28 ก.พ. เวลา 08:30 • ความคิดเห็น

Golden Handcuffs กุญแจมือทองคำ กับดักคนเก่งรายได้สูง ไม่มีความสุขในงาน แต่ก็ทนเพราะเสียดายเงิน

เมื่อหลายปีที่แล้ว สมัยที่ผมยังทำงานเป็นนักวิจัยในลอนดอนอยู่
มีนักเรียนเก่าชาวอังกฤษที่ผมเคยสอนในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กนักเรียนปริญญาเอกติดต่อมาขอทานข้าวด้วย
ระหว่างทานข้าวกันเขาก็เล่าให้ฟังว่าหลังจากที่จบเศรษฐศาสตร์จาก Warwick ก็ไปทำงานเป็นวาณิชธนากร (investment banker) หรือที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในลอนดอน
ทำมาเกือบสิบปีแล้ว เงินเดือนของสูงมากๆ น่าจะประมาณปีละหนึ่งแสนปอนด์ (4.5 ล้านบาท) ไม่รวมโบนัส
แต่เขาบอกผมว่าตัวเองไม่มีความสุขเลย
ต้องทำงานวันละประมาณ 14-15 ชั่วโมงซึ่งก็ทำให้สุขภาพเขาก็แย่ลงๆ นอนก็นอนไม่หลับเกือบทุกคืนเพราะจะมีอีเมลจากที่ทำงานเข้ามาเป็นระยะๆ แถมวัฒนธรรมการทำงานที่ค่อนข้างจะ toxic อีกด้วย
1
แม้ไม่มีความสุขกับการทำงานมานานหลายปีแล้ว แต่พอตั้งใจจะออกหลังจากสิ้นปีของปีทำงานทีไร โบนัสที่เขาได้รับทุกๆสิ้นปีก็ทำให้เขารู้สึกเสียดายรายได้ที่สูงมากๆของเขาทุกที
เขาพูดกับตัวเองเกือบทุกๆปีว่าปีนี้จะลาออกไปทำที่อื่นแล้ว พูดกับตัวเองอย่างนี้มาเกือบสิบปีแล้ว
ผมรู้จักคนหลายคน รวมไปจนถึงนักเรียนที่เคยสอนด้วย ที่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่เราเรียกว่า golden handcuffs หรือกุญแจมือทองคำ
มันคือการที่บริษัทจ่ายเงินเดือนสูงๆให้กับพนักงานเพื่อแลกกันกับการใช้งานพนักงานที่หนักมาก การไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องของสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน เพราะทางบริษัทถือว่าเขาให้รายได้ที่สูงมากๆแล้ว เขาจะใช้งานพนักงานพวกนี้ยังไงก็ได้
ถ้าดูกันในเชิงเศรษฐศาสตร์ล่ะก็กุญแจมือทองคำเป็นอะไรที่แฟร์นะครับ เพราะทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ สันนิษฐานว่าไม่มีใครชอบการทำงานมากไปกว่าการไม่ทำงาน และถ้าเราอยากจะให้คนทำงานมากขึ้น เราก็ต้องชดเชยพวกเขาด้วย ‘รายได้ที่สูง’
ปัญหาก็คือทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์นี้สันนิษฐานว่าพนักงานตัดสินใจด้วยเหตุผล (rational agents) พูดง่ายๆคือพวกเขามีข้อมูลที่สมบูรณ์ว่าการเลือกที่จะทำงานหนักๆเพื่อแลกกันกับรายได้ที่สูงนั้นมันจะให้อรรถประโยชน์เขาในอนาคตมากน้อยขนาดไหน และถ้าการได้รายได้ที่สูงมันไม่คุ้มกันกับการมี work-life balance ที่แย่ พวกเขาก็สามารถลาออกจากงานได้
แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น คนเราไม่ได้ตัดสินใจกันด้วยเหตุผลตลอด ดูตัวอย่างนักเรียนเก่าของผมที่เขารู้นะว่ารายได้สูงๆที่เขาได้นั้นมันไม่คุ้มเลยกับความสูญเสียทางด้านสุขภาพของเขา
แต่ความรู้สึกเสียดายที่กลัวว่าเขาจะรู้สึกในอนาคต (future regrets) มันเป็นอะไรที่ทรงพลังมากๆจนทำให้เขาไม่สามารถตัดสินใจลาออกได้
จากวันนั้นที่ผมทานข้าวกับเขาจนถึงวันนี้ก็สิบปีแล้ว ผมได้เข้าไปดูเพจ linkedin ของเขา เขาก็ยังทำงานเป็น investment banker อยู่ แถมตอนนี้เป็น chief investment banker อีกด้วย ผมได้แต่หวังว่าเขาจะมีความสุขมากขึ้นตามตำแหน่งที่เขามีและมี work-life balance มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
==========
ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี (เพจ : https://www.facebook.com/TransparentlyUselessAdvice)
ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University, Singapore
==========
#aomMONEY #งาน #รายได้ #มนุษย์เงินเดือน #GoldenHandcuffs
โฆษณา