20 มี.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

ไฟของคนโง่

เราย่อมรู้ดีว่าเอดิสันเป็นคนประดิษฐ์หลอดไฟสำเร็จ แต่ก่อนจะได้ทำ ต้องผ่านหลายด่านก่อน
เมื่อรัฐสภาอังกฤษได้ข่าวว่า เอดิสันจะประดิษฐ์หลอดไฟ ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ เวลานั้นเอดิสันประสบความสำเร็จจากการประดิษฐ์เครื่องเล่นจานเสียง และ คาร์บอน ไมโครโฟน มาก่อนแล้ว พวกเขาบอกว่า "ความคิดนี่ดีสำหรับพวกไอ้'กัน แต่ไม่คุ้มสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่จะลงมือทำหรอก"
ได้ยินดังนั้น พวกผู้ผลิตแก๊สก็โล่งอก ! (สมัยก่อนเราใช้ตะเกียงแก๊สและน้ำมันสร้างแสงสว่างตอนกลางคืน)
เซอร์ วิลเลียม พรีซ หัวหน้าวิศวกรกรมไปรษณีย์อังกฤษ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ด้วยคำกรีก 'ignis fatuus' (แปลตรงตัวว่า ไฟของคนโง่)
ในปี พ.ศ. 2446 ก่อนหน้าพี่น้องตระกูลไรท์ทำการบินที่ คิทตี ฮอว์ก นั้น นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็ดาหน้าออกมาประทับตรา 'เป็นไปไม่ได้' ในเวลาไม่กี่ปีพวกเขาก็กลืนคำพูดนั้นลงไป ถึงกระนั้นหลังจากเครื่องบินลำแรกลอยบนฟ้าแล้ว ยังมีคนเอ่ยคำว่า 'เป็นไปไม่ได้'
หนึ่งในนั้นคือศาตราจารย์ วิลเลียม เอช. พิเคอริง นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงแห่งยุค ให้เหตุผลว่าการส่งคนสักคนสองคนขึ้นฟ้าต้องใช้แรงมหาศาล
"ถ้ากำลัง 30 แรงม้า เครื่องบินไปได้ด้วยความเร็ว 40 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้าจะไปให้ถึง 100 ไมล์ต่อชั่วโมง ต้องใช้กำลังถึง 470 แรงม้า เห็นชัดว่าด้วยความสามารถของเครื่องจักรของเรา ไม่สามารถทำได้แน่"
ทว่าก่อนที่ท่านศาตราจารย์เสียชีวิตในวัยแปดสิบ ท่านก็ได้เห็นเครื่องบินบินว่อนเต็มท้องฟ้าด้วยความเร็ว 400 ไมล์ต่อชั่วโมง และรับส่งผู้โดยสารมากกว่า 'สักคนหรือสองคน'
เช่นกัน ในวงการอวกาศ เมื่อความคิดที่จะส่งจรวดออกนอกโลกเกิดขึ้น ศาสตราจารย์ เอ. ดับเบิลยู. บิคเคอร์ตัน เขียนในปี พ.ศ. 2469 ว่า "ไอ้ความคิดโง่เง่าที่จะยิงจรวดไปดวงจันทร์เป็นตัวอย่างของความบ้าสิ้นดี..."
ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจำนวนมากเรียงหน้าออกมาประกาศว่า การส่งจรวดออกนอกโลกเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ศาสตราจารย์ เจ. ดับเบิลยู. แคมพ์เบล มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา กล่าวว่า หากจะส่งจรวดออกพ้นโลกจริง ต้องใช้แรงหนึ่งล้านตันที่จะส่งวัตถุหนักเพียงหนึ่งปอนด์
ตัวเลขปัจจุบันคือ หนึ่งตันต่อหนึ่งปอนด์ ! ที่พลาดเพราะตั้งค่าตัวแปรบางตัวผิด
ดร. ริชาร์ด แวน เดอร์ รีท วูลลีย์ นักดาราศาสตร์เรืองนามแห่งสถาบัน Astronomer Royal อันทรงเกียรติแห่งวงการวิทยาศาสตร์อังกฤษ ประกาศในปี พ.ศ. 2499 ว่า "การเดินทางในอวกาศน่ะรึ? ไร้สาระสิ้นดีว่ะ !"
เพียงหนึ่งปีถัดมา ดาวเทียม สปุตนิก 1 ก็ทะยานขึ้นฟ้า !
5
สังเกตว่าคนที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ มักเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น!
2
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2442 เด็กหนุ่มวัยสิบเจ็ดปีนาม รอเบิร์ต กอดดาร์ด ไต่ขึ้นต้นเชอร์รีเพื่อตัดกิ่งไม้แห้ง เขาหยุดบนคาคบ ทอดสายตาขึ้นฟ้า แล้วปล่อยใจให้ล่องลอยไปถึงดาวอังคาร
เป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากเขาอ่านหนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ของ เอช. จี. เวลล์ส เรื่อง The War of the Worlds เรื่องของมนุษย์ดาวอังคารบุกโลก ตั้งแต่นั้นเขาก็หมกมุ่นอยู่กับความฝันเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศไปทั้งชีวิต
กอดดาร์ดรูปร่างผอมบาง อ่อนแอ เจ็บออดแอดเสมอ เขาสนใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยห้าขวบ วันที่พ่อสาธิตการสร้างกระแสไฟฟ้าสถิตจากพรมที่บ้าน เด็กหนุ่มเป็นนักอ่าน กระหายความรู้ตลอดเวลา เขาสนใจเรื่องการบิน ชอบหมกมุ่นทดลองการบินด้วยว่าวและบอลลูน
1
เมื่อไต่ลงมาจากต้นเชอร์รีในวันนั้น วิสัยทัศน์ของเขาก็เปลี่ยนไปถาวร เป็นวันที่พิเศษที่สุดในชีวิตของเขา เมื่อความฝันของเขาก่อตัวเป็นรูปธรรม เขามองเห็นภาพมนุษย์เดินทางไปดาวอังคารด้วยจรวดเชื้อเพลิงเหลว
1
กอดดาร์ดเรียนดีจนจบชั้นปริญญาเอก เป็นอาจารย์ทางฟิสิกส์ แต่ยังคงหมกมุ่นกับการเดินทางไปนอกโลกด้วยจรวด เขาสร้างจรวดโดยผสมน้ำมันกับออกซิเจนเหลวเป็นเชื้อเพลิง ฐานจรวดของเขาประกอบด้วยถังสองถัง ถังหนึ่งใส่ออกซิเจนเหลว อีกถังใส่น้ำมัน มีท่อเชื่อมให้เชื้อเพลิงทั้งสองชนิดผสมกัน และปากพ่นสำหรับให้อากาศร้อนขับออกมา
ใคร ๆ ก็หาว่าเขาบ้า ในสายตาของคนภายนอก เขาเป็นเพียงศาสตราจารย์สติเฟื่องคนหนึ่งผู้ไม่รู้จักโต ชอบของเล่นอย่างเด็ก แต่การสร้างจรวดเป็นของเล่นที่แพงกว่าเงินเดือนของเขา ยังโชคดีที่ไม่ทุกคนเห็นว่ามันเป็นความฝันไร้สาระของเด็ก สถาบันสมิธโซเนียน ให้เงินอุดหนุนการทดลองแก่เขา
1
ผลงานของเขาทยอยออกสู่สาธารณะ แต่คนส่วนมากมองว่ามันเป็นความฝันโง่ๆ สื่อส่วนใหญ่มองเขาในด้านลบ ในปี 2463 หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส โจมตีเขาอย่างรุนแรงหลังจากกอดดาร์ดเสนอความคิดเรื่องการใช้จรวดเป็นยานพาหนะเดินทางไปดวงจันทร์ กล่าวหาเขาถึงขั้นว่า "ขาดการศึกษาชั้นมัธยม" และการทดลองจรวดของเขาเป็นความคิดที่บ้าสิ้นดี
แม้ถูกด่ารอบทิศ กอดดาร์ดก็ทดลองของเขาไปเงียบ ๆ หกปีต่อมา จรวดเชื้อเพลิงเหลวของเขาก็ทะยานขึ้นฟ้าสำเร็จ จรวดของเขาขึ้นสูงในอากาศราว 2.5 วินาที สูง 12.5 เมตร ตกห่างห้าสิบหกเมตรจากจุดยิงจรวด แต่ยังห่างไกลจากการเดินทางไปดวงจันทร์หรือดาวอังคารนัก
ช่วงปี 2473-2478 เขาส่งจรวดหลายลำขึ้นฟ้า ส่วนมากไปได้ไม่ไกล แต่เขาไม่ได้มองว่าเป็นความล้มเหลว เขาว่า "คุณสามารถเรียนรู้จากการทดลองเสมอ"
1
แม้ว่ากอดดาร์ดจะไม่ประสบความสำเร็จในการส่งจรวดไปถึงชั้นอวกาศ แต่แนวคิด ผลงานสร้างสรรค์ และการทดลองนับครั้งไม่ถ้วนของเขากลายเป็นรากฐานของจรวดในปัจจุบัน นักสร้างจรวด เวอร์เนอร์ ฟอน บราวน์ กล่าวถึงกอดดาร์ดว่า "จรวดทั้งหลายของเขาอาจจะดูหยาบไปบ้างเมื่อเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน แต่พวกมันก็ส่งเปลวสว่างไสวเป็นทาง และรวมชิ้นส่วนมากมายที่ใช้ในจรวดยุคใหม่และยานอวกาศ"
1
กอดดาร์ดไม่มีชีวิตอยู่ดูจรวด อจีนา ดี ทะยานขึ้นจากพื้นโลกสู่อวกาศ ส่งยานอวกาศมาริเนอร์ 4 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2507 บินนานเจ็ดเดือนครึ่งจนถึงดาวอังคารสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เราไม่พบมนุษย์ดาวอังคารในจินตนาการของ เอช. จี. เวลล์ส แต่ความฝันบนต้นเชอร์รีกลายเป็นความจริงในที่สุด
ห้าปีถัดมาจรวดขนาดยักษ์ก็นำมนุษย์ทะยานเหนือขอบฟ้า มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ ในโครงการอพอลโล 11
หนึ่งวันถัดมา นิวยอร์ก ไทม์ส ตีพิมพ์คำขอโทษต่อชายผู้ถูกหาว่าฝันในเรื่องบ้า ๆ !
บางครั้งไฟของคนโง่ก็ส่องสว่างกว่าอคติใดๆ
2
(จาก หัวกลวงในหลุมดำ / วินทร์ เลียววาริณ)
โฆษณา