14 มี.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

กูรูเตือนรับมือเงินเฟ้อสูงครึ่งปีหลัง

SCB EIC คาดเงินเฟ้อติดลบอีก 2 เดือนข้างหน้า หลังติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน จากปัจจัยชั่วคราว ยันไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด ซีไอเอ็มบีไทยคาดเงินเฟ้อขยับครึ่งปีหลัง จับตาท่าทีกนง. 10 เม.ย. บล.CGSIชี้เป็นจังหวะลดดอกเบี้ยนโยบาย
กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ.2567 ปรากฏว่า หดตัวลงอีก 0.77% เป็นการติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 5 และยังประเมินด้วยว่า เงินเฟ้อไทยมีโอกาสหดตัวต่อเนื่องในเดือนมี.ค.และเม.ย. จากมาตรการตรึงราคาพลังงาน ทำให้เกิดคำถามว่า เงินเฟ้อที่ติดลบยาวนาน 5 เดือนเรียกว่า เข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” แล้วหรือไม่
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า SCB EIC มองว่าในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า จะยังเห็นเงินเฟ้อไทยติดลบจากราคาพลังงานที่ยังได้รับการช่วยเหลือ รวมถึงปัจจัยฐานที่ยังสูงของราคาอาหารสด
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)
อย่างไรก็ดีหากหักผลของราคาพลังงานและอาหารสดพบว่า เงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก สะท้อนราคาสินค้ากลุ่มอื่นที่ยังขยายตัว SCB EIC ประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปของไทยช่วงครึ่งแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ราว -0.3 ถึง -0.4% และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ราว 0.5%
สำหรับเงินเฟ้อทั่วไป SCB EIC ประเมินว่า จะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้หลังเดือนพฤษภาคม เนื่องจากผลของราคาพลังงานที่ได้รับการช่วยเหลือจะลดลงตามมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานจากภาครัฐที่ทยอยหมดไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันในประเทศที่อาจปรับสูงขึ้นในไตรมาสที่2 หลังจากมาตรการสิ้นสุดลง
อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อจาก ความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักจากสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดง ปัญหาสภาพภูมิอากาศรวมถึงนโยบายควบคุมการส่งออกบางประเทศที่อาจทำให้ราคาของสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ข้าวและน้ำตาล เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปีจะขยายตัวเร่งขึ้น ทำให้ SCB EIC มองภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี ที่ 0.8% และ 0.6% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ช้าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ณ สิ้นปี 2566 ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดราว -0.4% นับได้ว่า ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิดช้ารั้งท้ายในโลก และเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบการขยายตัวเศรษฐกิจพบว่า ภาคการผลิตไทยยังอ่อนแอ ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นแรงหนุนสำคัญของเศรษฐกิจต่อเนื่อง อีกทั้งจะมีการส่งออกและการลงทุนเอกชนที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นในปีนี้
ส่วนของเงินเฟ้อไทยที่พบว่า ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยล่าสุดเดือน ก.พ. ติดลบ -0.8% สาเหตุหลักจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรลดราคาพลังงาน ประกอบกับราคาอาหารสดที่ลดลงต่อเนื่อง
“SCB EIC ประเมินว่า ไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด เพราะมองว่า เงินเฟ้อที่ติดลบช่วงที่ผ่านมาและในอีก 2 เดือนข้างหน้าเกิดจากปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐ แต่ไม่ได้เกิดจากปัญหาฝั่งอุปสงค์ที่ลดลงจนทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงกระจายตัวเป็นวงกว้าง แต่เกิดขึ้นกับราคาสินค้าบางชนิด ล่าสุดสัดส่วนสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้นยังมากกว่า 60% ซึ่งมากกว่า กลุ่มที่ปรับลดลง”ดร.ปุณยวัจน์กล่าว
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจะติดลบต่ออีก 1-2 เดือน แต่มีสัญญาณบวกเทียบเดือนต่อเดือนที่เงินเฟ้อขยับขึ้น คาดว่า เงินเฟ้อจะขยับได้ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากงบประมาณภาครัฐที่ผ่านสภาฯ และอุปสงค์ในประเทศที่ดีขึ้นจากการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่เงินเฟ้อเดือนก.พ.ที่ต่ำนั้น มาจากมาตรการลดค่าครองชีพภาครัฐ ฐานสูงปีก่อน และอุปสงค์ที่อ่อนแอ ทำให้การขึ้นราคาสินค้าทำได้ยาก
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
“ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มฟันธงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 10 เม.ย.ได้มากขึ้นซึ่งเราก็เห็นสอดคล้องกัน เพราะคาดว่า เงินเฟ้อที่ติดลบช่วงนี้จะกดดันกนง.ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 10 เมษายนได้มากขึ้น เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อนดี คือ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยรายเดือนเปราะบางทั้งการเติบโตของการบริโภคแทบไม่เกิด การจ้างงานเริ่มแผ่ว การท่องเที่ยวก็ต้องรอ”
1
ดร.อมรเทพกล่าวกล่าวต่อว่า ภาพรวมตอนนี้ ทั้งเศรษฐกิจในระยะสั้นไม่ดี และศักยภาพของไทยเมื่อก่อนโตได้ 3% ตอนนี้ต่ำกว่านั้นแล้ว ซึ่งการใช้ดอกเบี้ยสูงไม่สอดรับกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ลดต่ำลง จึงมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะลดดอกเบี้ยไม่ใช่เพียงเพื่อพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เป็นการตอบโจทย์ศักยภาพไทยที่ต่ำลงในระยะยาว จึงจำเป็นต้องอาศัยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น สำหรับซีไอเอ็มบีไทยจะทบทวนปรับลดคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจปีนี้
อย่างไรก็ตาม กนง.อาจรอดูตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค. (รายงานต้นเม.ย.) และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.พ.(รายงานสิ้นเดือนมี.ค.) ซึ่งจากตัวเลขการบริโภคเดือนม.ค.ที่ออกมา สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยที่ซึมๆ แต่จังหวะการลดดอกเบี้ยในรอบเดือนเม.ย.นับว่าท้าทาย เพราะเสี่ยงทำให้เงินไหลออก เงินบาทอ่อนค่า ยังดีที่ช่วงนี้ดอลลาร์กลับมาอ่อน
แต่อาจรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐศุกร์นี้ ที่อาจพลิกให้ดอลลาร์กลับมาแข็ง แต่สุดท้าย การลดดอกเบี้ยก็ทำให้เพียงประคองเศรษฐกิจ เพราะไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่นขาดการลงทุนจากต่างชาติ ขาดเทคโนโลยีสูง ขาดแรงงานมีทักษะ
1
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (CGSI)กล่าวว่า ทิศทางเงินเฟ้อครึ่งปีแรก ยังมองว่าอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ซึ่งจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิ.ย.ปีนี้ จากนั้นจึงจะเริ่มค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับปีก่อนแรงส่งจากราคาสินค้าปีนี้ไม่ค่อยมี โดยเฉพาะอาหารที่นำเข้าทะลักเข้ามาจากจีนในราคาถูก ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อไทยปรับขึ้นไม่ได้
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (CGSI)
ส่วนราคาพลังงานไม่น่าจะปรับตัวสูงเร็ว แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากความกังวลจากสงครามที่จะส่งผลต่อกำลังการผลิต ส่วนปัจจัยในประเทศของไทย หากไม่ต่อมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่ออกมาปลายปีก่อนและจะหมดอายุเดือนเม.ย.นี้ จะเห็นเงินเฟ้อขยับขึ้นในไตรมาสที่ 3-4
“ปัจจัยหลักในประเทศที่ยังกังวลคือ ภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่มีทิศทางชัดเจน ทั้งการลงทุน การส่งออก แม้การท่องเที่ยวฟื้นกลับมาบ้างแต่ไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ ขณะที่ภาคต่างประเทศ จุดอ่อนอยู่ที่เศรษฐกิจจีนที่ไม่ดีนัก และเน้นกระตุ้นในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความกังวลปัจจัยด้านการเมืองที่กดดันนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยลบยิ่งทำให้การใช้นโยบายการเงินยากและความเชื่อถือต่อความเป็นกลางของนโยบายการเงินสั่นคลอน”
ที่สำคัญ กรรมการกนง. ก็ยอมรับว่า ขีดความสามารถในการเติบโตปีนี้ไม่มีตัวช่วยและอัตราเงินเฟ้อต่ำ เป็นจังหวะที่ไทยสามารถจะลดดอกเบี้ยนโยบายได้อยู่แล้ว ในความเป็นจริงถ้าไม่มีการเมืองแทรกแซงอาจจะเห็นการลดดอกเบี้ยตั้งแต่ครั้งหน้า
โฆษณา