Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สัตตวิฬาร์ บทความจิตวิทยา ปรัชญา นิยาย
•
ติดตาม
8 มี.ค. 2024 เวลา 06:12 • หนังสือ
รีวิว จิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์
หลังจากอ่านของ Sigmund Freud ไปได้ค่อนเล่ม ผู้เขียนเหมือนถูกยิงให้สลบเหมือดไปด้วยยาระงับประสาทขนาดรุนแรง ไมเกรนขึ้นหัวจนน็อคไปแบบไม่อาจฝันอะไรได้อีกเลย ด้วยภาษาที่สลับซับซ้อน ฟุ่มเฟือย เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิค การประดิษฐ์คำใหม่ขึ้นอย่างสร้างสรรค์ และการอธิบายย้ำในเนื้อความเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ซึ่งบ่งบอกถึงบุคลิกภาพของเขาที่ค่อนข้างจะเป็นไปในทางย้ำคิดย้ำทำ ขณะเดียวกันก็ฉลาดล้ำลึก)
เนื้อหาที่ฟรอยด์เขียนนั้นดีมาก แต่กลืนได้ยากยิ่ง ทำให้คลื่นเหียนเหมือนโดนใครเอาจับใส่กล่องแล้วเขย่าๆจนงุนงงสับสนไปหมด (จากการนินทาอาจารย์ของจุงผ่านอัตชีวประวัติของเขา กล่าวว่ามาสเตอร์ หรืออาจารย์ของเขา ซึ่งก็คือฟรอยด์เป็นคนที่ชอบครอบงำความคิดคนอื่นด้วยวาทะที่สลับซับซ้อน ย้ำคิดย้ำทำ และใช้วิธีการที่ชวนให้เกิดความสับสนอลหม่านทางจิต จนทำให้เขาอึดอัดเหมือนมีถ่านเผาอยู่ในท้อง)
อย่างไรก็ตาม พอจะจับใจความได้ว่า วิธีตีความความความฝันของผู้เขียนค่อนข้างไปถูกทาง และดียิ่งเมื่อทำควบคู่ไปกับการแต่งบทกวี ที่ทุกอย่างไหลลื่นมาจากใต้มโนสำนึก
ผู้เขียนเคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นงานร่วมสมัย นัยความว่า ผู้ประพันธ์กวีนั้นจะรู้สึกเหมือนได้สัมผัสกับจิตไร้สำนึกขณะที่เขียนกวี เพราะถ้อยคำต่างๆนั้นมีการ flow หรือไหลลื่นออกมาเอง จากสมองสู่มือ โดยมีการกลั่นกรองผ่านกระบวนการคิดน้อย (กว่าการเขียนร้อยแก้ว) ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเพราะการเขียนแบบปกตินั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสื่อความให้ผู้อ่านเข้าใจมากที่สุด โดยง่ายที่สุด ภาษาจึงต้องผ่านกระบวนการคิดแล้วว่าจะเรียงประธาน กิริยา กรรม และอนุประโยคอย่างไร ให้สามารถสื่อสารถึงผู้รับได้ตรงกันมากที่สุด
ความเรียงหรือร้อยแก้วเลยเป็นเรื่องของจิตสำนึกและความคิด มากกว่าร้อยแก้วซึ่งเป็นกระบวนการปล่อยไหล ถ้าไม่ยึดติดกับผังมากเกินไป การเขียนร้อยกรองแบบไร้ฉันทลักษณ์หรือ freeverse นั้นก็เป็นหนึ่งในกระบวนการบำบัดที่ดี ไม่ต่างจากการทำงานศิลปะเช่น จิตกรรม หรือ ประติมากรรม อีกทั้ง การคิดคำยังมีความเชื่อมโยงกับรูปแบบการวิเคราะห์ทางจิตแบบ association
คือ เมื่อเราพูดคำๆหนึ่ง ให้อีกคนพูดคำอีกคำหนึ่งต่อจากคำนั้นโดยเร็วที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องคิดว่าคำนั้นจะเชื่อมโยงกันหรือไม่ จะสำแดงการเชื่อมโยงระหว่างจิตใจของคนๆนั้นกับสัญลักษณ์หรือความหมายโดยนัยของคำ
เช่น พูดคำว่าผู้ชาย ต่อด้วยม้า พูดคำว่าอำนาจ ต่อด้วยรถ เป็นต้น แม้แต่การลังเลเป็นระยะเวลานานก่อนจะพูด การพ่นคำแบบตั้งใจไม่ให้เชื่อมโยง เช่น พอพูดว่า ผีเสื้อ แทนที่จะต่อด้วยคำว่าดอกไม้ หรือ อิสระ แต่ไม่อยากให้รู้สึกว่าจะถูกอ่านได้ง่าย ก็จะเลี่ยงด้วยคำที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เช่น เอไอ โค้ด เนตฟลิกซ์ มายคราฟ เวบตูน หรือพูดคำแบบไร้สาระไปเรื่อย (โดยตั้งใจ) เช่น อะจึึ๊กอะจึ๋ย บรึ๋ยๆบราๆ ก็สามารถบ่งบอกถึงสภาวะจิตใจของผู้พูดได้เหมือนกัน
ทุกอย่างในชีวิตขมวดเราเข้ากับจิตไร้สำนึกโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือแทบไม่ตระหนักถึง ได้ทั้งสิ้น ดังนั้นการ being หรือ การรับรู้การดำรงอยู่ของตัวตนอย่างแท้จริง จึงอาจหมายถึง การมีสติรวดเร็วทันพอที่จะตรองได้ว่า สิ่งที่เรา พูด ทำ คิด เขียน แสดง และเป็นอยู่นั้น มีความเชื่อมโยงกับจิตไร้สำนึกอย่างไร ในทุกขณะจิต จึงไม่มีอะไรที่ไร้ความหมาย ในความไร้สาระทั้งหมดทั้งมวลนั่น คือสารัตถะทั้งหมดของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งๆ
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
In memories with Master (2014) ในทรงจำกับคุรุ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย