27 ก.พ. เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

ฝนตกที่กรีนแลนด์ ความเปลี่ยนแปลงที่อาจกระทบสรรพชีวิตทั่วโลก

ผลกระทบจากภาวะโลกเดือดได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงให้กับ ‘กรีนแลนด์’ แดนดินที่อยู่จุดเหนือสุดของโลก
ภาวะแปลกประหลาดนั้นมีด้วยกันหลายหลาก ไล่มาตั้งแต่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมากกว่าส่วนใดๆ ของโลก การเติบโตของแมกไม้นานาพรรณเปลี่ยนพื้นที่สีขาวให้กลายเป็นสีเขียว
1
รวมถึงการเกิดพื้นที่ชุ่มน้ำ บึง และทะเลสาบ
และอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกจับตาอยู่มากๆ คือ การมาเยือนมาของวันฝนตก
ตามปกติสิ่งที่ร่วงหล่นจากฟ้าเหนือภูมิภาคกรีนแลนด์จะเป็นเกร็ดหิมะหาใช่หยดน้ำใส
หรือหากจะมีฝนเทลงมาบ้าง ก็จะเกิดขึ้นเพียง 2 - 3 ครั้ง ในรอบหนึ่งทศวรรษ แต่ละครั้งจะกินเวลาสั้นๆ ไม่ถึงชั่วโมง
แต่ปัจจุบันดินแดนทางตอนเหนือแห่งนี้กำลังเผชิญเหตุการณ์ฝนตกปีละครั้งในฤดูหนาว
ไม่นับเหตุการณ์ฝนฟ้าคะนองตั้งเค้าแต่ไม่ตก ก็มีปรากฏให้ชวนเสียวสันหลังอยู่บ่อยๆ
ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วทั้งโลก เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2021 เมื่อมีฝนตกในกรีนแลนด์กินเวลานานถึง 3 วัน
ในรายงานข่าวระบุว่า เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในกรีนแลนด์มีฝนตกลงมาทางเหนือ และมีฝนตกมากขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับภูมิภาคนี้
ฝนในเดือนสิงหาคม 2021 เป็นผลมาจากอากาศอุ่นชื้นที่ไหลขึ้นมาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะกรีนแลนด์และคงอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาหลายวัน
ในช่วงเช้าของวันที่ 14 สิงหาคม อุณหภูมิบนยอดเขากรีนแลนด์ที่ความสูง 3,216 เมตร ทะลุจุดเยือกแข็ง โดยมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 0.48 องศาซลเซียส จนเกิดฝนตกบนยอดเขาเป็นเวลาหลายชั่วโมงในเช้าวันนั้นและเกิดขึ้นซ้ำในวันถัดไป
เหตุการณ์ครานั้นส่งผลให้พื้นที่น้ำแข็งขนาดใหญ่ถูกเปิดออกเนื่องจากไม่มีหิมะปกคลุม ส่งผลให้มีน้ำแข็งที่ละลายลงสู่มหาสมุทรเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังมีข้อโต้แย้งว่าการละลายของน้ำแข็งน่าจะมาจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมากกว่าอิทธิพลของน้ำฝน
คำตอบที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร นาทีนี้ยังไม่มีใครรู้
เนื่องจากข้อจำกัดของภูมิประเทศ อุณหภูมิที่หนาวสุดขั้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานได้ลำบาก และมีคนทำงานน้อยเกินกว่าจะศึกษาผลกระทบได้รอบด้าน
สถานการณ์นี้จึงถูกจัดว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของการศึกษาผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงก่อน
แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่พบข้อสงสัยอะไรเลย
นอกจากเรื่องที่ว่า น้ำฝนละลายหิมะและน้ำแข็งจากเทือกเขาสูงลงสู่ทะเลแล้ว ยังมีข้อมูลชี้อีกว่า เมื่อฝนตกบ่อยขึ้น จะสร้างโอกาสให้เกิดเหตุการณ์หิมะถล่มบ่อยขึ้น
เรื่องนี้มีตัวอย่างแล้วว่า ในปี 2016 ได้เกิดเหตุหิมะถล่มเกือบ 800 ครั้ง หลังมีฝนตกลงมาในปีดังกล่าว
สถานการณ์ต่อมายังพบด้วยว่า เมื่อหิมะในจุดหนึ่งละลายเป็นน้ำแล้วจะกลับมาแข็งตัวอีกครั้งในอีกพื้นที่หนึ่ง การแข็งตัวของน้ำในพื้นที่ใหม่อาจกีดขวางการไหลของน้ำจากหิมะที่ละลายตามวัฏจักร กระทบต่อผู้ใช้น้ำได้เช่นกัน
หรือการละลายของหิมะแล้วจับตัวเป็นน้ำแข็งก็สามารถสร้างผลกระทบต่อสัตว์ป่าได้เหมือนกัน
เนื่องจากสัตว์หลายชนิดในกรีนแลนด์ถูกวิวัฒนาการให้หากินบนหิมะไม่ใช่น้ำแข็ง
ตัวอย่างหายนะเคยเกิดขึ้นในภูมิประเทศข้างเคียงแล้ว เมื่อพบกวางเรนเดียร์อดตายบนคาบสมุทรยามาลของไซบีเรีย เพราะพื้นที่หากินได้เปลี่ยนเป็นน้ำแข็งแทนที่หิมะ
กวางเรนเดียร์ไม่สามารถกระเทาะน้ำแข็งเพื่อกินพืชที่อยู่ด้านล่างได้ จนส่งผลให้พวกมันอดตาย
ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจกระทบต่อกวางคิริบูและวัวมัสคอกเซนได้เช่นกัน
หากสัตว์เหล่านี้หาอาหารไม่ได้ และต้องอดตายไปในที่สุด จำนวนของสัตว์ที่ลดลงจะกระทบต่อการล่าสัตว์ของชนพื้นเมืองต่ออีกทอดหนึ่ง
หรือกรณีของลูกเหยี่ยวเพเรกริน ที่ขนยังไม่หนาพอจะทนรองรับความเปียกชื้นได้ เมื่อมีฝนตกมาก สุดท้ายพวกมันก็จะป่วยตาย
และหากสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อฝนตกบ่อยขึ้นส่งผลให้น้ำแข็งจะลายมากขึ้นจนเป็นเหตุให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น
ตามที่คาดการณ์ การละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เมตร
เมื่อนั้น… เรื่องราวฝนที่ตกทางโน้น… ก็มีโอกาสหนาวถึงคนทางนี้…
ไมอามี นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ โตเกียว มุมไบ ลากอส และกรุงเทพฯ ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
อ้างอิง
Rain Comes to the Arctic, With a Cascade of Troubling Changes https://shorturl.asia/jxtkq
What Greenland’s record-breaking rain means for the planet https://shorturl.asia/WOvxY
A large wet snow avalanche cycle in West Greenland quantified using remote sensing and in situ observations https://shorturl.asia/TQ6Eo
โฆษณา