22 มี.ค. เวลา 00:00 • สุขภาพ
โรงพยาบาลปิยะเวท

โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related Macular Degeneration, AMD)

โรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า AMD เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็นอย่างรุนแรง โรคนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยเฉพาะในส่วนของจอประสาทตา ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะสูญเสียความสามารถในการมองเห็นส่วนตรงกลาง โดยที่การมองเห็นในด้านขอบของภาพ ยังคงใช้ได้ดี
ชนิดของโรคจอประสาทตาเสื่อม มี 2 ชนิด
1. แบบแห้ง (Dry AMD) เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด จะมีการเสื่อมและบางลงของบริเวณจุดรับภาพชัด ของจอประสาทตา (macula) จากการเสื่อมตามอายุ ความสามารถในการมองเห็นจะค่อยๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้าๆ
2. แบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณ 15-20 % ของโรคจอประสาทตาทั้งหมด มีการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในโรคนี้ เกิดจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติ งอกอยู่ใต้จอประสาทตา มีการรั่วซึมของเลือดและสารเหลวจากเส้นเลือด ทำให้จุดรับภาพชัดบวม ผู้ป่วยจะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยวและมืดลงในที่สุด
สาเหตุ
• อายุ พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และอุบัติการณ์เกิดมากขึ้นตามอายุ
• พันธุกรรม มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม โดยพบว่า 50% ของผู้ป่วยจะมีประวัติที่คนในครอบครัว เป็นมาก่อน
• เชื้อชาติ พบอุบัติการณ์ของโรคสูงสุดในคนผิวขาว
• เพศ เพศหญิงมากกว่าเพศชายในกลุ่มที่อายุมากกว่า 60 ปี
• บุหรี่ มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างชัดเจน และมีโอกาสที่จะเกิดจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า มีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า ในการเกิดโรคจอตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD)
• ความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง มีความเสี่ยงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วในรายที่เป็นแบบเปียก (Wet AMD)
• วัยหมดประจำเดือนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจน พบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกั
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
​อาการและอาการแสดงของโรคจอตาเสื่อมอาจแสดงอาการแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยอาจจะไม่สังเกตถึงความผิดปกติในการมองเห็นได้เองตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่เป็น โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังปกติอาการเริ่มต้นของโรค มีดังนี้
1. เห็นภาพบิดเบี้ยวมองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นคดบิดเบี้ยว ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยจะสังเกตไม่พบ เนื่องจากตาอีกข้างยังมองเห็นดีอยู่ แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมทั้ง2ข้าง ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงความผิดปกติ ในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ส่วนกลางของภาพที่มองขาดหาย หรือมืดดำหรือภาพที่เห็นดูบิดเบี้ยวไป
2. อ่านหนังสือหรือทำงานที่ต้องใช้สายตาละเอียดได้ยากกว่าปกติ
3. มีปัญหาในการสังเกตดูความแตกต่างของหน้าคน
4. ไม่เห็นส่วนกลางของภาพที่มองเห็น
5. การมองเห็นลดลงมนตอนกลางคืน หรือเห็นความสดของสีลดลง
​จักษุแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติด้วยตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยการใช้แผ่น Amsler grid ถ้ามองเห็นภาพที่ Amsler grid บิดเบี้ยวผิดปกติ จะต้องไปพบจักษุแพทย์ทันที
การรักษา
​ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้โรคจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ การรักษามีเพียงช่วยรักษาการมองเห็น ให้คงอยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) พบว่าวิตามิน เกลือแร่ และสารต้านอนุมูลอิสระมีส่วนทำให้เกิดโรคช้าลง ในผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อจะทำลายเส้นเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติในจอประสาทตา
1. การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ (Laser photocoagulation) เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยมีเส้นเลือดงอกผิดปกติ ซึ่งสามารถรักษาโดยเลเซอร์ได้ จะใช้แสงเลเซอร์ยิงเข้าไปในจอประสาทตาของผู้ป่วยเพื่อทำลายเส้นเลือดผิดปกตินั้น วิธีการนี้ไม่เพียงทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกติแต่ยังทำลายจอประสาทตาส่วนดีที่อยู่ติดกับ เส้นเลือดนั้นๆด้วย จักษุแพทย์จะไม่ใช้วิธีนี้ในการรักษาจอประสาทตาเสื่อมที่มีรอยโรคบริเวณศูนย์กลาง การมองเห็น เพราะจะทำให้การมองเห็นลดลงมาก
2. การรักษาด้วยวิธีโฟโตไดนามิค (Photodynamic therapy, PDT) เป็นการรักษาโดยการใช้ยา verteporfin ร่วมกับเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน วิธีการนี้มี 2 ขั้นตอน คือ ฉีดยา verteporfin เข้าทางหลอดเลือดดำ
ซึ่งยานี้อยู่ในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ และจะกระจายไปในกระแสเลือดจับตัวสะสมอยู่ในบริเวณผนังของเส้นเลือด ที่งอกผิดปกติ จากนั้นจะใช้แสงเลเซอร์สีแดงที่มีกำลังต่ำ (มีพลังงานน้อยไม่เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา) ฉายเข้าในในตา เพื่อกระตุ้นตัวยาให้เปลี่ยนเป็นสภาพที่พร้อมออกฤทธิ์ โดยยานี้จะทำให้หลอดเลือด ที่ผิดปกติเกิดการอุดตัน ทำให้รอยโรคลดลงหรือหายไป พบว่าการรักษาวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสูญเสียสายตาน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ทำการรักษา ปัจจุบันยังเป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัยและให้ผลดี
3. การรักษาด้วยการฉีด Anti-VEGF เข้าในน้ำวุ้นตา Anti-VEGF เป็นโปรตีนขนาดเล็กโดยจะไปจับกับ vascular endothelial growth factor (VEGF) ทำให้ VEGF ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ทำให้เกิดการยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่งอกผิดปกติ พบว่าให้ผลในการรักษาที่ดี โดยทำให้ผู้ป่วยคงความสามารถในการมองเห็น และนอกจากนี้ยังทำให้เพิ่มการมองเห็นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอีกด้วย
วิธีนี้ เป็นการรักษาแนวใหม่และยับยั้งสาเหตุของการเกิดโรคได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้ลดโอกาสในการสูญเสียสายตาของผู้ป่วยลงได้
4. การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีข้างต้นได้ผล อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การผ่าตัด
การป้องกันการเกิดโรค
​จะเห็นได้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ แต่เราสามารถ ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคได้
1. สวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
2. งดการสูบบุหรี่
3. แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน โดยเฉพาะลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (zeaxanthin) ปริมาณสูง ได้แก่ แอปเปิล บร็อคโคลี่ ข้าวโพด แตงกวา องุ่น มะม่วง ส้ม ฟักทอง ผักโขม ถั่ว พริก และไข่แดง เป็นต้น
โฆษณา