8 มี.ค. เวลา 10:30 • ความคิดเห็น

📌เมื่อนายจ้างได้รับคำสั่งจากพนักงานตรวจแรงงาน ควรปฏิบัติอย่างไร ?📌

💬กรณีปัญหา💬
พนักงานตรวจแรงงานมีหนังสือให้นายจ้างปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิการได้รับเงินของลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือแล้ว นายจ้างมีวิธีที่จะต้องปฏิบัติอย่างไร
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า กรณีที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น จ่ายค่าช้าง , จ่ายค่าชดเชย เป็นต้น เมื่อนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย แต่กลับไม่จ่าย กรณีเช่นนี้นอกจากจะเป็นเรื่องทางแพ่งแล้ว ยังมีความผิดที่มีโทษทางอาญาอีกด้วย
📚ข้อกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541📚
- มาตรา 124 วรรคสาม วางหลักว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้วปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตาม พ.ร.บ. นี้ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคําสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง ... ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคําสั่ง"
- มาตรา 124/1 วางหลักว่า "ในกรณีที่นายจ้างปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตามมาตรา 124 ภายในระยะเวลาที่กําหนดหรือได้ปฏิบัติตามคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลแล้ว การดําเนินคดีอาญาต่อนายจ้างให้เป็นอันระงับไป"
- มาตรา 125 วรรคแรก วางหลักว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคําสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ... ไม่พอใจคําสั่งนั้น ให้นําคดีไปสู่ศาลได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง"
👉เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้วสามารถกำหนดสิ่งที่นายจ้างต้องปฏิบัติภายหลังจากที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานตรวจแรงงาน ได้โดยแยก เป็น 2 กรณี คือ
1.ให้นายจ้างจ่ายเงินตามคำสั่งให้แก่ลูกจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายจ้างทราบหรือถือว่าได้รับคำสั่ง
2.หากนายจ้างไม่พอใจคำสั่ง ให้นายจ้างนำคดีขึ้นสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นายจ้างทราบคำสั่ง หมายถึง ให้นายจ้าง “ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน” นั่นเอง
‼️หากนายจ้างปฏิบัติตามกรณีดังกล่าว ไม่ว่ากรณีหนึ่งกรณีใด กฎหมายให้ถือว่าคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นอันระงับไป เท่ากับว่านายจ้างจะไม่มีความผิดอาญาจากกรณีที่พนังกานตรวจแรงงานมีคำสั่งมานั่นเอง
⁉️มีคำถามต่อมาว่า แล้วถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตาม 2 กรณีดังกล่าวล่ะ จะมีผลเป็นอย่างไร?
เมื่อกฎหมายกำหนดช่องทางให้ปฏิบัติตามแล้ว แต่นายจ้างไม่ปฏิบัติ ก็จะมีผลทำให้คดีอาญาไม่เป็นอันระงับไป พนักงานตรวจแรงงานจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินคดีอาญากับนายจ้างต่อไป
🆘️ข้อระวัง🆘️
ถึงแม้ภายหลังนายจ้างจะตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามคำสั่งฯได้ก็ตาม การตกลงกันนั้นก็ต้องเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดคือ 30 วัน หากตกลงกันได้แต่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ก็ไม่ทำให้คดีอาญาระงับไป พนักงานตรวจแรงงานก็ต้องดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างต่อไป แต่การตกลงกันได้ภายหลังนั้นจะมีผล คือ ในส่วนอาญาหากนายจ้างรับสารภาพ พนักงานตรวจแรงงานก็มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้
โฆษณา