1 มี.ค. เวลา 09:30 • อาหาร

เปิดแผน 'ฮับฮาลาล' ดันภาคใต้เฟื่องฟู - คาด GDP ภาคอุตสาหกรรมเพิ่ม 1.2

การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ ‘ฮาลาล’ นั้นถูกพูดถึงมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ เพราะกลไกของเรื่องนี้มีเพียงคณะกรรมการชุดหนึ่งในกระทรวงเกษตรฯ
โอกาสในเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง เนื่องจากประชากรมุสลิมทั้งโลกมีกว่า 2,000 ล้านคน ตลาดอาหารฮาลาลจึงมีมูลค่าสูง
ขณะที่ประเทศไทย มีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารเป็นอันดับ 11 ของโลก ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฮาลาลแล้วประมาณ 166,000 รายการ
ปัจจุบัน ไทยผลิตอาหารฮาลาลเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี
ล่าสุด ครม.ปัจจุบันเพิ่งรับทราบ(ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567 - 2571) และแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีวงเงินงบประมาณ 1,230 ล้านบาท
นับเป็นการ ‘บูรณาการ’ หลายหน่วยงานให้มาอยู่ ณ จุดเดียว โดยมีวิสัยทัศน์ในการยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571
ตัวชี้วัดระยะ 5 ปี มี 2 เรื่องใหญ่
1. GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 หรือ 55,000 ล้านบาท
2.แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 100,000 คนต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2571
จากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ผ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
⚫ สาระสำคัญของแผนร่างปฏิบัติการระบุว่า
ในปี 2564 ตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5
ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 6,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น
◾กลุ่มอาหารฮาลาลธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย (เติบโตร้อยละ 12.5) เป็นต้น
◾กลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล อาหารแปรรูป (เติบโตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 8.6) เป็นต้น
ตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 62 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮาราและเอเชียใต้
ประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ได้รับตราฮาลาลกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ และ 3,500 ร้าน ตามลำดับ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7
แต่แนวโน้มดังกล่าวก็นับว่าลดลงจากช่วง 10 ปีก่อน สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่งที่มีมากกว่าประเทศไทย
⚫ ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับฮาลาลกระจายอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ เช่น กรมปศุสัตว์, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง
นอกจากนี้ หน่วยรับรองมาตรฐานฮาลาลไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่งผลต่อการรับรองมาตรฐานฮาลาลที่อาจจะล่าช้า รวมถึงอายุการรับรองมีระยะสั้นและค่าใช้จ่ายสูง
⚫ เป้าหมายของแผนฯ
(1) สร้างการรับรู้และยอมรับผลิตภัณฑ์ของฮาลาลของไทย ผ่านการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ
(2) พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เป็นศูนย์กลางเรื่องนี้ในภูมิภาคอาเซียน
(3) เพื่อลดข้อจำกัดและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งบูรณาการการทำงานหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ
⚫ เป้าหมาย (ระยะแรก)
(1) อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ (เช่น Snack Bar)
(2) แฟชั่นฮาลาล เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง
(3) ยา สมุนไพร และเครื่องสำอางฮาลาล
(4) โกโก้ฮาลาล ทั้งสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง
(5) บริการและท่องเที่ยวฮาลาล
⚫ มาตรการภายใต้แผนปฏิบัติ
มาตรการที่ 1 การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย (Demand) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาลไทย และการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ
มาตรการที่ 2 การพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Supply) ประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยต้นแบบ และการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อการส่งออก
มาตรการที่ 3 การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Ecosystems) ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Industry Center) (ศูนย์ฯ) การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit: Halal IU) การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ และการพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย
⚫กรอบการดำเนินงานของศูนย์ฯ
ในปีแรกใช้พื้นที่ของสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ฯ และในระยะต่อไป ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามตัวชี้วัด เพื่อยกระดับจัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับกรม หรือองค์การมหาชน ตามความเหมาะสมต่อไป
องค์ประกอบของศูนย์ฯ ประกอบด้วย ผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) ทำหน้าที่กำกับการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในส่วนของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ให้ยืมตัวข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทอำนวยการหรือบริหารใน อก. เพื่อปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ (ในระยะทดลอง 1 ปี) สำหรับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ ให้ยืมตัวข้าราชการ พนักงานราชการ หรือบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง [ตามข้อ (1.2) (ในระยะทดลอง 1 ปี)
โครงสร้างของศูนย์ฯ ประกอบด้วย 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และฝ่ายพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน
โฆษณา