3 มี.ค. เวลา 13:54 • ข่าว

“ทีวีดิจิทัล” รายได้หด-ปลดคน-ทิ้งหุ้น ดิ้นปรับตัวสู้สื่อออนไลน์มาแรง

จะเรียกว่าอยู่ในภาวะที่ฝุ่นตลบก็คงไม่ผิดนัก สำหรับ “ทีวีดิจิทัล” ที่วันนี้ยังมีความเคลื่อนไหวให้เห็นเป็นระยะ ๆ ทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจ การเพิ่มคน-ลดคน การปรับผังรายการ การเพิ่มคอนเทนต์หรือรายใหม่ ๆ เพื่อจูงใจกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย
รวมถึงการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ เพื่อรองรับความผันผวนจากผลกระทบของสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะกับแลนด์สเคปทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไป และเม็ดเงินโฆษณาของสื่อทีวีที่ลดลงต่อเนื่องและมีสื่อใหม่ “ออนไลน์” ที่มาแรงเข้ามาเบียดแย่งเค้กก้อนโตไป ส่วนหนึ่งสะท้อนจากผลการดำเนินงานปี 2566 ของ “สื่อทีวี” ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ล้วนมีตัวเลขรายได้และกำไรที่ลดลง
สอดคล้องกับข้อมูลของนีลเส็น ที่ระบุถึงภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในประเทศไทยปี 2566 ว่า มีมูลค่ารวม 116,413 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.3% แบ่งเป็นงบฯโฆษณาสื่อโทรทัศน์มูลค่า 60,689 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 52.1% ของเม็ดเงินโฆษณาในภาพรวม ลดลง 1,988 ล้านบาท จากปีก่อน หรือลดลง 3.2% สำหรับสื่อ Internet มีเม็ดเงินโฆษณาเติบโตขึ้นเป็น 28,999 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 12.7% โดยได้มาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นจาก 22.8% ในปี 2565 เป็น 24.9% ในปี 2566
เริ่มจาก ช่อง 3 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่แม้จะเป็นผู้นำในธุกิจทีวีทั้งด้านเรตติ้งและจำนวนผู้ชม แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ไม่เอื้อ ส่งผลให้รายได้จากการขายโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของกลุ่มบีอีซี (85% ของรายได้รวม) ลดลงถึง 485 ล้านบาท หรือมีรายได้อยู่ที่ 3,963 ล้านบาท หรือลดลง 10.9% จากปี 2565
แต่อีกด้านหนึ่ง ที่ผ่านมาบีอีซีได้พยายามสร้างรายได้จากช่องทางอื่น ๆ มาทดแทน โดยเฉพาะการส่งละครไปจำหน่ายในต่างประเทศ และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม แต่เนื่องจากรายได้ดังกล่าวยังมีสัดส่วนที่ไม่มากนัก จึงทำให้ตัวเลขกำไรก็ลดลงถึง 65% หรือมาอยู่ในระดับเพียง 210 ล้านบาท หรือลดลงถึง 397 ล้านบาท จากปี 2565
รายงานข่าวจากบริษัท บีอีซี เวิลด์ ยอมรับว่า ปี 2567 นี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่ยังมีความท้าทายและมีความไม่แน่นอน บริษัทมีแผนจะปรับตัวด้วยการขยายธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากธุรกิจโทรทัศน์ที่เป็นธุรกิจหลัก เพิ่มน้ำหนักการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปยังต่างประเทศ การขยายฐานกลุ่มผู้ชมไปยังกลุ่มที่มีอายุน้อยลงซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ที่จะไปสู่การขายโฆษณาสินค้าและบริการของลูกค้าในหลากหลายช่องทางมากขึ้น เป็นต้น
ขณะที่ “ช่องวัน” ที่แม้ภาพรวมจะมีรายได้ถึง 6,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.6% โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรม การบริหารจัดการศิลปิน และการขายสินค้า ที่ล้วนเป็นพอร์ตในสัดส่วนที่ไม่มากนัก แต่รายได้จากสื่อโทรทัศน์ ที่ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนลดลงเป็น 43.5% จาก 47.2% ในปีก่อน
อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/marketing/news-1513830
โฆษณา