Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เจ้าหนูจำไม
•
ติดตาม
5 มี.ค. 2024 เวลา 04:01 • ศิลปะ & ออกแบบ
เบื้องหลังภาพวาดดังที่เกือบทำให้มีคนตายจริงๆ
โอฟิเลีย ผลงานดังของจอห์น เอเวอเรตต์ มิเลส์ - ศิลปินชาวอังกฤษอาจเป็นงานศิลปะที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากละครแนวโศกนาฏกรรมเรื่องแฮมเลตของวิลเลียม เชกสเปียร์ แรกเริ่มเดิมทีงานของเชกสเปียร์เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความนิยมมากสำหรับศิลปินยุควิกตอเรีย บทประพันธ์เรื่องแฮมเลตถูกหยิบมาถ่ายทอดหลายครั้ง
ส่วนมากมักเป็นฉากก่อนโอฟิเลีย - นางเอกของเรื่อง จะปล่อยตัวเองให้จมน้ำตายเพราะความเศร้า แต่ในผลงานของมิเลส์ เขากลับเลือกนำเสนอช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นความตายของโอฟิเลีย โดยนำเสนอจิตใจที่แตกสลายของเธอออกมาผ่านสีหน้าและท่าทางได้อย่างจับใจ
โอฟิเลียเป็นนางเอกในบทประพันธ์เรื่องแฮมเลต และเป็นคนรักของพระเอกซึ่งใช้ชื่อเดียวกันกับบทประพันธ์ โอฟิเลียเป็นหญิงสูงศักดิ์ผู้เชื่อฟังอยู่ใต้คำสั่งของบิดา เมื่อบิดาสั่งให้เธอเลิกยุ่งกับแฮมเลตเสีย เนื่องจากเขาเป็นสายเลือดของกษัตริย์พระองค์ก่อนซึ่งถูกสังหารไป โอฟิเลียก็ได้แต่ทำตามทั้งที่ใจยังรักแฮมเลตอยู่ ต่อมาเมื่อแฮมเลตคิดจะแก้แค้นให้บิดาโดยแกล้งบ้าเพื่อสืบหาฆาตกรตัวจริง เขาก็กลับลงมือฆ่าบิดาของโอฟิเลียด้วยความเข้าใจผิด
โอฟิเลียเสียใจจากการตายของบิดาแต่ในใจก็ยังรักแฮมเลตอยู่ เธอเปลี่ยนจากหญิงสาวผู้สวยงามสดใสเข้าสู่ความสิ้นหวังกระทั่งเสียสติ หลังพลัดตกลงไปในน้ำระหว่างการเก็บดอกไม้ จิตใจที่บอบช้ำของโอฟิเลียทำให้เธอตัดสินใจมอบชีวิตให้กับสายน้ำ นำไปสู่ความตายโดยไร้การขัดขืน เช่นเดียวกับชีวิตของเธอซึ่งเป็นไปตามการกระทำของคนอื่นโดยไม่อาจเลือกเองได้
การตายของโอฟิเลียได้รับการบรรยายผ่านบทละครว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่สวยงามและสุขสงบ มันคือบทสรุปของความรักที่จบลงด้วยการพลัดพราก เมื่อจอห์น เอเวอเรตต์ มิเลส์ตัดสินใจที่จะถ่ายทอดฉากนี้ลงในภาพวาด เขาต้องการแสดงเสี้ยววินาทีแห่งความตายของโอฟิเลียออกมาอย่างสมจริง โดยให้นางแบบของเขาสวมชุดโบราณ ลอยตัวอยู่ในอ่างน้ำเป็นเวลานานกระทั่งสีหนาของเธอซีดเซียว โศกเศร้า เหมือนจะขาดใจจริงๆ
นางแบบในภาพนี้คือเอลิซาเบธ ซิดดาล เธอเกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานแต่มีความสนใจด้านศิลปะและอยากจะเข้าวงการในฐานะศิลปิน อย่างไรก็ดีเนื่องจากเอลิซาเบธเป็นผู้หญิง แถมอยู่ในชนชั้นที่ต่ำกว่า เธอจึงไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก บรรดาจิตรกรในยุคนั้นมักใช้เธอเป็นแบบภาพเนื่องจากบุคลิกอันโดดเด่น ดูอมทุกข์ เอลิซาเบธมีรูปร่างสูงโปร่ง เส้นผมสีแดงสด เธอเป็นแบบภาพให้ศิลปินชื่อดังหลายท่านเพื่อหวังว่าเธอจะได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในวงการศิลปะอย่างแท้จริง
ในระหว่างที่วาดภาพนี้ เอลิซาเบธต้องนอนแช่ในอ่างน้ำซึ่งมีตะเกียงน้ำมันรองอยู่ใต้อ่างเพื่อเพิ่มความอบอุ่น อย่างไรก็ดี มิเลส์ใช้เวลาวาดภาพนี้นานกว่าที่คิด เอลิซาเบธต้องมาเป็นแบบซ้ำๆ เป็นเวลานานถึงสี่เดือน
กระทั่งลอนดอนเข้าสู่ฤดูหนาวอันแสนเย็นยะเยือก เอลิซาเบธป่วยหลายครั้งในระหว่างการเป็นแบบภาพ แต่ก็ยังไม่ละทิ้งงานของตน วันหนึ่งในระหว่างการแช่น้ำ ตะเกียงน้ำมันเกิดดับลงจนทำให้น้ำเย็นขึ้นอย่างรวดเร็ว เอลิซาเบธอดทนต่อความหนาวแทบขาดใจและในขณะนั้นเอง มิเลส์ก็ได้สีหน้าในแบบที่เขาต้องการ
หลังทนทรมานในอ่างน้ำเย็น เอลิซาเบธป่วยเป็นโรคปอดบวม ครอบครัวของเธอขอให้ศิลปินรับผิดชอบค่ารักษา ปรากฏว่ามิลส์มอบเงินให้ครอบครัวเอลิซาเบธ 50 ปอนด์ หรือประมาณ 6,000 ปอนด์ตามค่าเงินในปัจจุบัน (ประมาณสองแสนเจ็ดหมื่นบาท)
โอฟิเลียในเวอร์ชั่นของมิเลส์ถือเป็นงานชิ้นเอกของศิลปินในกลุ่ม Pre-Raphaelite Brotherhood
หรือกลุ่มจิตรกรหนุ่มผู้ต่อต้านแนวศิลปะแบบจารีตนิยม แต่สนใจการสร้างสรรค์งานยุคก่อนราฟาเอลที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและสีสันอัดจัดจ้าน มักหยิบเอาเรื่องราวในยุคกลางหรือบทกวีต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของภาพนี้ คือตัวศิลปินเลือกที่จะวาดฉากหลังของภาพก่อน แล้วจึงเว้นช่องว่างเพื่อวางนางแบบของเขาลงไป บรรยากาศตามธรรมชาติที่มิเลส์วาดขึ้นอ้างอิงจากทิวทัศน์ที่มีอยู่จริง ดอกไม้ที่ศิลปินวาดลงไปในภาพ ล้วนนำเสนอสภาพจิตใจของโอฟิเลียในช่วงสุดท้ายและยังเป็นตัวแทนเรื่องราวในชีวิตของเธออีกด้วย ดอกไม้ในภาพได้แก่
💐ฟริติลลารี หมายถึง ความเศร้า
💐ฟอร์เก็ตมีน็อต หมายถึง ความรักและการระลึกถึงไม่เสื่อมคลาย
💐เพนซี่ หมายถึง ความรักที่เปล่าประโยชน์/รักที่ไม่ได้รับการตอบกลับ
💐Stinging nettles (หรือตำแยฝรั่ง) หมายถึง ความเจ็บปวด
💐กุหลาบ หมายถึง ความรัก ความงาม และวัยเยาว์
💐เดซี่ หมายถึง ความบริสุทธิ์
💐ไวโอเล็ต หมายถึง ความรักและความซื่อสัตย์
💐บัทเทอร์คัพ หมายถึง ความสดใสอ่อนต่อโลก
💐ป๊อปปี้ หมายถึง การหลับใหลและความตาย
ในบรรดาดอกไม้ทั้งหมดนี้ ดอกป๊อปปี้ไม่ปรากฏอยู่ในบทละครต้นฉบับ แต่ในช่วงเวลาที่ภาพนี้ถูกวาดขึ้น ดอกป๊อปปี้มีความหมายไม่ดีนัก สื่อถึงดอกฝิ่นทำให้เกิดอาการหลอนประสาท ขาดสติ นำไปสู่ความตาย ดอกไม้เหล่านี้พาเราไปรู้จักโอฟิเลย จากเด็กสาวสดใสที่มีความรัก ไปจนถึงการแตกหักทางจิตใจในตอนท้าย เมื่อเธอร้องเพลงเกี่ยวกับดอกไม้ชนิดต่างๆ หยิบมันมาไว้แนบกายก่อนตกลงไปในสายน้ำที่พาชีวิตของเธอจมหายไปจนชั่วนิจนิรันดร์…
กลับมาที่เรื่องนางแบบของเรา เอลิซาเบธเป็นแบบภาพที่โด่งดังมากในหมู่กลุ่มศิลปินผู้นิยมแนวคิดก่อนราฟาเอล คนรักของเธอเองก็เป็นศิลปินในกลุ่มนี้นามว่าดานเต เกเบรียล รอสเซ็ตติ ต่อมาแม้ทั้งสองจะได้แต่งงานกัน
และเอลิซาเบธกลายเป็นศิลปินหญิงเพียงคนเดียวที่ได้จัดแสดงงานศิลปะของเธอร่วมกับกลุ่มศิลปินของสามีเมื่อปี 1857 แต่ชีวิตหลังแต่งงานของเอลิซาเบธกลับไม่สดใสนัก นอกจากรอสเซ็ตติจะขอให้เธอเลิกเป็นนางแบบเสีย หากต้องเป็นแบบภาพ ก็ต้องเป็นงานของเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น ครอบครัวของฝ่ายชายก็ยังไม่ยอมรับเอลิซาเบธที่มาจากชนชั้นแรงงาน มีอาชีพเก่าเป็นแค่พนักงานขายหมวกในร้านค้า
ส่วนตัวของรอสเซ็ตติผู้เป็นสามี ก็ใช่ว่าจะใส่ใจสนับสนุนภรรยาให้เป็นศิลปินอย่างเต็มตัว งานส่วนใหญ่ของเอลิซาเบธทั้งบทกวีและภาพวาด ล้วนเป็นงานที่เธอศึกษาและเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ รอสเซ็ตติยังมีนิสัยที่ไม่ดีนักคือเขาเป็นคนเจ้าชู้มาก มักมีความสัมพันธ์กับนางแบบในงานของตัวเองไปทั่ว ในเวลาต่อมาเอลิซาเบธกลับมามีปัญหาสุขภาพอีกจนทำให้ต้องเดินทางออกจากลอนดอนไป
ความจริงที่ว่าเธอป่วยเป็นโรคอะไรไม่กระจ่างชัด เป็นไปได้ว่าเธออาจป่วยเป็นวัณโรคและต้องใช้ยาที่ทำมาจากฝื่น เรียกกันว่า laudanum หรือยาฝิ่นที่นำมาผสมแอลกอฮอล ต่อมาเอลิซาเบธใช้ยาเกินขนาดทำให้ถึงแก่ความตายในวัยเพียง 32 ปีเท่านั้น
การตายของเอลิซาเบธนำไปสู่ข้อถกเถียงว่าเธออาจจงใจใช้ยาเกินขนาดเพื่อพาตัวเองไปสู่ความตาย รอสเซ็ตติปฏิเสธในเรื่องนี้เพราะการฆ่าตัวตายเป็นบาปหนักทางศาสนา กระทั่งมีข่าวลือว่าเขาแอบทำลายจดหมายลาตายของภรรยาเพราะไม่อยากให้เป็นข่าวฉาว
เมื่อเรามองไปที่ความตายของเอลิซาเบธทับซ้อนกับโศกนาฏกรรมของโอฟิเลีย เราอาจพบความคล้ายกันอันน่าเศร้าระหว่างหญิงสาวทั้งสอง โอฟิเลียเป็นเหยื่อของสถานการณ์ซึ่งเกิดจากการกระทำของชายรอบๆ ตัว ส่วนเอลิซาเบธนั้น การเกิดในชนชั้นแรงงานแถมเป็นสตรีทำให้เธอมีทางเลือกในชีวิตน้อยมาก จนถึงปัจจุบันผู้สนใจศิลปะจำนวนมากล้วนจดจำเอลิซาเบธ ซิดดาลในฐานะนางแบบคนงามและภรรยาผู้โชคร้ายของรอสเซ็ตติ ไม่ใช่ในฐานะศิลปินซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของเอลิซาเบธตลอดช่วงชีวิตอันแสนสั้น
ชมภาพวาดฝีมือเอลิซาเบธและภาพที่มีเธอเป็นแบบได้ในกล่องข้อความ
References:
john everett millais - ophelia painting analysis
https://www.youtube.com/watch?v=csJJWjtiRYY
Ophelia
https://www.tate.org.uk/art/artworks/millais-ophelia-n01506?fbclid=IwAR3IZJU7yiDcPLlGieukpW8mscShS4ERxcEXr8h7-RNuPv6916R_njs6w9Q
Story behind… Ophelia
https://medium.com/museio/story-behind-ophelia-e1e8370a6e69
This Painting Almost Killed Her
https://www.youtube.com/watch?v=RQOdl64DtdI&t=193s
A-Level Revision: Hamlet - Character Analysis of Ophelia
https://www.youtube.com/watch?v=Kc0-rZf8nTA
Hamlet and Revenge
https://www.youtube.com/watch?v=UQ-i3dOu2jU
ข่าวรอบโลก
ข่าว
ธุรกิจ
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย