28 ก.พ. เวลา 11:19 • ธุรกิจ

สรุปอินไซต์ 10 ข้อ พฤติกรรมคนไทย ซื้อของใน TikTok 88% กดซื้อจาก คอนเทนต์ไม่ตั้งใจขาย

วันนี้ TikTok ได้จัดงานแถลงข่าว The Future of consumer & Commerce
โดยทาง TiKTok และ Accenture ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกจากรายงาน 'Shoppertainment 2024: THE FUTURE OF CONSUMER & COMMERCE'
เป็นรายงานการสํารวจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ข้อมูลอินไซต์จาก TiKTok ตอนนี้มีอะไรน่าสนใจ ที่คนทำธุรกิจควรรู้บ้าง ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
เริ่มจากพฤติกรรมสำคัญ 3 อย่างของคนไทยในการใช้ TikTok ตอนนี้ คือ
- 88% ของผู้บริโภคคนไทย ชอบเสพคอนเทนต์แบบไม่ตั้งใจขาย ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
- 97% ของผู้บริโภคคนไทย ชอบค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์และทำการซื้อภายในพื้นที่เดียวกัน
- 60% ของผู้บริโภคคนไทย รู้สึกชอบและตัดสินใจซื้อสินค้ากับคอนเทนต์ที่ตัวเองมีส่วนร่วม
1. ผู้บริโภคกว่า 90% จะกดข้ามโฆษณาแบบที่ดูรู้เลยว่าเป็นโฆษณาทันที หากเลื่อนผ่านมาเจอ
จากทั้งหมดนี้ TikTok กำลังสื่อให้เห็นว่าคนไทยไม่ได้ชอบดูคอนเทนต์ที่เน้นขายสินค้าแบบเดิม ๆ ที่เน้นการโฆษณาอย่างชัดเจนอีกต่อไปแล้ว
นั่นหมายความว่าแบรนด์ต่าง ๆ ต้องเริ่มปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคด้วย
1
2. TikTok พบว่า 2 ใน 3 ของการซื้อสินค้าในกลุ่มลูกค้าใหม่ มาจาก Emotional หรือก็คือ “ซื้อด้วยอารมณ์ ความรู้สึก” มากกว่าซื้อเพราะ Functional หรือเหตุผลด้านการใช้งาน
88% ของผู้บริโภค ตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องเน้นการขายและการลดราคา แต่ตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์ร่วมแทน
นอกจากนี้ TikTok ยังมีการเปิดเผยถึงแนวโน้มของกิจกรรมทางการตลาดของแบรนด์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เน้นกลยุทธ์กิจกรรมทางการตลาดระยะสั้นเพื่อได้ผลตอบแทนได้เร็วขึ้น
โดย 30% ของนักการตลาดเจ้าใหญ่มีการลดงบโฆษณาลง และกว่า 74% ในกลุ่มดังกล่าวชี้แจงว่ามีสาเหตุจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
1
3. คนซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มักเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเองมากกว่าคนที่ซื้อสินค้าในออฟไลน์ มากถึง 2.6 เท่า
ซึ่งจากข้อมูลในงานนี้ คนไทย เกาหลีใต้ และเวียดนาม เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เน้น Social Oriented หรือการหาข้อมูลสินค้าและตัดสินใจซื้อผ่านคอนเทนต์
ในขณะที่คนญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคแบบ Product Oriented ที่เน้นซื้อสินค้าผ่านข้อมูลและการลดราคาแทน
4. โดย 3 คอนเทนต์ที่ทำให้คนไทยตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายที่สุด ได้แก่
อันดับ 1 คอนเทนต์คำแนะนำจากอินฟลูเอนเซอร์ หรือ ครีเอเตอร์
อันดับ 2 คอนเทนต์โปรโมชัน และการลดราคา
อันดับ 3 คอนเทนต์ข้อมูลสินค้า และประโยชน์
5. ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ชอบซื้อตามคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์
โดยพบว่า 60% ของผู้บริโภคเลือกเชื่ออินฟลูเอนเซอร์ และมีเพียง 11% ที่เชื่อในแบรนด์อย่างเดียว
ซึ่งคนไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มลูกค้า Community-influenced หรือได้อิทธิพลในการซื้อสินค้าผ่านคอนเทนต์สังคมอินฟลูเอนเซอร์
ในขณะที่คนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตัดสินใจซื้อด้วยข้อมูลจากแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ในเวลาเดียวกัน
6. ปัจจุบัน TikTok ได้เปิดเผยว่า
- 93% ของผู้บริโภค ชอบที่จะเล่นโซเชียลและแอดสินค้าลงตะกร้าเพื่อช็อปปิงได้ในที่เดียว
- 85% ของผู้บริโภคชาวไทย ชอบค้นหาสินค้าใหม่ ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
- 97% ของผู้บริโภคชาวไทย คาดหวังว่าเห็นคอนเทนต์สินค้าแล้ว สามารถซื้อได้เลย
7. 71% ของผู้บริโภค อยากได้ข้อมูลสินค้าทุกอย่างรวมอยู่ในที่เดียวกัน ตั้งแต่เห็นสินค้าผ่านคอนเทนต์ ไปจนถึงการกดซื้อได้สะดวก และง่ายในที่เดียว
8. 5 หมวดหมู่สินค้ายอดนิยมในตลาด Shoppertainment ได้แก่
- แฟชั่นและเครื่องประดับ
- ความงามและผลิตภัณฑ์ส่วนตัว
- อาหารและเครื่องดื่ม
- อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- ของใช้ในครัวเรือน
9. ความสัมพันธ์กับแบรนด์ ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากลูกค้าซื้อเท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้บริโภคอยากมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งกับแบรนด์ ตั้งแต่การเสพคอนเทนต์ ไปจนถึงการซื้อสินค้า
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังต้องการอยากมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไปด้วยกัน และรู้สึกอยากมีอารมณ์ร่วมกับคอนเทนต์ที่แบรนด์ผลิตออกมาด้วย
10. TikTok ได้สรุปออกมาเป็น 4 เช็กลิสต์สำคัญ ในการทำคอนเทนต์สำหรับแบรนด์ในยุคนี้ คือ
- Value คอนเทนต์ของแบรนด์เราให้คุณค่าอะไรกับผู้บริโภค
- Volume คอนเทนต์ต้องมากพอ คือต้องมีทั้งคอนเทนต์ที่มาจากแบรนด์ และคอนเทนต์ที่มาจากอินฟลูเอนเซอร์ด้วย
- Variety คอนเทนต์ต้องมีความหลากหลาย เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลายกลุ่มเป้าหมาย
- Velocity คอนเทนต์ต้องเร็วและตามทันเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้แบรนด์เล็กจะมีความได้เปรียบมากกว่าแบรนด์ใหญ่
เพราะพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนทุกวัน แบรนด์เล็กอาจได้เปรียบกว่าแบรนด์ใหญ่ ในความคล่องตัวของการทำคอนเทนต์ เพื่อสร้างยอดขายและฐานกลุ่มลูกค้าของตัวเอง
และแม้ว่า การทำคอนเทนต์เพื่อให้ตรงใจผู้บริโภค เป็นความท้าทายที่แบรนด์ต่าง ๆ ต้องเจอ แต่แบรนด์ต้องมีการลองผิดลองถูก ทดลองและวัดผลไปเรื่อย ๆ จนนำไปสู่สูตรสำเร็จของแบรนด์เราเอง ในแบบที่ไม่เหมือนใคร…
โฆษณา