5 มี.ค. เวลา 11:54 • ข่าวรอบโลก

ทำไมฟิลิปปินส์ ดินแดนเพื่อนบ้านพันเกาะ

ที่ยังคงยากจนแล้ว จนอีก จนต่อไป แม้ภาษาอังกฤษดี
แต่ผู้คนเก่งๆ เลือกย้ายไปทำงานต่างประเทศกันหมด
1
ในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน จะมีประเทศหนึ่งที่มักถูกมองว่าเป็นฝาแฝดของประเทศไทย ทั้งหน้าตา นิสัยใจคอของผู้คน รวมถึงโครงสร้างทางสังคม ประเทศนั้นก็คือฟิลิปปินส์
1
อย่างที่ทราบกันว่าดินแดนพันเกาะแห่งนี้ เคยเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาอยู่หัวแถวของเอเชียมาก่อนในช่วงยุค 1950 - 1960 เป็นรองเพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น
อีกทั้งในยุคสมัยหนึ่งราว 50 -60 ปีที่แล้วครอบครัวของคนไทยที่พอมีอันจะกินส่วนใหญ่ที่มักส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศ หากไม่ใช่ที่ยุโรป หรืออเมริกา ฟิลิปปินส์ก็มักจะเลือกในลิสต์เช่นกัน เพราะด้วยการเดินทางที่ไม่ได้ไกลมาก ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง แต่มีระบบการศึกษาที่ถูกวางรากฐานอย่างดีโดยสหรัฐ หนึ่งในอดีตเจ้าอาณานิคม ทำให้พื้นฐานภาษาอังกฤษของฟิลิปปินส์อยู่ในเกณฑ์ระดับสูง และวิทยาการความรู้ต่างๆ ก็นำหน้าหลายประเทศในเอเชีย
แต่ปัจจุบัน ความเจริญของฟิลิปปินส์กลับตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แทบจะหลุดลงไปแข่งขันกับประเทศท้ายตารางในภูมิภาคอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมา แม้แต่เวียดนามก็เริ่มแซงหน้าฟิลิปปินส์ในหลายๆ ด้านแล้ว
อีกทั้งยังไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากเพียงพอ แม้คนในชาติจะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ทั้งประเทศ แต่ระดับการพัฒนากลับตามหลังชาติอื่น และไม่ได้โดดเด่นน่าสนใจในสายตาชาวโลก
ดังนั้นในบทความนี้เราจะพาไปมองถึงโครงสร้างทางสังคมของประเทศนี้ว่า ทำไมฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเทศที่จนแล้ว จนอีก จนต่อไป เราเล่าให้ฟัง
สำหรับฟิลิปปินส์แล้ว ประเทศนี้ต้องเผชิฐกับปัญหาต่างเยอะแยะมากโดยเฉพาะด้านสังคม และคุณภาพชีวิต จริงอยู่ที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ในการสื่อสาร ควบคู่ไปกับภาษาฟิลิปิโน่ และภาษาถิ่นอื่นๆ แต่ระบบการศึกษา และคุณภาพด้านอื่นๆ ในประเทศยังค่อนข้างล้าหลังกว่าหลายชาติในอาเซียนและไม่ครอบคลุม
เริ่มที่รากฐานของการพัฒนาคน พัฒนาชาติคือระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐที่ค่อนข้างแออัด ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรนับร้อยล้านคนบนพื้นที่เพียง 2 ใน 3 ของประเทศไทย หรือราว 300,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นหมู่เกาะจำนวนมากกว่า 7,000 แห่งที่ไม่ได้เชื่อมเป็นแผ่นดินเดียวกัน
เมื่อจำนวนเด็กมีมากกว่าจำนวนโรงเรียน ทำให้เด็กนักเรียนฟิลิปปินส์ต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเพื่อสลับเวลากันเรียนแบบคาบเช้า คาบบ่าย
โดยคาบเช้าเริ่มตั้งแต่ 8:30 - 12:00 เมื่อเด็กกลุ่มนี้เรียนเสร็จก็ต้องกลับบ้าน เพื่อให้ที่นั่งเรียนของเด็กนักเรียนในกลุ่มภาคบ่ายที่จะเริ่มตั้งแต่ 13:00 - 17:30 มาเรียนต่อ ซึ่งการจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ก็เนื่องจากว่า ห้องเรียน ที่นั่งเรียน และจำนวนครูไม่พอจากจำนวนประชากรล้นประเทศ
1
ปัญหาเหล่านี้จะพบเห็นได้ชัดเจนสุดกับโรงเรียนรัฐบาล และคุณภาพเด็กของโรงเรียนรัฐมักสู้เอกชนไม่ได้ เนื่องจากการที่จะเรียนในโรงเรียนเอกชนได้ต้องเป็นครอบครัวที่มีฐานะดีระดับหนึ่ง เนื่องจากค่าเล่าเรียนค่อนข้างสูงและคุณภาพการเรียนการสอน อุปกรณ์ หรือบุคลากรดีกว่า
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยโรงเรียนรัฐบาลชื่อดังต่างเป็นเป้าหมายของการสอบเข้าให้ได้ของเด็กทุกกลุ่มทุกชนชั้น ไม่ว่าจะรวยจะจน ก็เลือกที่จะสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังของรัฐให้ได้
แต่ที่ฟิลิปปินส์คือตรงกันข้าม โรงเรียนรัฐบาลไม่ได้มีมาตรฐานการเรียนการสอนดีขนาดที่จะสอบแย่งเข้ากัน คนมีเงินส่วนใหญ่ส่งลูกเข้าเอกชนหมด โรงเรียนรัฐมีไว้สำหรับคนรายได้น้อยเป็นหลัก ส่วนสภาพห้องเรียน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็ค่อนข้างทรุดโทรม แม้แต่ห้องเรียนติดเครื่องปรับอากาศดีๆ สักแห่งก็ยังหาได้ไม่ง่ายในกรุงมะนิลา
เมื่อก้าวขึ้นสู่ระดับมหาวิทยาลัย ฟิลิปปินส์มีระบบการเรียนการสอนที่ยังค่อนข้างมีคุณภาพน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เวียดนาม ต่างก็มีมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพการศึกษาสูงติดระดับโลก Top 100 - 200 กันมากมายหลายแห่ง
แต่ฟิลิปปินส์กลับมีเพียงแค่แห่งเดียว แล้วก็อยู่อันดับ 300++ อีกด้วยด้วย ที่เมื่อเรียนจบแล้วไม่ต้องไปสอบวัดผลการศึกษาใหม่เพื่อเข้าทำงานโดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งก็คือ UP หรือ University of Philippines ส่วนอีกหลายแห่งที่เหลือแทบไม่ได้คุณภาพตามมาตราฐานเทียบเท่าเพื่อนบ้าน
อันที่จริงแล้วฟิลิปปินส์มีมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตั้งอยู่ก็คือ University of Santo Tomas ที่เปิดสอนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1611 แต่ก็ยังไม่ติด Top Ranking ด้านคุณภาพระดับโลก ยิ่งเป็นศาสตร์ด้านการแพทย์ หรือวิศวกรที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพด้วยแล้ว แทบไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไหร่ หมอฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยกลับเป็นได้เพียงพยาบาลในสหรัฐค่อนข้างมาก เพราะคุณภาพไม่ถึงตามมาตรฐาน ตรงกันข้ามกับแพทย์ไทย สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ที่กลับได้รับการยอมรับในเรื่องของฝีมือและงานวิจัยในระดับนานาชาติจนเป็นเรื่องปกติ
1
ส่วนเรื่องจำนวนประชากรมีผลอย่างยิ่งต่อสังคมฟิลิปปินส์ เพราะการที่ผู้คนส่วนใหญ่ราว 95% นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ศาสนจักรคาทอลิกแห่งมะนิลาก็คัดค้านความเชื่อในเรื่องการคุมกำเนิด ทั้งๆ ที่วาติกันเองก็อนุญาต แต่ศาสนจักรคาทอลิกในฟิลิปปินส์ค่อนข้างเป็นเอกเทศจากวาติกัน และยึดมั่นในความเชื่อดั้งเดิม สุดท้ายประชากรขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา ไม่มีการป้องกันระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ผู้คนก็เกิดใหม่จนล้นประเทศ
จากข้อมูลของโครงการร่วมเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNIAIDS ระบุว่า ในปี 2021 ฟิลิปปินส์มีอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เอชไอวี/เอดส์ เติบโตรวดเร็วมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ในช่วงหกปีที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นถึง 140% และชาวฟิลิปปินส์ยังไม่มีการให้ความรู้ระดับประเทศเรื่องวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างได้ผล อีกทั้งยังมีกฎหมายห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ซื้อถุงยางอนามัยและตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นอุปสรรค์อีกด้วย
จำนวนประชากรล้นเกาะ ผนวกกับโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำและทรุดโทรม ก็เกิดปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามมา ซึ่งรัฐบาลก็พยายามรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดมาตลอด แต่ศาสนจักรมักกระโดดขวางเรื่องนี้ตลอด อีกทั้งยังทรงอิทธิพลสูงมากต่อทั้งการเมือง และสังคม และคนฟิลิปปินส์ก็มีความเชื่อต่อศาสนจักรสูง
ดังนั้นความเชื่อเรื่องการไม่ควรคุมกำเนิดหรือป้องกันมันฝังรากลึกไปแล้ว เมื่อประกอบกับการใส่ข้อมูลความเชื่อว่า เด็กทุกคนมีสิทธิ์ได้เกิดไม่ควรควบคุม เพราะถือเป็นประสงค์ของพระเจ้า ฉะนั้นเราจึงเห็นว่ามีเด็กเกิดในสลัมจำนวนมาก หลายครอบครัวมีลูกกัน 6-7 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยุ่ในฐานะยากจน ประชากรเลยทะลุไปที่ 110 ล้านคน ทั้งที่พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยแคบและเล็กกว่าประเทศไทย
เมื่อเด็กคนหนึ่งจะเกิดมาก็ต้องมีความพร้อมในการดูแลเด็กตั้งแต่แรกคลอด โดยโรงพยาบาล Dr. Jose Fabella Memorial ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเด็กที่คนฟิลิปปินส์นิยมมาคลอดลูกกัน ที่นี่สภาพแวดล้อมค่อนข้างย่ำแย่มาก แม่หนึ่งคนต้องแชร์เตียงกับแม่คนอื่นๆ 3-4 คน เลี้ยงลูกกันคนละมุมเตียง และไม่ใช่แค่โรงพยาบาลนี้เท่านั้น โรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ก็มีลักษณะคล้ายกัน พยาบาลในแผนกเด็กทำงานกันค่อนข้างหนัก ไม่ต้องพูดถึงการเข้ามาเฝ้าของญาติ เพราะไม่มีที่ให้อยู่ แค่แม่กับเจ้าหน้าที่ก็แทบล้นหวอดแล้ว
จากข้อมูลของ Social Weather Stations (SWS) เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเชิงสังคมและติดตามอัตราความยากจนในประเทศฟิลิปินส์พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมด ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนติดต่อกันหลายปี รายงานระบุอีกว่า 45% ของครอบครัวชาวฟิลิปปินส์ให้คะแนนตัวเองอยู่ในระดับยากจน
ส่วน Octa ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอีกแห่งหนึ่งยังรายงานว่าประมาณครึ่งหนึ่งของครอบครัวชาวฟิลิปปินส์คิดว่าตัวเองยากจนในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2023 การสํารวจซึ่งดําเนินการระหว่างวันที่ 22 - 26 กรกฎาคม พบว่าครึ่งหนึ่งของจํานวนครอบครัวชาวฟิลิปปินส์ทั้งหมดที่สํารวจ หรือประมาณ 13.2 ล้านครัวเรือน ให้คะแนนตัวเองยากจน นั่นคือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของคนจนทั้งหมดจากประมาณ 11.3 ล้านครอบครัวหรือ 43% ที่บันทึกไว้ในเดือนมีนาคม
ส่วนการสํารวจรายได้และรายจ่ายของครอบครัวล่าสุดโดยสํานักงานสถิติฟิลิปปินส์ (PSA) แสดงให้เห็นว่าชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ 58.4% อยู่ในชนชั้นที่มีรายได้ต่ํา ในขณะที่ชนชั้นกลางประกอบด้วยประชากรประมาณ 40% และมีชาวฟิลิปปินส์เพียง 1.4% เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูง
อีกเรื่องคือปัญหาสมองไหลของพลเมือง กล่าวคือคนเก่งๆ มีความสามารถ การศึกษาดี ก็เลือกที่จะดิ้นรนพยายามออกไปทำงานนอกประเทศที่มีรายได้สูงกว่ามาก เพราะรายได้เริ่มต้นในประเทศค่อนข้างต่ำ เช่น พยาบาลเงินเดือนเริ่มต้นแค่ 7,000 บาท ครู 6,500 บาท วิศวกร 12,000 บาท แต่ค่าครองชีพอาจเทียบเท่าหรือแพงกว่าในกรุงเทพแล้ว
เพราะสินค้าต่างๆ ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าทั้งหมด แม้แต่ข้าวสารที่เป็นอาหารหลัก เนื่องจากการผลิตข้าวในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภค ผลผลิตก็ไม่ค่อยมีคุณภาพ เพราะขาดทักษะการปลูกข้าวเชิงนวัตกรรม ดังนั้นรายจ่ายด้านการครองชีพจึงไม่สัมพันธ์กับรายได้ที่แสนจะน้อยนิด
และถ้าเป็นไปได้เมื่อไปอยุ่ต่างประเทศก็มักจะขอให้ได้แต่งงานหรือได้สัญชาติในประเทศอื่นไปเลย ไม่มีใครอยากกลับไปฟิลิปปินส์ เอาแค่ทำงานส่งเงินกลับมาให้ที่บ้านก็พอ
เมื่อคนเก่งๆ ไหลออกไปนอกประเทศหมด ก็ไม่เหลือทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมากเพียงพอจะขับเคลื่อนพัฒนาชาติ เหลือไว้เพียงคนแก่ หรือคนที่ไม่ได้มีคุณภาพมากเพียงพอที่เกิดจากความไม่พร้อมของครอบครัวที่ยากจนทิ้งเอาไว้
ในแต่ละปีแรงงานฟิลิปปินส์ต่างออกไปขายแรงงานราว 2 ล้านคน และทั่วโลกมีแรงงานฟิลิปปินส์อยู่ราวๆ 8 ล้านคน มากสุดคือแถบตะวันออกกลาง รองลงมาเป็นอเมริกา ยุโรป ประกอบอาชีพตั้งแต่แม่บ้าน รปภ พยาบาล พนักงานโรงแรม ไปจนถึง วิศวกร และผู้บริหาร ส่งเงินกลับประเทศราว 1.3 ล้านล้านบาทนี้ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 9% ของ GDP ฟิลิปปินส์ ในปี 2022
ถือว่าเป็นการส่งออกที่มูลค่ามหาศาลในด้านเม็ดเงิน แต่นี่คือก็คือปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขในการยกระดับประเทศได้ เพราะแรงงานที่ส่งเงินกลับประเทศจำนวนมาก แทบเป็นรายได้หลักของประเทศ หากรัฐบาลจะรื้อโครงสร้างตรงนี้ออกไป รัฐก็สูญเสียรายได้ไม่น้อย เลยไม่มีใครกล้าเปลี่ยนระบบ
อีกทั้งการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์โพ้นทะเลมีมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ยังช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคของคนในประเทศ
ยังไม่รวมมิติอื่นๆ อีกมากมายทั้งการขาดแคลนอาหาร ปลูกข้าวไม่พอกับจำนวนประชากร จนต้องนำเข้าข้าวโดยแหล่งนำเข้าหลักคือจากไทย ฝีมือแรงงานในประเทศสู้ที่อื่นไม่ได้ อาชญากรรมสูง สาธารณูปโภคพื้นฐานย่ำแย่ ภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง และการทุจริตคอรัปชั่นที่บอกเลยว่าโกงกันแบบซึ่งหน้า ไทยที่ว่าโกงแล้วทักษะเทียบเท่ากับระดับอนุบาลไปเลยเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ ดังนั้นการได้ภาษาอังกฤษระดับเจ้าของภาษาใช่ว่าจะทำให้ประเทศพัฒนา หรือว่าพาให้ตัวเองหลุดพ้นจากความยากจน
1
หลายคนบอกว่าในอดีตฟิลิปินส์เจริญกว่าไทยมากก็ไม่ผิด แต่เจริญด้วยการเป็นชาติที่อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมของตะวันตก ทั้งเป็นอาณานิคมของสเปนมา 329 ปี แล้วมาเป็นอาณานิคมอเมริกาอีกเกือบร้อยปี ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเจ้าอาณานิคมได้วางระบบไว้ให้หมดแล้วทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และรูปแบบสังคม
แต่พอวันที่มหาอำนาจถอยออกไป ประเทศที่คนท้องถิ่นซึ่งไม่เคยปกครองตัวเองเลยมาเป็นเวลา 400 กว่าปี คิดดูว่าสภาพจะเป็นยังไง เมื่อก่อนฝรั่งบอกซ้ายหันขวาหัน แต่พอมาปกครองตัวเองแล้วทุกอย่างที่เคยดี ในวันนี้มันก็ไม่ใช่ เพราะบริหารกันไม่เป็น เกิดแย่งชิงอำนาจกัน เกิดการคอรัปชันมากมาย เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมฟิลิปปินส์ถึงยังถอยหลังลงคลองมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะอดีตที่เคยดีก็ได้จากการที่เป็นเมืองขึ้น ไม่ใช่ดีเพราะตัวเอง
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเพื่อนบ้านพันเกาะแห่งอาเซียนยังคงจนแล้ว จนอีก และจนต่อไป...
โฆษณา