1 มี.ค. เวลา 08:46 • ข่าว

ภาพสยองใน ‘แอลกอฮอล์’ สยาม

ทั่วโลกแปะ ‘คำเตือนสุขภาพ’ กันยังไง?
อ่านทั้งหมดที่ https://www.voicetv.co.th/read/jjxHXlAwR
● กำลังเป็นประเเด็นร้อน สำหรับ ‘ฉลากสยอง’ บนผลิตภัณฑ์แอลกอล์ ที่กำหนดให้แสดงภาพคล้ายที่ปรากฏบนซองบุหรี่ กินพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30-50%
● ขณะนี้ (ร่างประกาศ) คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ จนถึงวันที่ 29 ก.พ. ล่าสุด ณ วันที่ 28 ก.พ. มีผู้แสดงความเห็น 1,40 ราย และไม่เห็นด้วย 87%
● นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประกาศนี้เป็นกฎหมายลูกที่ออกตาม มาตรา 26 (1) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เลื่อนมาจนปีนี้ และร่างนี้เคยนำเสนอมาตั้งแต่สมัยปี 2553 แต่ถูกปัดตกไป เนื่องจากถูกมองว่าสุดโต่ง ต่อมาในการประชุมของคณะอนุกรรมการร่างกฎหมายมีการนำเสนออีกครั้ง มีทั้งผู้เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย จึงให้เปิดรับฟังความคิดเห็น​ดูว่าประชาขนคิดเห็นเช่นไร แล้วจะนำไปพิจารณาอีกครั้ง
● ในหลายประเทศทั่วโลกก็มีความพยายามที่จะติดข้อความ ‘คำเตือน’ ด้านสุขภาพไว้บนบรรจุภันฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน แต่ยังไม่พบว่ามีประเทศใดใช้ภาพรุนแรงหรือกำหนดให้ต้องมีภาพและข้อความเตือนกินพื้นที่มาก 30% หรือ 50% ของพื้นผิวบรรจุภัณฑ์แบบประเทศไทย
● ย้อนไปที่จุดตั้งต้น ภาพสยองบน ‘ซองบุหรี่’ ของไทย มีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 2517 โดยออกกฎให้มีข้อความ ‘การสูบบุหรี่ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ’ ด้านข้างซอง จนกระทั่งปี 2548 บังคับใช้ ‘ภาพ’ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ส่วนงานวิจัยถึงผลลัพธ์ของการเตือนอย่างรุนแรงนี้ในระดับโลกก็แบ่งออกเป็น 2 ทาง ทั้งที่บอกว่าได้ผล และไม่ได้ผล
📌 สำรวจทั่วโลก ‘คำเตือน’ บนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์
● ออสเตรเลีย (2019) ข้อความเตือนเฉพาะ ‘คนท้อง’
เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ในการประชุมรัฐมนตรีออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เกี่ยวกับกฎระเบียบด้านอาหาร ได้มีการบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องติดฉลากผลิตภัณฑ์คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดื่มระหว่างตั้งครรภ์
เหตุผลเพราะในแต่ละปี ทารกในประเทศนิวซีแลนด์ประมาณ 1,800-3,000 คนเกิดมาพร้อมกับกลุ่มอาการผิดปกติจากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดาขณะตั้งครรภ์ (FASD) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจบกพร่อง ปัญหาด้านพฤติกรรม และความพิการทางสติปัญญา
หลังประกาศใช้มาตรการ ธุรกิจจำนวนมากเลือกที่จะเพิ่มฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ของตนล่วงหน้า ก่อนวันประกาศบังคับใช้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงคุ้นเคยกับการเห็นฉลากดังกล่าวบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว
● แคนาดา (2017) เคยทดลองวิจัย
ในปี 2560 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยการใช้สารเสพติดแห่งแคนาดา แห่งมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย (CISUR) และสาธารณสุขออนแทรีโอ ทำการศึกษาโดยการนำฉลากที่ระบุว่า ‘แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของมะเร็ง’ และข้อมูลเกี่ยวกับระดับการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย ไปติดบนบรรจุภัณฑ์แอลกอฮอล์ในร้านเหล้าแห่งหนึ่งของเมืองไวต์ฮอร์ส
การศึกษาพบว่า ลูกค้าที่เห็นฉลาก มีแนวโน้มที่จะจดจำข้อมูลบนฉลาก มากกว่าลูกค้าในร้านเหล้าที่ไม่ได้ติดฉลาก และยังพบว่ายอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากลดลง 6.6% ในขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากเพิ่มขึ้น 6.9%
ทว่าเพียงไม่กี่สัปดาห์ การศึกษานี้ก็ต้องหยุดชะงัด เมื่อหน่วยงานรัฐได้ดึงฉลากคำเตือนเกี่ยวกับมะเร็งออกจากชั้นวางของในร้าน อ้างถึงการคัดค้านจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของแคนาดาตลอดจนบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท้องถิ่น
การทดลองนี้ถือเป็นครั้งแรกของชาวแคนาดา และในแง่หนึ่งก็ถือเป็นครั้งแรกของโลก ในการติดฉลากขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง รวมถึงคำแนะนำระดับการบริโภค
การวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การที่วุฒิสมาชิก แพทริค บราโซ เสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติอาหารและยาเพื่อกำหนดสิ่งที่เขาเรียกว่า "การติดฉลากที่ซื่อสัตย์" อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังเคยมีงานศึกษาของ เอริน โฮบิน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากหน่วยงานสาธารณสุขออนแทรีโอ ได้ทำการทดลองติดฉลากเตือนมะเร็งบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเหล้าแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 เดือนในปี 2560 โดยโฮบินกล่าวว่า
“สิ่งที่เราเรียนรู้คือ คำเตือนเรื่องมะเร็งดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค พวกเขาอ่านคำเตือนเรื่องมะเร็งอย่างใกล้ชิด พวกเขาคิดถึงข้อความนั้น พูดคุยกับเพื่อนบ้านและเพื่อนๆ เกี่ยวกับข้อความนั้น มีการวิเคราะห์ถึงข้ออความอย่างลึกซึ้งจริงๆ และผู้คนไม่เพียงพูดถึงคำเตือนเท่านั้น แต่พวกเขาดื่มน้อยลงด้วย”
อย่างไรก็ดี ในประเทศแคดานา กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงความเสี่ยงใดๆ อย่างชัดเจน ฉลากคำเตือนด้านสุขภาพจึงควรอยู่บนบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว ทว่าปัจจุบัน อุตสาหกรรมฯ ก็ยังไม่มีคำเตือนด้านสุขภาพบนฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ครอบคลุมเพียงพอ
จากข้อมูลพบว่า ชาวแคนาดาจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ไม่ปลอดภัย และประมาณ 75% ของชาวแคนาดาที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ กว่า 40% ไม่ทราบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
ปัจจุบันจึงมีความพยายามผลักดันให้รัฐบาลกลางบังคับใช้ฉลากบังคับ ประกอบด้วยข้อมูลมาตรฐานของเครื่องดื่ม ฉลากโภชนาการ ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆ
จากการสำรวจโดย CCS ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 พบว่า ชาวแคนาดา 8 ใน 10 คน สนับสนุนการใช้ฉลากคำเตือนหรือข้อความด้านสุขภาพบนภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ แต่ก็ยังไม่มีผลักดันเป็นกฎระเบียบที่ชัดเจน
● ไอร์แลนด์ (2026) อีก 2 ปีมีฉลากเตือน
ชาวไอริชถือว่าเป็นกลุ่มผู้ ‘ดื่มหนัก’ ที่สุดในยุโรป ข้อมูลปี 2562 พบว่า เฉลี่ยแล้วดื่มแอลกอฮอล์ถึง 12.7 ลิตร เปรียบกับชาวอิตาลีที่ดื่มน้อยที่สุดในยุโรปเพียง 8 ลิตรต่อปีเท่านั้น
พฤษภาคม 2566 The Guardian รายงานว่า สตีเฟน ดอนเนลลี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไอร์แลนด์ ลงนามกฎหมายบังคับใช้การติดฉลากสุขภาพบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแจ้งเตือนผู้คนเกี่ยวกับปริมาณแคลอรี่ ปริมาณแอลกอฮอล์ ความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โรคตับ และอันตรายจากการดื่มขณะตั้งครรภ์
กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2569 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ มีเวลาในการปฏิบัติตามนโยบายนี้
นั่นหมายความว่า ไอร์แลนด์จะกลายเป็นประเทศในยุโรป ที่มีการติดฉลากสุขภาพที่ ‘ครอบคลุมบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทั้งหมด’ และเป็นประเทศที่สอง (รองจากเกาหลีใต้) ของโลก ที่แนะนำคำเตือนเกี่ยวกับ ‘มะเร็งในผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์’
ฉลากคำเตือนดังกล่าว กำหนดว่า ต้องมีข้อความเตือนเกี่ยวกับโรคมะเร็ง คำเตือนเรื่องการตั้งครรภ์ คำเตือนว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดโรคตับ ข้อมูลปริมาณแอลกอฮอล์และจำนวนแคลอรี่ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ รวมถึงรายละเอียดเว็บไซต์เกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายนี้ยังระบุรายละเอียดอีกว่า จะต้องพิมพ์ด้วยตัวหนา ฟอนต์ Times New Roman บนพื้นหลังสีขาว พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่สีแดง ข้อความจะต้องมีสัดส่วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้บนพื้นผิวที่สงวนไว้สำหรับคำเตือน โดยให้พิมพ์ด้วยแบบอักษรปกติ ถ่วงน้ำหนัก และจัดตำแหน่งไว้ที่กึ่งกลางของพื้นผิวที่สงวนไว้สำหรับคำเตือนดังกล่าว และไปในทิศทางเดียวกันกับข้อความส่วนใหญ่อื่นๆ ข้อมูลบนบรรจุภันฑ์
นโยบายนี้ จะบังคับให้ห้ผู้ผลิตแสดงข้อมูลและคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ และแจ้งให้ผู้บริโภคไปที่เว็บไซต์ Ireland’s Health Service เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเผยแพร่ในผับและสถานที่อื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตด้วย
การตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายนี้ มาจากข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ในไอร์แลนด์ ร่วมกับการที่ผู้บริโภคชาวไอริชมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับต่ำ
โดยไอร์แลนด์ได้ทำการสำรวจกับประชากร 7,000 คน พบว่า 7% เชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อยขณะตั้งครรภ์นั้นปลอดภัย และเกือบ 80% ไม่ทราบถึงความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม และยังพบว่าผู้ที่มีอายุ 15-24 ปีตระหนักถึงความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ
● สหรัฐฯ (1989) มีข้อความเตือนของรัฐบาล
สหรัฐอเมริกา กำหนดให้ติดฉลากบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศ และมีแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 0.5%
ตามพ.ร.บ.การติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 1988 กำหนดให้มีข้อความว่า
คำเตือนของรัฐบาล: (1) ตามที่ศัลยแพทย์ทั่วไปกล่าวไว้ ผู้หญิงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิด (2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถในการขับขี่รถยนต์หรือการใช้เครื่องจักรลดลง และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
นอกจากนี้ ยังกำหนดรายละเอียดว่า
> ข้อความคำเตือนด้านสุขภาพอาจปรากฏบนป้ายด้านหน้า ป้ายด้านหลัง หรือป้ายด้านข้าง
> คำว่า ‘คำเตือนของรัฐบาล’ จะต้องปรากฏเป็นตัวพิมพ์ใหญ่และตัวหนา ข้อความที่เหลืออาจไม่ปรากฏเป็นตัวหนา จะต้องปรากฏเป็นย่อหน้าต่อเนื่องกัน
> ขนาดของคำเตือน (ตัวอักษร)
ขั้นต่ำ 3 มม. สำหรับภาชนะที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ลิตร (101 ออนซ์)
ขั้นต่ำ 2 มม. สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 237 มล. (8 ออนซ์) และไม่เกิน 3 ลิตร (101 ออนซ์)
ขั้นต่ำ 1 มม. สำหรับบรรจุภัณฑ์ขนาด 237 มล. (8 ออนซ์) หรือน้อยกว่า
อ่านทั้งหมดที่ https://www.voicetv.co.th/read/jjxHXlAwR
โฆษณา