4 มี.ค. เวลา 01:02 • ข่าว

โลกเดือดอุณหภูมิ 45 องศา 5 เขื่อนวิกฤติน้ำเหลือ 30%

ทีมกรุ๊ปคาดการณ์แล้งนี้ให้ระวังอุณหภูมิพุ่งทะลุ 40-45 องศา เหตุภาวะเอลนีโญ “ฝนน้อยน้ำน้อย” ยังคงอยู่ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม อ่างขนาดเล็กน้ำจะระเหยเร็ว ต้องหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำรองไว้ ด้านชาวนาแห่ปลูกข้าวนาปรังทะลุเกินกว่า 8 ล้านไร่ ให้เตรียมเงินสูบน้ำเข้านาไว้ได้เลย พบ 5 เขื่อนหลักน้ำน้อย “สิริกิติ์-ทับเสลา-กระเสียว-คลองสียัด-ปราณบุรี”
นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำและกรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ว่า จากแบบจำลอง IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST Model ล่าสุดของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ NOAA ระบุสภาพภูมิอากาศในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ยังคงอยู่ในภาวะฝนน้อยน้ำน้อย หรือเอลนีโญ จะเกิดต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567
แต่มีโอกาสประมาณ 79% ที่สภาพภูมิอากาศจะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือสภาวะเป็นกลาง ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน “แต่ก็เป็นเวลาสั้น” และมีโอกาสถึง 55% ที่ภูมิอากาศจะเข้าสู่ ฝนมากน้ำมาก หรือลานีญา ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 โดยอุณหภูมิของผิวน้ำทะเล ณ จุดต่าง ๆ ในเขตศูนย์สูตรตอนกลางและด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก มีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีปกติ โดยสภาวะเช่นนี้มีผลทำให้ประเทศไทยเจอทั้งเอลนีโญ ฝนน้อยน้ำน้อย ต่อเนื่องไปเป็น ภาวะลานีญา อยู่ในปีเดียวกัน
“เราจะเผชิญกับภาวะเอลนีโญ ฝนน้อยน้ำน้อย แล้ง ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดหมายฝนรายเดือน ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีฝนรวม ต่ำกว่า ค่าปกติ นั้นหมายถึง ฝนน้อย ไปจนถึงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2567 จะมีฝนรวมสูงกว่าค่าปกติ
พอเข้าถึงช่วงวันแม่ ในเดือนสิงหาคม 2567 ถึงจะมีฝนตกหนักมาก หรือเข้าสู่ภาวะลานีญา ฝนมากน้ำมาก เท่ากับเราเจอทั้งฝนน้อยน้ำน้อยช่วงต้นปีไปถึงกลางปี หลังจากนั้นช่วงครึ่งหลังจะเป็นภาวะฝนมากน้ำมาก” นายชวลิตกล่าว
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งยังอยู่ในช่วงของเอลนีโญนั้น อุณหภูมิในประเทศจะสูงขึ้นมาก มีความเป็นไปได้ว่าจะร้อนจัดถึง 40-45 องศา นั้นหมายถึง น้ำจะระเหยเร็วมาก ตรงนี้มีผลทำให้ แหล่งน้ำขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะมีน้ำน้อยลง หรือไม่มีเลย จะกระทบกับน้ำกินน้ำใช้ของผู้คนแน่ ต้องเตรียมตัวจัดหาน้ำ กักเก็บน้ำไว้ และหาแหล่งน้ำสำรองจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่
ส่วนชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง น้ำในแปลงนาจะระเหยไปเร็วมาก ทำให้ต้องสูบน้ำเข้านาเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยกับน้ำที่ระเหยออกไป ในส่วนนี้จะเกิดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/economy/news-1513677
โฆษณา