาดำเนินการจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย
- ความเป็นสามีภริยาจะสมบูรณ์ได้จะต้องทำการจดทะเบียนสมรสต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
หากแต่เดิมชายหญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เพียงแต่อยู่กินกันเสมือนหนึ่งเป็นสามีภริยากันจริงๆ ครอบครัวทั้ง 2 ฝ่ายรับรู้ ก็สามารถทำการจดทะเบียนสมรสได้ในภายหลัง
ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสก่อนหรือภายหลังให้กำเนิดบุตร หาใช่สาระสำคัญของการเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด กล่าวให้เช้าใจง่ายคือ บิดาจะจดทะเบียนสมรสกับมารดาก่อนบุตรเกิด หรือภายหลังบุตรเกิด ผลคือ บุตรที่เกิดมาก็จะมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนับแต่วันที่เด็กเกิด
  • บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร
- กรณีนี้เป็นวิธีที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบิดาและบุตรผู้เยาว์ เป็นบิดาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับมารดาของบุตรผู้เยาว์
เช่น นายใหญ่แต่งงานกับนางสาวเล็กแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร 1 คนคือ ด.ช. น้อย โดยนายใหญ่ได้ไปจดทะเบียนรับรองว่า ด.ช. น้อย เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตน จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่งผลให้ นายใหญ่เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด.ช. น้อย แต่ก็ยังคงไม่ใช่สามีที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวเล็กอยู่ดี เพราะนายใหญ่จดทะเบียนรับรองบุตร แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
  • กรณีศาลพิพากษาให้รับเด็กเป็นบุตร
กรณีนี้ เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ฝ่ายมารดาหรือเด็กได้มีการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้ฝ่ายชายรับเด็กเป็นบุตร
ซึ่งจาก 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น จะทำให้สถานะของบิดาที่แต่เดิมไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะกลายเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย อันส่งผลให้บิดาสามารถดำเนินคดีอาญาแทนบุตรผู้เยาว์ได้นั่นเอง
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : www.bsru.ac.th
เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
เว็บไซต์สาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
โฆษณา