16 มี.ค. เวลา 00:00 • สุขภาพ
โรงพยาบาลปิยะเวท

โรคเกี่ยวกับตา…ที่พบบ่อย👁️

1) เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)
เป็นโรคที่มีการอักเสบของเยื่อบุตา ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ตาขาวกลายเป็นสีแดงจากเส้นเลือดขยายตัวและมีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้าง เป็นได้ทั้งเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และมักมีขี้ตา ร่วมด้วย ซึ่งลักษณะขี้ตาสามารถบ่งบอกถึงสาเหตุได้หากมีลักษณะใสๆมักเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นเมือกขาว มักเกิดจากภูมิแพ้ สีเหลืองมักเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย
​ในช่วงฤดูฝนมักมีการระบาดของโรคตาแดง ซึ่งเป็นการอักเสบของเยื่อบุตาจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล อาจมีต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูโตและเจ็บ มักเป็น 10-14วัน ซึ่งสามารถติดต่อกันอย่างรวดเร็วผ่านทางการสัมผัสน้ำตาหรือขี้ตา หรือการใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ โดยการแยกผู้ป่วย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
2) ตากุ้งยิง (Hordeolum )
​เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา ทำให้เกิดการอักเสบเป็นก้อนที่เปลือกตามีอาการ บวมแดง เจ็บร่วมด้วย เมื่อปล่อยไว้ไม่ได้รักษาจะกลายเป็นฝีหนอง สาเหตุเกิดจากเป็นต่อมไขมันอุดตัน แล้วมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น การขยี้ตา ล้างเครื่องสำอางรอบดวงตาไม่สะอาด เป็นต้น
​รักษาด้วยการประคบอุ่น ครั้งละ 5-10นาที วันละ 2-3 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาปฏิชีวนะ หยอดยา หรือป้ายยาปฏิชีวนะ หากไม่ดีขึ้นต้องรักษาด้วยการผ่าระบายหนอง ระหว่างการรักษาควรงดการใส่คอนแทคเลนส์ และใช้เครื่องสำอางรอบดวงตา
3) ต้อลมและต้อเนื้อ
• ต้อลม (Pinguecula) มีลักษณะเป็นก้อนนูนสีขาวเหลืองบนตาขาวข้างกระจกตา โดยที่ยังไม่ลุกลาม เข้ากระจกตา
• ต้อเนื้อ (Pterygium) มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อรูปสามเหลี่ยมบนเยื่อบุตาขาว ที่มีการลุกลามเข้ามากระจกตา
• ทั้งต้อลมและต้อเนื้อ เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว จากการได้รับแสงอัลตราไวโอเลต หากเป็นน้อยมักไม่มีอาการ ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการคัน เคืองตา แสบตา อาจมีตาแดงอักเสบได้ทั้ง 2 ภาวะนี้
สามารถป้องกันได้โดยสวมแว่นกันแดด หลีกเลี่ยงลม ฝุ่น ควัน ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง บรรเทาอาการด้วยการหยอดยาน้ำตาเทียม หรือยาหยอดตาลดการคันตา ยาลดการอักเสบ การรักษาด้วยการผ่าตัด จะทำในกรณีต้อเนื้อเป็นมากจนบดบังการมองเห็น หรือทำให้เกิดสายตาเอียงจนตามัว หรืออักเสบเป็นๆ หายๆ ไม่ตอบสนองกับยา ทั้งนี้การลอกต้อเนื้อมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ ส่วนต้อลมไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
4) ต้อกระจก (Cataract)
​เป็นภาวะที่เลนส์แก้วตา มีการขุ่นมัว ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบมากในผู้สูงอายุ สาเหตุการเกิดต้อกระจก เกิดจากการเสื่อมตามวัยเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ได้รับอุบัติเหตุ ที่ดวงตา ภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางตา เช่น มีการอักเสบหรือติดเชื้อในลูกตา โรคทางพันธุกรรม โรคติดเชื้อในครรภ์มารดา เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ หรือเป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น เสตียรอยด์
​ต้อกระจก จะทำให้มีอาการตาพร่ามัว ระดับการมองเห็นลดลงช้าๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงความผิดปกติของสายตาสั้น และเอียงมากขึ้น เห็นภาพซ้อนในตาข้างที่เป็นต้อกระจก ตาไม่สู้แสง หากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจมีภาวะต้อหินเฉียบพลันแทรกซ้อนได้
​การรักษามีวิธีเดียว คือการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม
โดยข้อบ่งชี้การผ่าตัดต้อกระจก ได้แก่ การมองเห็นลดลงจากต้อกระจกซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มีภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก เช่น ต้อหิน หรือมีความจำเป็นต้องตรวจรักษาโรคจอตา และมีต้อกระจกบดบัง ทำให้ไม่สามารถตรวจและรักษาได้สะดวก เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน
​การผ่าตัดมี 2 วิธี ECCE with IOL (Extracapsular Cataract Extraction) เป็นการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาออกมา โดยเปิดแผลขนาดใหญ่ แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่และเย็บปิดแผล ใช้ในกรณีที่เลนส์แข็งมาก ต้อกระจกสุก อีกวิธีคือ Phacoemulsification with IOL เป็นการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงและใส่เลนส์แก้วตาเทียม
เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก สามารถใช้เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ จึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดได้เร็ว และใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า
5) ต้อหิน (Glaucoma)
​เป็นโรคที่มีการทำลายของขั้วประสาทตา มักเกิดจากความดันลูกตาสูง หากไม่ได้รักษาหรือรักษาไม่สม่ำเสมอจะทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวร โดยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการในระยะแรก จึงมักไม่ทราบว่าเป็นโรค เมื่อเป็นมากขึ้นลานสายตาค่อยๆ แคบลงจนถึงขั้นตาบอดได้ โรคต้อหินสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ แต่อัตราการเกิดโรคจะสูงขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นหากมีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน
​ต้อหินสามารถแบ่งได้หลักๆ เป็น 2 ชนิด คือ ต้อหินชนิดมุมเปิดและขนิดมุมปิด ต้อหินชนิดมุมเปิดจะมีความดันตาสูงขึ้นอย่างช้าๆ จึงไม่มีอาการปวดตา แต่ขั้วประสาทตาจะถูกทำลายไปทีละน้อย ต่างจากต้อหินชนิดมุมปิดเฉียบพลันจะมีความดันตาสูงชึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นรัศมีรอบดวงไฟ คลื่นไส้อาเจียน
​ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหินที่สำคัญที่สุดคือ ความดันลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน การใช้ยาสเตียรอยด์ทั้งชนิดรับประทานและยาหยอดตา เคยผ่าตัดหรือ เคยได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา ประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน
​การรักษาโรคต้อหิน ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ และการผ่าตัดเพื่อลดความดันลูกตา ในปัจจุบันยาหยอดมีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก การตรวจพบและรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ อย่างสม่ำเสมอจะสามารถ ช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้
ความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคต่างๆของดวงตา จะทำให้สุขภาพดวงตาของเราดีขึ้น และสามารถป้องกัน หรือรักษาดวงตาอันเป็นที่รักของเรา ให้สามารถใช้งานต่อไปได้ ตราบนานเท่านาน
โฆษณา