25 ก.พ. เวลา 10:58 • การศึกษา

...เกร็ดความรู้เกี่ยวกับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา...

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี (Tax Payer)
ภาษีเงินได้ (Income Tax) แบ่งออกเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ชนิดหนึ่ง และภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) อีกชนิดหนึ่ง โดยทั้งสองชนิดมีฐานในการจัดเก็บภาษีจากการมีเงินได้เหมือนกัน ส่วนที่แตกต่างกันคือมีการกำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษี (Tax Payer) ไว้ต่างกัน ในที่นี้ผู้เขียนขอกล่าวถึงเฉพาะเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากบุคคลธรรมดาที่ยังมีชีวิตอยู่แล้ว ยังรวมถึง ผู้ถึงแก่ความตาย กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง และห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลด้วย มีรายละเอียดดังนี้
  • 1. "บุคคลธรรมดา" ผู้มีหน้าที่เสียภาษี กฎหมายไม่ได้จำกัดอายุหรือความสามารถไว้ ดังนั้น ถ้าผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนไร้ความสามารถมีเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว
  • 2. "ผู้ถึงแก่ความตาย" ในกรณีที่บุคคลธรรมดามีเงินได้พึงประเมิน แต่ถึงแก่ความตายก่อนยื่นแบบรายการเพื่อเสียภาษี หน้าที่ในการชำระภาษีให้แก่รัฐยังคงมีอยู่ โดยกฎหมายกำหนดให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกมีหน้าที่ยื่นแทน
  • 3. "กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง" ในปีหลังจากที่ถึงแก่ความตาย ถ้ากองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งแก่ทายาทโดยเด็ดขาด และกองมรดกมีเงินได้ กองมรดกนี้จะมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยโดยกฎหมายกำหนดให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกมีหน้าที่ยื่นแทน ทำนองเดียวกับกรณีของผู้ถึงแก่ความตาย
ข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับเสียภาษีของ "ผู้ถึงแก่ความตาย" และ "กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง" คือ
  • ประการแรก : ถ้าพิจารณาตามกฎหมายแพ่ง บุคคลใดตายมรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท เท่ากับว่าทรัพย์สินรวมถึงดอกผลของทรัพย์สินนั้นจะเป็นของทายาทโดยผลของกฎหมายทันที แต่ตามกฎหมายภาษี ทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับจะได้รับยกเว้นภาษี (ประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10)) ส่วนดอกผลของทรัพย์มรดกนั้น จะเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับมรดก ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีด้วย
  • ตัวอย่างเช่น นายห้าวมีที่ดิน 1 แปลง เมื่อนายห้าวตาย ที่ดินเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาท จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ (กรณีนี้ต้องพิจารณาแยกต่างหากจากภาษีการรับมรดก) ส่วนค่าเช่าที่ดินเป็นดอกผลของทรัพย์มรดก ต้องนำมาเสียภาษีในนามของนายห้าวผู้ถึงแก่ความตาย โดยทายาทฯ มีหน้าที่ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีแทน และถ้าปีถัดไปกองมรดกของนายห้าวยังไม่ได้แบ่ง ก็ต้องเสียภาษีในนามกองมรดกของนายห้าวที่ยังไม่ได้แบ่งด้วย โดยต้องดำเนินการเสียภาษีเช่นนี้ต่อไปจนกว่าจะได้แบ่งมรดกที่ดินแปลงนี้เสร็จสิ้น
  • ประการที่สอง : เมื่อ "ผู้ถึงแก่ความตาย" หรือ "กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง" เสียภาษีแล้ว หากทายาทที่ได้รับทรัพย์มรดกส่วนนั้นต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปเสียภาษีซ้ำอีกย่อมเป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้เงินได้ส่วนนี้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (มาตรา 42(16))
  • 4. "ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล" ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทสุดท้ายนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1)ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล และ 2)คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีลักษณะเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ข้อที่ต่างกันคือถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนจะมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันกำไร
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเสียภาษีของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลมีดังนี้
  • ในส่วนนี้เป็นองค์กรที่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ถ้าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วจะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีหลักการคำนวณและฐานในการคิดภาษีที่แตกต่างกันออกไป
  • เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ส่วนแบ่งกำไรที่หุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลได้รับนั้นต้องนำไปยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอีกหรือไม่นั้น เดิมมีมาตรา 42(14) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งยกเว้นภาษีสำหรับส่วนแบ่งกำไรที่หุ้นส่วนได้รับ แต่มาตราดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น เมื่อบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนก็นับเป็นเงินได้ของบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนด้วย
  • เมื่อบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนและห้างหุ้นส่วนฯเป็นคนละหน่วยภาษีต่างคนจึงต่างต้องมีหน้าที่ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีในส่วนของตนเอง
การทำความเข้าใจผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดตัวผู้มีหน้าที่เสียภาษีแต่ละประเภท หากกำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษีผิดจากกฎหมายหมายอาจทำให้การเสียภาษีเงินได้คลาดเคลื่อนไปได้ อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเรื่องของภาษี นอกจาก ผู้มีหน้าที่เสียภาษีแล้ว ยังควรศึกษาด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ฐานภาษี (มูลเหตุในการเสียภาษี) วิธีหาข้อยุติปัญหาภาษีที่เกิดขึ้น เป็นต้น
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา :https://www.bsru.ac.th/
  • Facebook สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา :https://www.facebook.com/SchoolofLawBSRU
โฆษณา