18 มี.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

เมื่อไอน์สไตน์จัดการกับ hate speech

วงการวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 19-20 นักวิทยาศาสตร์หญิงไม่ได้รับการยอมรับไม่ว่าจะเก่งเพียงไร แม้แต่กับ มารี คูรี ผู้หญิงคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองครั้ง สองสาขา
1
มารี คูรี เป็นนักฟิสิกส์และนักเคมีชาวฝรั่งเศส เชื้อสายโปแลนด์ เป็นนักวิทยาศาสตร์แถวหน้าของโลก เธอเก่งทั้งด้านฟิสิกส์และเคมี เป็นผู้บุกเบิกงานด้านกัมมันตภาพรังสี
มารี คูรี เกิดที่กรุงวอร์ซอ ราชอาณาจักรโปแลนด์ ซึ่งเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย เธอเรียนที่บ้านเกิดจนอายุยี่สิบสี่ ก็ไปเรียนต่อที่ปารีส และทำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างยาวนาน
ปี 1903 มารีได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับสามี ปิแอร์ คูรี และ อังรี เบ็คเคอเรล จากการบุกเบิกงานด้านกัมมันตภาพรังสี
มารี คูรี บุกเบิกรังสีวิทยาเพื่อการแพทย์ เป็นผู้พัฒนาเครื่องเอ​กซเรย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับใช้ในโรงพยาบาลภาคสนาม
วงการวิทยาศาสตร์สำหรับผู้หญิงสั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อ มารี คูรี ได้รับรางวัลโนเบลรอบที่สองสาขาเคมี จากการค้นพบสองธาตุใหม่คือ โปโลเนียมและเรเดียม
แม้เป็นคนฝรั่งเศส แต่เธอดำรงรักษารากเหง้าของโปแลนด์อย่างเหนียวแน่น และตั้งชื่อธาตุแรกที่เธอค้นพบว่า polonium มาจากชื่อโปแลนด์
แต่ผลงานชั้นยอดทั้งหลายเหล่านี้มิได้ทำให้คนฝรั่งเศสรักเธอหรือภูมิใจแต่อย่างใด พวกเขาเห็นว่าเธอเป็น ‘คนนอก’ เป็นคนยิว และเป็น atheist (คนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า)
สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เมื่อเธอมีสัมพันธ์กับชายที่แต่งงานแล้ว
ในปี 1906 สามีเธอตายเพราะอุบัติเหตุ มารีเศร้าโศกอยู่หลายปี สี่ปีต่อมาเธอพบรักใหม่กับผู้ร่วมงาน ศาสตราจารย์หนุ่ม ปอล ลองเจอแว็ง เขาแต่งงานแล้ว แต่แยกทางกับภรรยา
ภรรยาของเขาว่าจ้างคนไปขโมยจดหมายรักของทั้งสอง แล้วส่งให้สื่อไปตีพิมพ์
ทันใดนั้นเรื่องรักของเธอก็กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งในฝรั่งเศส ข่าวนี้ดังกว่าข่าวการได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองของเธอ ปรากฏฝูงชนไปออกันที่หน้าบ้านเธอในปารีส ด่าทอนักวิทยาศาสตร์หญิงอย่างรุนแรง พายุ ‘hate speech’ ทำให้เธอต้องหลบไปอาศัยบ้านเพื่อน
สื่อตราหน้าเธอว่าเป็น ‘ยิวต่างชาติที่ทำลายครอบครัวคนอื่น’
มารี คูรี ได้รับจดหมายจากสมาชิกคณะกรรมการโนเบลคนหนึ่ง ชื่อ สวานเต อาร์ราเฮเนียส ‘ขอร้อง’ เธอไม่ให้ไปร่วมพิธีรับรางวัล
1
ท่ามกลางความเลวร้ายของพายุความเกลียดชัง จดหมายฉบับหนึ่งเดินทางเงียบ ๆ ไปถึงมือคูรี
เป็นจดหมายจาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จดหมายฉบับนั้นเขียนว่า
กรุงปราก 23 พฤศจิกายน 1911
คุณคูรีที่นับถืออย่างยิ่ง
อย่าหัวเราะผมที่เขียนจดหมายมาหาคุณ โดยไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์มากนัก แต่ตอนนี้ผมรู้สึกโกรธมากเรื่องมารยาทพื้นฐานที่สาธารณะเข้าไปยุ่มย่ามกับคุณ จนผมต้องระบายความรู้สึกนี้ออกมา
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อแน่ว่าคุณรังเกียจม็อบพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ามันจะเป็นคำยกย่องเกินจริง หรือเป็นความพยายามตอบสนองความอยากอ่านเรื่องตอแหล เกิดแรงกระตุ้นให้ผมต้องบอกคุณว่าผมชื่นชมความฉลาดปราดเปรื่องของคุณแค่ไหน ความมุ่งมั่นของคุณ และความซื่อตรงของคุณ และผมรู้สึกว่าตนเองโชคดีได้รู้จักคุณเป็นการส่วนตัวที่กรุงบรัสเซลส์ ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ย่อมมีความสุขแน่นอน
4
ตอนนี้ก็เช่นแต่ก่อน ที่พวกเรามีคนเช่นคุณ และลองเจอแว็งด้วย มนุษย์จริง ๆ ที่คนอื่นรู้สึกเป็นโอกาสพิเศษที่ได้คบหา ถ้าคนพวกนั้นยังเล่นไม่เลิกกับคุณ ก็อย่าไปอ่านเรื่องไร้สาระพวกนั้น ปล่อยมันไว้กับพวกสัตว์เลื้อยคลานที่เชื่อเรื่องซึ่งถูกสร้างขึ้นมาหลอกลวง
1
ด้วยมิตรภาพและความปรารถนาดีต่อคุณลองเจอแว็ง และ เพแร็ง
(ลงชื่อ) A. Einstein
คูรีได้สติ ลุกขึ้นมายืนอีกครั้ง เธอเขียนจดหมายตอบกลับสมาชิกกรรมการรางวัลโนเบลว่า “รางวัลนี้มอบแก่การค้นพบเรเดียมและโปโลเนียม ดิฉันเชื่อว่ามันไม่มีความเกี่ยวโยงกันระหว่างงานด้านวิทยาศาสตร์กับชีวิตส่วนตัวของดิฉัน ดิฉันไม่สามารถยอมรับว่า การยกย่องคุณค่าของงานวิทยาศาสตร์สมควรได้รับอิทธิพลจากข้อเขียนเท็จและการสร้างความเสียหายที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว”
เรื่องจบลงในที่สุด
และ มารี คูรี ก็กลายเป็นเพื่อนสนิทของไอน์สไตน์
ผ่านมาหนึ่งศตวรรษครึ่งจากยุคของ มารี คูรี โลกของเราเดินทางมาถึงจุดที่เทคโนโลยี โซเชียล มีเดีย เปิดพื้นที่ให้เกิดข่าวปลอมและวาจาเกลียดชังได้ง่ายดายจนมันท่วมโลก
นักเขียน นักปรัชญาชาวอิตาเลียน อุมแบร์โต เอโก (Umberto Eco) เขียนว่า “โซเชียล มีเดีย ให้สิทธิกลุ่มงี่เง่าพูดเรื่องที่แต่ก่อนพวกเขาพูดกันเฉพาะในบาร์หลังดื่มไวน์สักแก้ว โดยไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสังคม แล้วพวกเขาก็ถูกเอ็ดให้เงียบ แต่เดี๋ยวนี้พวกเขามีสิทธิพูดเหมือนกับผู้รับรางวัลโนเบล มันคือการรุกรานของพวกงี่เง่า”
8
โซเชียล มีเดีย กลายเป็น ‘weapon of mass destruction’ แห่งศตวรรษที่ 21
บางคนอาจโทษเทคโนโลยี แต่มองให้ดี เราจะพบว่าปัญหาอยู่ที่คนเสมอ ดังคำของโก้วเล้งที่ว่า “ที่ฆ่าคนมิใช่อาวุธ ที่ฆ่าคนคือคน”
การรับมือการรุกรานโดยรุกรานกลับยิ่งทำให้สังคมวุ่นวาย แต่การทำตามคำแนะนำของไอน์สไตน์ที่ว่า​ “ก็อย่าไปอ่านเรื่องไร้สาระพวกนั้น” ไม่ได้กระทำได้ง่าย เพราะในวันนี้เราแทบแยกแยะไม่ออกแล้วว่า อะไรคือข่าวจริงข่าวไม่จริง และในวันนี้ วิถีชีวิตของเราอาจถูก ‘เชิด’ (manipulate) ด้วยเครื่องมือใหม่นี้อย่างไม่น่าเชื่อ
3
วาเอล โกนีม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอียิปต์ ผู้มีบทบาทใช้อินเทอร์เน็ตขับไล่รัฐบาลอียิปต์ในปี 2011 กล่าวว่า แต่ก่อนเขาเชื่อว่า ถ้าเราจะปลดแอกสังคมให้เป็นอิสระ เราต้องใช้อินเทอร์เน็ต แต่วันนี้เขาเชื่อว่า ก่อนจะปลดแอกสังคม เราต้องปลดแอกอินเทอร์เน็ตเสียก่อน
3
ย่อความจากหนังสือใหม่ ปฏิบัติการผ่าสมองไอน์สไตน์ / วินทร์ เลียววาริณ
1
โฆษณา