8 มี.ค. เวลา 09:35 • ไลฟ์สไตล์

8 มีนาคม วันสตรีสากล เฉลิมฉลองความเสมอภาคและความเท่าเทียมในสังคม

ในอดีตที่ผ่านมา การลิดรอนเสรีภาพและการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงปัจจัยต่างๆ เป็นสิ่งที่สตรีในหลายพื้นที่ทั่วโลกได้พบเจอ การลุกขึ้นต่อสู้จึงเป็นหนึ่งในหนทางที่จะนำความยุติธรรมกลับมา ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียมได้ วันนี้ อนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ท จะพาทุกท่านย้อนประวัติศาสตร์กลับไปเรียนรู้ว่า กว่าจะมาเป็นวันสตรีสากลที่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เหล่าแรงงานสตรีต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไรมาบ้าง พร้อมแล้วตามมาเลย
จุดเริ่มต้นของวันสตรีสากล เริ่มขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 เมื่อเหล่าแรงงานสตรีในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาประท้วงและเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าแรงจากนายจ้าง รวมไปถึงมอบสิทธิที่พวกเธอควรได้รับ แต่ในท้ายที่สุด กลับมีเหตุการณ์ลอบวางเพลิงเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีแรงงานหญิงเสียชีวิตมากกว่า 119 คน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 ได้มีการออกมาเรียกร้องสิทธิของเหล่าแรงงานสตรีอีกครั้ง เนื่องจากพวกเธอถูกกดขี่จากนายจ้างให้ทำงานหนัก 16 – 17 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันสังคม และไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้ผู้หญิงได้รับสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอีกด้วย ซึ่งการกดขี่ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นที่อเมริกาเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์ที่สตรีทั่วทั้งโลกต่างกำลังพบเจอ
ในปีเดียวกันนั้นเอง มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวเยอรมันนามว่า คลาร่า แซทคิน ได้ออกมาปลุกระดมเหล่าแรงงานสตรีด้วยการหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม รวมไปถึงมีการเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงาน ปรับปรุงคุณภาพสวัสดิการ และมอบมีสิทธิ ให้สตรีสามารถเข้าร่วมการเลือกตั้งได้ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหามากมายเกิดขึ้นระหว่างการประท้วงดังกล่าว แต่ภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน และการลุกขึ้นต่อสู้ของกลุ่มสตรีเหล่านี้ ได้ทำให้ฐานของระบบทุนนิยมที่ได้ฝังรากแน่นอยู่ในสังคมเริ่มสั่นคลอนและล่มสลาย
จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 การออกมาเรียงร้องของกลุ่มสตรีเหล่านี้ไม่ได้สูญเปล่า ในการประชุมนานาชาติของแรงงานสตรี ซึ่งมีตัวแทนสตรีจากทั้งหมด 17 ประเทศเข้าร่วม ได้มีการประกาศรับรองข้อเรียกร้องที่ผ่านมา โดยมีการลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง มีเวลาพัฒนาตนเอง 8 ชั่วโมง มีเวลาพักผ่อนอีก 8 ชั่วโมง เพิ่มค่าแรงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย รวมไปถึงคุ้มครองสวัสดิการของสตรีและเด็ก นอกจากนี้ ยังได้มีการประกาศรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล
สำหรับประเทศไทย วันสตรีสากลได้จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) เพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของวันดังกล่าว ปรับแก้กฎหมายแรงงาน และยกระดับสิทธิของสตรีต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลให้แก่สตรีที่ทำประโยชน์แก่สังคมอีกด้วย
วันสตรีสากล นับเป็นหนึ่งในวันที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และยังเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองให้กับสิทธิของผู้หญิงในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความตระหนักและรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียม สันติภาพ และการอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีนั่นเอง
โฆษณา