29 ก.พ. 2024 เวลา 11:01 • ข่าวรอบโลก

เจาะลึก TSMC เปิดโรงงานชิปครั้งแรกที่คุมาโมโตะ ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนมหึมา? มีบทบาทสำคัญอย่างไร?

Image Credits: NHK, Japan Advanced Semiconductor Manufacturing, Inc. ( "JASM") เป็นบริษัทลูก ผู้รับจ้างผลิตชิปของไต้หวันที่ก่อตั้งโดย TSMC ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของฐานผลิตที่ตั้งครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองคิคุโยมาจิ จังหวัดคุมาโมโตะ เกาะคิวชู
[บริษัท TSMC คือ บริษัทอะไร?]
บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.) หรือ ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า "TSMC" ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซินจู๋ สาธารณรัฐจีน หรือ ไต้หวัน
เป็นบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกของโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ผู้สร้างโมเดลธุรกิจ Delicated IC Foundry ที่มีลักษณะพิเศษของธุรกิจ คือ
เป็นบริษัทรับจ้างผลิต (Foundry) เกี่ยวกับ
เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรือ ที่เรียกกันว่า ชิป (Chip) โดยรับคำสั่งซื้อของลูกค้า ตามหน้าที่ต่างๆ ของอุปกรณ์ที่ลูกค้าต้องการนำไปใช้งาน
[ขนาดของ TSMC ในระดับโลก]
ปัจจุบัน บริษัท TSMC มีมูลค่าตลาดหลักทรัพย์เท่ากับประมาณ 85 ล้านล้านเยน สูงที่สุดในเอเชีย มากกว่าบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ระดับท็อปที่เป็นตัวแทนของบริษัทญี่ปุ่นที่มีมูลค่าเท่ากับ 58.44 ล้านล้านเยนถึง 1.5 เท่า
[ฐานผลิตและจำนวนพนักงานของ TSMC ทั่วโลก]
TSMC มีพนักงานทั่วโลกทั้งหมด 73,000 คน
มีฐานผลิตหลักๆ ในไต้หวัน 3 แห่ง รัฐแอริโซน่า
ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 แห่ง เมืองเซียงไฮ้
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 แห่ง และ
ที่เมืองเดรสเดนทางตะวันออกของประเทศเยอรมนี
ซึ่งที่เยอรมันนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิต หรือ "แฟบ (FAB)" มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2570 และประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศอันดับที่ 4 ที่
เมืองคิคุโยมาจิ จังหวัดคุมาโมโตะ ตอนกลางของ
เกาะคิวชู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น
[เซมิคอนดักเตอร์(Semiconductor) หรือ ชิป (Chip) คือ อะไร?]
เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป คือ สารกึ่งตัวนำ
ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติอยู่กึ่งกลาง
ระหว่างตัวนำไฟฟ้าหรือคอนดักเตอร์ (Conductor) กับ ฉนวนกันไฟฟ้า (Insulator) จึงเรียกง่ายๆ ว่า สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor)
โดยสารกึ่งตัวนำ หรือ เซมิคอนดักเตอร์นี้ บางสภาวะ
นำไฟฟ้าได้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ แสง และ ปัจจัยอื่นๆ เช่น หากอุณหภูมิสูงขึ้น สารกึ่งตัวนำ ก็จะเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ สูงขึ้น แต่หากอุณหภูมิเย็นลง ก็จะกลายเป็นฉนวนไฟฟ้า ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ชิ้นส่วนขนาดเล็กๆ เช่น ชิป หรือ แผงวงจร หรือ อื่นๆ นำไปปรับยืดหยุ่น
การใช้งานได้สูง
ปัจจุบัน ชิปนิยมใช้เรียกแทนชิ้นส่วน หรือ
วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องอาศัยคุณสมบัติของสารกึ่งนำ
เหล่านี้ด้วย โดยใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะพิเศษ
ที่เป็นกึ่งตัวนำนี้ในการควบคุมการทำงาน ยิ่งขนาด
ยิ่งเล็กเท่าไร ความจุของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก็จะบรรจุได้มากขึ้น ศักยภาพก็จะสูงขึ้น เป็นชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญต่ออุปกรณ์อัจฉริยะ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กล้องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ดิจิตอลที่ล้อมรอบตัวเรา ทั้งที่ทำงาน และ ที่บ้าน ที่นิยมใช้งานกันแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ จนมิอาจขาดได้
[ผลิตภัณฑ์ของ TSMC ]
TSMC ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสมองกล โดยเฉพาะอุปกรณ์อัจฉริยะที่ต้องการปริมาณการใช้งานมากขึ้นในปัจจุบัน จึงครอบคลุมตลาดปลายทางที่
หลากหลาย ตามประเภทของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเราอย่างขาดไม่ได้ในปัจจุบัน
ในปี 2566 TSMC ให้บริการลูกค้าจำนวน 528 ราย และผลิตผลิตภัณฑ์ 11,895 รายการ
[ลูกค้าของ TSMC]
TSMC มีลูกค้ารายใหญ่ เช่น Apple เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด สร้างรายได้หลักให้กับ TSMC เกือบ 26%, และมี Nvidia,Qualcomm, Media Tek, AMD, Boardcom, Marvell, STM, ADI, Intel
ลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นบริษัทของญี่ปุ่น เช่น โซนี่ โตโยต้า เด็นโซ่ เป็นต้น
[ส่วนแบ่งตลาดของชิปของบริษัท TSMC]
จากการสำรวจของTrend Force ช่วงไตรมาสเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน ประจำปี 2566 พบว่า
ในตลาด foundry ส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในโลก คือ
อันดับ 1 TSMC 56.4%
อันดับ 2 ซัมซุง 11.7%
Image Credits: Statista, ส่วนแบ่งรายได้ของโรงหล่อเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2023 แยกตามไตรมาส
โดยได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในห้าบริษัทที่เป็นบริษัทที่สำคัญที่สุดของโลก ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจของ
เซมิคอนดักเตอร์มากถึง 56.4% เท่ากับผลิตให้กับ
ผู้ใช้บริการมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
Image Credits: TSMC, ตัวอย่างเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป คือ สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ในกระบวนการผลิตของ TSMC
[เหตุผลที่ TSMC ต้องกระจายการลงทุน]
- เพื่อกระจายความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
- เพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
[เหตุใด TSMC เลือกลงทุนในประเทศญี่ปุ่น]
ด้วยเหตุผลด้านเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากชิปเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต
TSMC จึงต้องต้องการกระจายฐานผลิต
เพื่อรักษาดุลยภาพของห่วงโซ่อุปทาน
หากโน้มเอียงไปที่ประเทศใดหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
โดยเฉพาะ อาจมีความเสี่ยงสูง
ประกอบกับญี่ปุ่นกับไต้หวันมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน และที่ตั้งของประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกัน น้ำท่าที่จะใช้ในกระบวนการผลิตสะอาดและบริบูรณ์ และรายล้อมด้วยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องชิปเป็นจำนวนมาก
เดินทางสะดวก มีความมั่นคงทางการเมือง
Image Credits: ที่ตั้งของบริษัท JASM บริษัทลูกที่ดำเนินการการผลิตที่โรงงานคุมาโมโตะ ของ TSCM ตั้งอยู่ในเมืองคิคุโยมาจิ จังหวัดคุมาโมโตะ เกาะคิวชู ทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น
[เหตุผลที่ TSMC เลือกจังหวัดคุมาโมโต ตั้งบริษัท JASM เป็นบริษัทลูก]
จังหวัดคุมาโมโตะ เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว
หลายแห่งที่น่าสนใจและขึ้นชื่อ อาทิเข่น
ปราสาทคุมาโมโตะ ภูเขาไฟอาโซะ ศาลเจ้าอาโซะ ฯลฯ
มีขนมพื้นเมืองชื่อดัง เรียก "อิคินาริดังโกะ"
ที่ปั้นเป็นแป้งกลมๆ สอดไส้มันหวานกับถั่วแดง
นึ่งร้อนๆ พร้อมเสิร์ฟที่อร่อย
เมืองคิคุโยมาจิของจังหวัดคุมาโมโตะ ที่เป็นที่ตั้งของบริษัท JASM ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TSMC นี้ ตั้งอยู่
ตอนกลางของเกาะคิวชู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีประชากรเพียง 43,000 คน
สาเหตุที่ TSMC เลือกเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่เพื่อตั้งบริษัท JASM (Japan Advanced Semiconductor Manufacturing Compay, Ltd.)
ในการบริหารจัดการในเครือของ TSMC ซึ่งเป็น
หุ้นส่วนใหญ่ เนื่องจาก
1. จังหวัดคุมาโมโตะ มีการคมนาคมสะดวก
ใกล้กับสนามบิน ทางด่วน ที่ตั้งอยู่บนเกาะคิวชู
ที่เป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์
มากมาย ตั้งแต่ปี 2503 ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า
200 บริษัทจนได้รับขนานนามว่า "ซิลิคอนไอส์แลนด์"
2. เป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นเรื่องน้ำท่าอุดมสมบูรณ์
มีน้ำบาดาล หรือ น้ำใต้ดินขึ้นชื่อว่าสะอาด และ
มีปริมาณมาก เหมาะกับกระบวนการผลิตของชิป
ที่ต้องผ่านการล้างและต้องใช้น้ำเป็นปริมาณมาก
โดย TSMC โรงงานแห่งที่ 1
จะเก็บน้ำได้วันละ 850,000 ลูกบาศก์เมตร
[สัดส่วนของผู้ถือหุ้นในบริษัท JASM บริษัทลูกของบริษัท TSMC
- TSMC ประมาณ 86.5%
มูลค่าการลงทุนที่โรงงานคุมาโมโตะ1 ล้านล้านเยน
- กลุ่มโซนี่ ประมาณ 6%
- เด็นโซ่ ประมาณ 5.5%
- โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประมาณ 2%
[การก่อสร้างโรงงาน JASM ของ TSMC]
ได้เริ่มลงมือก่อสร้างโรงงานตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จไม่ถึง 2 ปี และมีกำหนดเป้าหมายที่จะผลิตขนานใหญ่และส่งออกชิปที่ใช้กับสมาร์ทโฟน ยานยนต์ ครั้งแรกของโรงงานในประเทศญี่ปุ่นภายในปี 2567 นี้
[ขนาดของโรงงานคุมาโมโตะของ TSMC]
มีพื้นที่ 210,000 ตารางเมตร ขนาด 3 เท่าของ
สนามกีฬาในร่มโดมเพย์เพย์ฟุคุโอกะ จังหวัดฟุคุโอกะ หรือขนาด 5 เท่าของโดมโตเกียวที่ตั้งอยู่ในเขตบุงเกียว
กรุงโตเกียว ที่มีควาจุเต็มที่ประมาณ 55,000 ที่นั่ง
จึงมองเห็นโรงงานตระหง่านโดดเด่นมาแต่ไกลๆ
ตรงข้ามสวนผักกระหล่ำปลี รอบๆ ประกอบด้วย
บริษัทอิเล็กตรอน บริษัทโซนี่ ฯลฯ
[ประเภทของชิปที่จะผลิตในโรงงานคุมาโมโตะ
ของ TSMC]
เป็นชิปลอจิก ที่ใช้ในการประมวลข้อมูลขั้นสูง
สามารถติดตั้งใช้งานกับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน
ยานยนต์ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง เปรียบเหมือนมันสมองของคน
[พิธีเปิดโรงงานคุมาโมโตะครั้งยิ่งใหญ่ของ TSMC]
พิธีได้จัดให้มีขึ้นที่ชั้น 7 ของอาคารสำนักงานโรงงาน
ของ TSMC เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567(เสาร์) มีสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ และจากไต้หวันมา
ทำข่าว รวมมากกว่า 100 สำนัก
แขกผู้มีเกียรติทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาล บริษัทร่วมทุน ซัพพลายเออร์ ลูกค้า นักวิชาการ และพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมแสดงความยินดีอย่างล้นหลามและต่างแสดงความขอบคุณใน
ความสนับสนุนและความพยายามร่วมกันจนโครงการนี้ประสบความสำเร็จ
Image Credit: พิธีเปิดโรงงานคุมาโมโตะครั้งยิ่งใหญ่ของ TSMC ที่ประกอบตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน โดยมีนายมอริส จาง ชาวไต้หวัน วัย 92 ปี ผู้ก่อตั้ง TSMC มาร่วมงานด้วย
[ผู้มาร่วมพิธีเปิดโรงงาน TSMC]
ในงานมีนายจาง จง โหมว หรือ นายมอริส จาง
(Mr. Morris Chang) ผู้ก่อตั้งบริษัท TSMC วัย 92 ปี ได้เดินทางมาร่วมกล่าวเปิดพิธีเป็นภาษาอังกฤษด้วยพร้อมด้วย นายมาร์ก หลิว (Mr. Mark Liu)
ประธานกรรมการจากบริษัทแม่ของ TSMC
นายซีซี เหว่ย CEO ของ TSMC ผู้บริหารระดับสูง
[แขกผู้มีเกียรติที่มราร่วมงานพิธีเปิด]
แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงาน อาทิ
- นายเคน ไซโต
รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม
- นายอาคิระ อามาริ
เลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี)
พรรคร่วมรัฐบาลด้านยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์
- นายฮากิอุระ โคอิจิ
อดีตรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม
- นายอิคุโอะ คาบาชิมะ
ผู้ว่าราชการจังหวัดคุมาโมโตะ
[ตัวแทนพาร์ทเนอร์หลักในการก่อตั้ง JASM ในพิธีเปิด]
- นายเคนอิจิโร โยชิดะ ประธานกรรมการ และซีอีโอ
กลุ่มโซนี (Sony Group Corporation)
- นายอาคิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการ
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Mobor
Corporation)
- นายชินโนสุเกะ ฮายาชิ ประธานบริษัท
บริษัทเด็นซิ่ และ COO (DENSO Corporation)
- นายฮิโรมาสะ อมาโนะ ประธานบริษัท
บริษัทหุ้นส่วนด้านก่อสร้างคาจิมะ
(Kajima Corporation)
Image: นาย จาง จง โหมว หรือ นายมอริส จาง ชาวไต้หวัน วัย 92 ปี ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมชิปและผู้ก่อตั้งบริษัท TSMC
[วิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงของ TSMC]
1. นายจาง จง โหมว หรือ นายมอริส จาง ชาวไต้หวัน
วัย 92 ปี ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมชิปและผู้ก่อตั้ง
บริษัท TSMC และผู้สร้างตำนานการผลิตชิปชื่อดัง
ระดับโลกของไต้หวันที่ประสบความสำเร็จจนครอง
ส่วนแบ่งตลาดของชิปได้มากที่สุดในระดับโลก
ได้เดินทางมาร่วมพิธีด้วย พร้อมได้กล่าวว่า
“ผมหวังและเชื่อว่า นี่เป็นการเริ่มต้นการผลิตชิป
ที่เฟื่องฟู (เรอเนซองส์) ของญี่ปุ่นอีกครั้ง”
2. ดร. หลิว เต๋อ ยิง หรือ นายมาร์ก หลิว
(Mr. Mark Liu)
ประธานกรรมการจากบริษัทแม่ของ TSMC กล่าวว่า
“ถึง ณ วันนี้ มีประชาชนทั่วโลกประมาณ 2.5 พันล้าน
คน ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ติดตั้งชิปของ TSMC ในชีวิต
ประจำวัน ”
“เทคโนโลยีของเราโฟกัสในเรื่องของการรับรู้
ทำให้รถยนต์รับรู้ภาพได้อย่างชัดเจนแม้ในที่มืด”
“กระผมขอขอบคุณพาร์ทเนอร์ของเราในประเทศ
ญี่ปุ่นที่ให้ความอนุเคราะห์ร่วมมือและสนับสนุนมา
โดยตลอด ที่มีส่วนอย่างมากในการเกื้อหนุนให้
โครงการนี้สำเร็จ”
3. นายยูอิจิ โฮริตะ ประธานบริษัท JASM กล่าวว่า
“เวลานี้ ชิปมีบทบาทสำคัญต่อวิวัฒนาการของมนุษย์
ของพวกเรา”
[บทบาทของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อการช่วยเหลือ TSMC ในการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น]
ในพิธีเปิดโรงงานแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นของ TSMC ครั้งนี้ นายฟุมิโอ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
ได้กล่าวแสดงความยินดี ผ่านวิดีโอคอลออนไลน์
ในพิธีเปิดงาน มีใจความว่า ยินดีต้อนรับบริษัท TSMC
ที่มีจุดยืนที่แน่วแน่ ที่จะให้ญี่ปุ่นเป็นฐานที่เสำคัญ
ในการวางกลยุทธ์ระดับโลก
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะช่วยเหลืออาคารแห่งที่ 2
ของ JASM ต่ออย่างเป็นรูปธรรมตามแพ็กเกจส่งเสริม
การลงทุนท้องถิ่นที่ได้วางรูปแบบไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2567
Image Credits: นายเคน ไซโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น จับมือแสดงความยินดีกับนาย หลิว เต๋อ ยิง หรือ นายมาร์ก หลิว (Mr. Mark Liu) ประธานกรรมการจากบริษัทแม่ของ TSMC
รัฐบาลญี่ปุ่นโดยนายเคน ไซโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานที่สำคัญของญี่ปุ่นเป็นโครงการระดับประเทศ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือแก่บริษัท TSMC ดังนี้
- โรงงานแห่งที่ 1 รัฐบาลสนับสนุนเงินลงทุน
476,000 ล้านเยน หรือ 119,000 ล้านบาท
ประมาณ 40% ของค่ากิจการของโรงงานแห่งที่ 1
ทั้งหมด 1.3 ล้านล้านเยนที่เพิ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ และ
จัดพิธีเปิดในครั้งนี้
- โรงงานแห่งที่ 2 รัฐบาลได้มีมติจัดสรรเงินสนับสนุน
อีก 732,000 ล้านเยน (ประมาณ 175,000 ล้านบาท)
ในการสร้างโรงงานประกอบชิป (Chip) ของ TSMC
ภายในปีนี้อีก ด้วยเงินก้อนที่ใหญ่ขึ้นตามกฎหมาย
สงเสริม 5G ซึ่งจะก่อสร้างบริเวณข้างเคียงกับ
โรงงานแห่งที่ 1
รวมมูลค่าเงินลงทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนโรงงานทั้งสองแห่ง เท่ากับ 1.2 ล้านล้านเยน
[เหตุใดรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญช่วยเหลือการลงทุนผลิตชิปในประเทศ]
ท่ามกลางการแข่งขันการดึงนักลงทุนมาลงทุนของแต่ละประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นได้กลับมาให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่จัดเป็นทรัพยากรสำคัญเช่นเดียวกับน้ำ และพลังงานที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของภาคมนุษย์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขั้นสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานทางอุตสาหกรรมแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือปัจจัยความเสี่ยง
ด้านภัยธรรมชาติ หรืออื่นๆ เพื่อเป็นหลักประกัน
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังจากนี้
ศาสตราจารย์ทาดาฮิโร คุโรดะ มหาวิทยาลัยโตเกียวและนักวิเคราะห์เกี่ยวกับชิป มองว่า
"ชิปก็เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่เคยเกิด
วิกฤติการณ์น้ำมันแพง หากไม่มีโรงงานในประเทศ
ของตน เศรษฐกิจก็จะเป็นอัมพาตได้”
"หากกุมอุตสาหกรรมชิปได้ ก็เท่ากับกุมโลกได้"
Image Credits: Japan Advanced Semiconductor Manufacturing, Inc. ( "JASM") ฐานผลิตแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดครั้งแรก ตั้งอยู่ที่เมืองคิคุโยมาจิ จังหวัดคุมาโมโตะ ตอนกลางของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น
[การขยายโรงงานของ TSMC ในประเทศญี่ปุ่น]
มีพนักงานทำงานประมาณ 1,700 คน ซึ่งรวมทั้งพนักงานที่มาประจำจากไต้หวันจำนวน 400 คนด้วย
- โรงงานแห่งที่ 1 กำหนดผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ที่มีขนาดกว้าง 12/12 ถึง 22/28 นาโนเมตร ที่เป็นชิป
ลอจิกที่ล้ำหน้าที่ใช้ใน AI และการขับเคลื่อนแบบ
อัตโนมัติ ที่ไม่เคยผลิตในญี่ปุ่นมาก่อน ใช้กับยานยนต์
เซ็นเซอร์กล้อง CMOS กำหนดผลิตขนานใหญ่ใน
เดือนตุลาคม 2567 และส่งออกภายในเดือนธันวาคม
2567 ปีนี้
- โรงงานแห่งที่ 2 กำหนดจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2567
บริเวณข้างๆ ของโรงงานแห่งที่ 1 เพื่อผลิตชิปลอจิกที่
ละเอียดและล้ำหน้ามากขึ้น ถึงขนาด 6/7 นาโนเมตร
ถึง 40 นาโนเมตรด้วย หากโรงงานแห่งที่ 2
สร้างเสร็จ จะเริ่มดำเนินการเดินเครื่องภายใน
สิ้นปีปฏิทินของปี 2570 สำหรับธุรกิจยานยนต์
ภาคอุตสาหกรรม การใช้งานของผู้บริโภค และ
คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง
หมายเหตุ:
หน่วยนาโนเมตรที่ว่านี้ เป็นหน่วยความยาวในระบบ SI
เท่ากับ 1/1,000,000 ส่วนของขนาด 1 มิลลิเมตร,
1 นาโนเมตร เท่ากับ 0.001 µm = 0.000001 mm.
หรือประมาณ 1/100,000 ส่วนของขนาดความหนาของเส้นผม เป็นหน่วยเล็กมาก หรือ มีค่าเท่ากับหนึ่งในพันล้านของเมตร
โรงงานทั้งสองแห่งของ JASM จะผลิตชิปแบบลอจิก
ที่มีกำลังการผลิตเวเฟอร์ขนาด 12 นิ้วมากกว่า 100,000 แผ่นต่อเดือน โดยเริ่มจากเทคโนโลยีกระบวนการการผลิตตั้งแต่ 40, 22/28, 12/16 และ 6/7 นาโนเมตร
ที่ใช้สำหรับยานยนต์ อุตสาหกรรม ผู้บริโภค และ แอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับ HPC
TSCM ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการผลิตเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์เพื่อเป็นนวัตกรรมสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่า โรงงาน
ทั้งสองแห่งนี้ จะช่วยสร้างงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงระดับมืออาชีพได้โดยตรงได้มากกว่า 3,400 ตำแหน่ง
[ความมุ่งมั่นของ TSMC ต่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม]
ด้านความมุ่งมั่นของ TSMC ต่อการผลิตที่เป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อม ในประเด็นเรื่องน้ำที่ผู้คนให้ความสนใจ นั้น JASM ได้เปิดให้ชม วิธีการบริหารจัดการเกี่ยวกับน้ำใต้ดินและระบบบำบัดน้ำเสียภายในโรงงานไม่ให้ไหลออกไปสู่สาธารณะก่อน
โดยใช้แนวทางปฏิบัติด้านการผลิตที่เน้นความยั่งยืน
และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการควบคุมน้ำใต้ดิน
ที่เข้มงวดทั้งการบำบัดทั้งการรีไซเคิล การกรอง รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ด้วยเทคโนโลยี
ที่ทันสมัยใหม่ล่าสุด ในวงการชิปในการเริ่มต้นการผลิต มีการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานของท้องถิ่น ที่ TSMC จะนำน้ำที่ใช้ในโรงงานแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 75% ด้วย
[ความต้องการชิปในปัจจุบัน]
ปัจจุบัน ความต้องการชิ้นส่วนชิปเพิ่มสูงขึ้นมาก จากหลายปัจจัย เช่น การพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ความต้องการในภาคมนุษย์ปัญญาประดิษฐ์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
ชิปที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความความต้องการ
พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
[โอกาสทอง กับ ปัญหาการรองรับ ของจังหวัดคุมาโมโตะ]
ณ เวลานี้ จึงเป็นโอกาสทองของจังหวัดคุมาโมโตะ
สภาพแวดล้อมโดยเฉพาะบริเวณรอบๆ โรงงาน
มีการเปลี่ยนแปลงในเวลาอย่างรวดเร็วครั้งยิ่งใหญ่
ทั้งความเจริญที่อาจตามมาด้วยประเด็นที่ต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไปอาทิเช่น
- มีประชากรมาอยู่ในจังหวัดคุมาโมโตะ
เพิ่มขึ้นกระทันหันจากเดิมที่เมืองคิคุโยมาจิ
มีประชากรเพียงประมาณณ 43,000 คน
และส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถส่วนตัว
เกิดการจราจรติดขัด
สถานีรถไฟที่ไร้คนให้บริการ
มีผู้ใช้บริการโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน
มีความหนาแน่นมากขึ้น ต้องเข้าแถวยาวเหยียด
มีผู้ใช้บริการรถบัสประจำทางถึงวันละ 1400 คน
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่มีคนมาใช้บริการมากขึ้น
 
แต่พบว่า ทำให้ระบบสาธารณูปโภค
การจัดสรรอำนวยความสะดวกต่างๆ
และการแก้ไขปัญหาในการขยายถนนหนทาง
การคมนาคมขนส่ง การเพิ่มเที่ยวรถประจำทาง
ในชั่วโมงเร่งด่วน การก่อสร้างสถานี JR
 แห่งใหม่เพิ่มเติม ไม่ทันต่อความต้องการ
- ภาคการบริการมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ห้องพักโรงแรมในท้องที่เต็ม ส่วนใหญ่จะเป็น
ลูกค้าสายก่อสร้างตามด้วยลูกค้าสายโรงงาน
ร้านค้าต่างๆ คึกคัก มีลูกค้าจองคิวกันหนาแน่นประจำ
เกือบทุกวัน
 
บางร้านเผยว่า ยอดขายเพิ่มขึ้น 1.5 ถึง 2 เท่า
แต่ก็เผชิญกับความต้องการแรงงานทีสูงขึ้น หรือ
เกิดสมองไหลไปอยู่ในเครือของ TSCM
ทำให้ค่าแรงที่สูงขึ้น กระทบธุรกิจกลางและย่อม
ของท้องถิ่น
งานรายชั่วโมง (Arubito) ที่เกี่ยวข้องกับ TSMC
มีค่าแรงที่มากกว่า 1,500 เยน/ชั่วโมง ถึง
2,000 เยน/ชั่วโมง ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำของ
จังหวัดคุมาโมโตะอยู่ที่ 898 เยน
จนขนานนามว่าประดุจ “ชิปฟองสบู่”
- ที่ดินที่ราคาพุ่งสูงขึ้น อสังหาริมทรัพยืกำลังเป็น
ที่ต้องการอย่างมาก
ที่ดินไม่เพียงพอต่อความค้องการ
ไร่เกษตรกรรมถูกลดทอนลงไปจากการกว้านซื้อ
เพื่อเร่งรัดก่อสร้างโรงงาน อพาร์ทเมนต์ โรงแรม
ร้านค้า อพาร์ทเม้นท์ขึ้นเป็นดอกเห็ดตามที่ต่างๆ
ที่ดินสำหรับบ้านพักอาศัย ราคาสูงขึ้น 1.5 ถึง 2 เท่า
ที่ดินสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ ราคาสูงขึ้น
เกือบ 3 ถึง 4 เท่า
ราคาที่ดินในเขตอุตสาหกรรมแพงขจากเกณฑ์
มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
ทำให้เกิดการขยายตัวไปยังเมืองโอสีที่อยู่ใกล้เคียง
ที่ดินเชิงพาณิชย์ราคากระโดดขึ้น 32.4%
แพงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ประหนึ่งภาวะฟองสบู่
 
คาดว่า จะมีบุคลากรย้ายจากไต้หวันมาพักประจำ
750 คน ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางแห่งต้องจ้าง
สต๊าฟชาวจีนเพื่อรองรับด้วย และมีแผนจะเพิ่มสต๊าฟ
ชาติอื่นๆ ด้วย
- เป็นเมืองที่มีน้ำใต้ดิน หรือ น้ำบาดาลดีมาก สะอาด
อุดมสมบูรณ์ เป็นดินที่น้ำซึมง่ายเปรียบระบบกรอง
แบบธรรมชาติ
แต่ที่ดินและแก้มดินที่กลายเป็นสิ่งปลูกสร้าง บวกกับ
ปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น
เป็นเท่าตัว พื้นที่ในการรองรับน้ำฝนที่ซึมซับลงไปใน
ดินน้อยลง ทำให้บางส่วนมองว่า น้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์
และ สะอาด อาจไม่ได้มีไม่จำกัด
ภาพ: โลโก้ของ TSMC
[ความคาดหวังทางเศรษฐกิจของจังหวัดคุมาโมโตะ]
คาดว่า โรงงาน TSMC ที่จังหวัดคุมาโมโตะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีนี้ได้ถึง 6.9 ล้านล้านเยน
โดยภายในปี 2573 คาดว่า จะทำรายได้ให้แก่บน
เกาะคิวชูได้ถึง 20 ล้านล้านเยน
ในจำนวนนี้ จังหวัดฟุคุโอกะ คาดว่าจะได้อานิสสงส์ด้วย 2 ล้านล้านเยน ช่วยส่งเสริมรายได้เศรษฐกิจท้องถิ่นทั้งร้านอาหารและภาคบริการต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง
ที่ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะการเติบโต
ที่เชื่องช้ามานานสามทศวรรษได้
[อุตสาหกรรมขิปของญี่ปุ่นออกตัวล่าช้าหรือไม่? ]
ล่าสุด พบว่า 67% ยอดขายของชิปของ TSMC
จะเป็นชิปที่มีขนาดเล็กกว่า 7 นาโนเมตร
- ประเทศที่ผลิตชิปขนาดเล็กกว่า 9 นาโนเมตร
ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลี สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์
- ประเทศที่ผลิตชิปขนาดเล็กกว่า 10-32 นาโนเมตร
ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ยุโรป
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน
- ประเทศที่ผลิตชิปขนาดเล็กกว่า 40-90 นาโนเมตร
ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน
และญี่ปุ่น
ชิปที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ขนาด 28/22 นาโนเมตร
หรือแม้จะผลิตขนาดเล็กลงกอีกเล็กน้อย จึงมางส่วน
มองว่าอาจยังล้าสมัย หรือไม่มีผลกำไร แต่ก็มองว่า
หากหยุดชะงักไป ก็จะไม่ทันการณ์ได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่กำหนดการสร้างโรงงานแห่งที่ 2 อีกใน
จังหวัดคุมาโมโตะต่อ
[เหตุใด อุตสาหกรรมชิปที่ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำ
จึงยังล้าหลัง?]
หากมองจากอดีต ญี่ปุ่นเคยมีประวัติศาสตร์ที่ขมขื่น
ในยุค 90 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิปของญี่ปุ่น
เคยครองส่วนแบ่งตลาดเหนือกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก
ในปี 2531 ญี่ปุ่นเคยครอบส่วนแบ่งของตลาดของชิปประมาณ 50% ของโลก แต่ได้ถูกสหรัฐอเมริกากีดกันทางการค้าทั้งราคาและการส่งออก
ประกอบในช่วง 30 ปีมานี้ รัฐบาลไม่ได้เสนอเงินช่วยเหลืออย่างเพียงพอ ทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรม
หดตัวลงเหลือประมาณ 10% ในปัจจุบัน ประดุจ
หายไปสามทศวรรษ
ขณะที่ไต้หวันมีรัฐบาลคอยสนับสนุนให้เงินช่วยเหลือเกือบทั้งหมด พร้อมการลดหย่อนภาษี จึงทำให้ไต้หวันผงาด ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับชั้นนำของโลกได้
ประกอบกับในช่วงโควิด-19 ระบาด เมื่อปี 2564 ชิปที่ต้องใช้ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ต่างๆ เกิดปัญหาผลิตล่าช้าจากการปิดตัวชั่วคราวของโรงงานต่างๆ หลายต่อหลายครั้งจากโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีชิ้นส่วนย่อยที่จะประกอบเป็นเซมิคอนดักเตอร์ประเภทต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการได้ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอย่างหนัก ลูกค้าต้องรอนานประมาณ 5 เดือน ถึง 1 ปี
ส่งผลทำให้ไลน์ผลิตในหลายๆ อุตสาหกรรมหยุดชะงัก กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยตรง และนำไปสู่การขาดแคลนชิปอย่างต่อเนื่องทั่วโลก บวกกับ
ความต้องการชิปในขิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ทำให้มีราคางสูงขึ้น
ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมชิปและต้องการที่จะยกระดับ
เพื่อขึ้นแท่นเป็นผู้นำชิปในการผลิตและส่งออกอีกครั้ง
[การช่วยเหลือด้านการลงทุนการผลิตชิปของแต่ละประเทศ]
ประเทศที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการผลิตชิป
อาทิเช่น
- สหรัฐอเมริกา ให้เงินช่วยเหลือ
ประมาณ 6.8 ล้านล้านเยน เป็นระยะเวลา 5 ปี
 
กรณีของสหรัฐอเมริกา มีกฎกำหนดไว้ว่า
เงินช่วยเหลือที่ให้ บริษัทจะต้องคืนเงิน
กำไรบางส่วนให้กับรัฐบาลด้วย
- ประเทศจีน ให้เงินช่วยเหลือมากกว่า 10 ล้านล้านเยน
- ประเทศญี่ปุ่น ให้เงินช่วยเหลือ 4 ล้านล้านเยน
เป็นระยะเวลา 3 ปี
ภาพ: ในพิธีเปิดโรงงานแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นของ TSMC ครั้งนี้ นายฟุมิโอ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้กล่าวแสดงความยินดีผ่านวิดีโอคอลออนไลน์
[การเชิญชวนการลงทุน]
ท่ามกลางกระแสการเชิญชวนการลงทุนในแต่ละประเทศ
รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้พยายามที่จะวางนโยบายฟื้นฟูเศรษญกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่เคยเฟื่องฟูให้กลับมาอีกครั้ง
ส่วนหนึ่ง คือ การยกระดับเป็นศูนย์รวมของการผลิตชิปของภายในประเทศญี่ปุ่น ที่ชิปกำลังเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคมนุษย์ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
นักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่า อาจต้องให้
ความสำคัญเท่าๆ กับการวางมาตรการแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำ
นอกจาก รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือเป็นเงินก้อนใหญ่แก่ TSMC พื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็จะพัฒนาและผลิตของตนเองด้วย โดยก่อตั้งบริษัท “ราพีรัส” (Rapidus)บริษัทชิปที่ก่อตั้งขึ้นที่
เกาะฮ็อกไกโด จากการร่วมทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น จำนวน 8 บริษัท
ที่ศาสตราจารย์ทาดาฮิโร คุโรดะ มหาวิทยาลัยโตเกียวและนักวิเคราะห์ที่ชำนาญเรื่องชิป ชี้ว่า
"ในระหว่างที่ประเทศอื่นกำลังแซงหน้า
อุตสาหกรรมชิปของญี่ปุ่นอยู่นี้
วิศวกรทั้งหลายก็มีการวิจัยตลอดเรื่อยมา
ณ ปัจจุบัน ก็มีบุคลากรเกือบ 100 คนที่ไปศึกษา
เล่าเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา หากได้
บุคลากรที่เป็นมันสมองสำคัญมาช่วยสร้างสรรค์
ประโยชน์เพิ่มเติม บวกกับ รัฐบาลสนับสนุน
ช่วยเหลือสนับด้วย
ก็จะทำให้บริษัทชิปอีกแห่งหนึ่ง คือ “ราพีรัส”
มีความหวังตามมา
 
การช่วยเหลือที่ต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ
พร้อมกับการสร้างคอนเนคชั่นสม่ำเสมอกับ
ต่างประเทศ และไต้หวัน จึงมีบทบาทสำคัญต่อ
การผลิตและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ
“ด้วย
[การเพิ่มความเชื่อมั่นในการขยายธุรกิจ]
จากที่ TSMC เลือกมาลงทุนที่นี่ จึงนับว่ามีบทบาท
สำคัญยิ่ง ที่เป้นความหวังของทั้งภาครัฐบาลและ
ภาคเอกชนของญี่ปุ่น
ด้วยการร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำ ที่ต้องพึ่งพาชิป
ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่มีบทบาทต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตัดสินใจทุ่มเทเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่
ทั้งการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ของ TSMC ด้วย และพยายามดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อเพิ่ม
ความเชื่อมั่นในศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานที่มีเสถียรภาพการส่งมอบที่ดียิ่งขึ้นและรองรับกรณีเกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่คืนซบเซา
มาเรื่อยๆ ให้เฟิ่องฟูอีกครั้ง
ขอขอบคุณภาพและแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากซ
worldwide-semiconductor-foundries-by-
market-share/
v=WTZiT_asKLM
กด “ไลค์ (like)”
กด “แชร์ (share)”
กด “คอมเมนท์ (comment)”
เพื่อการปรับปรุงและติดตามสาระดีๆ ต่อไป ได้ที่
โฆษณา