16 มี.ค. เวลา 10:36 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] BLUE LIPS - ScHoolboy Q >>> Comeback ไม่มากความ

-เกือบดีที่สุด แต่ก็เข้าสู่จุดที่ “ควรเป็นที่สุด” เป็นการกลับมาในรอบ 5 ปีที่นาย Quincy Matthew Hanley (a.k.a. ScHoolboy Q ของแท้ต้อง H ตัวพิมพ์ใหญ่) พยายามลดโทนความกระโชกโฮกฮากเพื่อเข้าสู่วิถีแห่งความลุ่มลึก และความลุ่มลึกในที่นี้ไม่ได้แปลว่าความสมบุกสมบันจะดับมอดไป แรปเปอร์สายกอล์ฟยังคงความเป็นแรปเปอร์ตัวอันตรายที่พร้อมบวกได้ทุกเมื่อ ประหนึ่งเลือดความเป็นชาวแก๊งค์ Hoover Street Crip ไม่มีวันจางโดยง่าย
-การฝังตัวอักษร H พิมพ์ใหญ่ตั้งแต่ชื่อ aka ชื่อเพลง เนื้อเพลง หรือแม้กระทั่งแป้นพิมพ์ในโซเชี่ยลมีเดีย ในปกอัลบั้มทาปากสีฟ้าอันเป็นสีของ Crip ทั้งนี้สำบัดสำนวน BLUE LIPS เป็น slang ที่ให้นิยามตาม teaser album ไว้ว่า “พูดไม่ออก อันเนื่องมาจากความรู้สึกช็อคบางอย่าง” หากตีความในบริบทของ Crip ก็แปลว่า ไม่ขี้ฟ้อง ไม่ขายเพื่อน เป็นการสุมนัยยะแห่งการจงรักภักดีที่ยังไม่เสื่อมคลาย
-การที่แรปเปอร์ LA ได้ลั่นวาจาไว้ว่า “การที่ผมเลือกที่จะไม่ปล่อยผลงานต่อเนื่องทุกปี ผมจะไม่ทำตัวเหมือนแรปเปอร์คนโปรดของพวกคุณที่ชอบปล่อยงานเพลงแทบทุกปีเพียงเพราะพวกเขาต้องการเงินไงล่ะ ผมอยากให้ความสงบจิตสงบใจและประสบการณ์ในช่วงที่หายไปเป็นตัวขับเคลื่อนผลงานผมต่างหาก” เป็นการลั่นวาจาที่โคตรจิกกัดศิลปินเบอร์ใหญ่(บางคน)ในยุคนี้ที่ใครๆก็รู้ว่า ข้อจำกัดของการปล่อยผลงานที่โคตรถี่ขนาดนี้แทบไม่ยกระดับความคลาสสิคแต่อย่างใด การเน้น viral ที่ประเดี๋ยวประด๋าวจนถึงท้ายที่สุดก็ถูกลืม
-แต่ในขณะเดียวกันความมั่นใจในตัวแกก็ถูกตั้งราคาแห่งความหน้าแหกไว้สูง เพราะผลงานที่ผ่านมาอย่าง CrasH Talk ก็ไม่ใช่อัลบั้มที่น่าจดจำมากเท่าไหร่ หนำซ้ำพี่คิวเองก็รับสภาพถึงความตายด้านจนจัด rank อัลบั้มชุดนี้ไว้ท้ายตาราง
-BLUE LIPS น่าจะทำให้ความมั่นอกมั่นใจฟังดูน่าเชื่อถือและไม่น่าจะโดนทัวร์ลงได้โดยง่าย ด้วยความริเริ่มใส่ใจในการใส่ความสุนทรีย์ด้วยอิทธิพลของ Soul มากกว่ายัด gangsta รัวๆแบบที่แล้วมา การคราฟท์งานที่ฟังดูสมเหตุสมผลในแง่ของความหนักแน่นที่สมวัยวุฒิ แต่ก็ไม่รักความสบายให้ soft จนเกินไป เจือด้วยการข้ามผ่านประสบการณ์อันโชกโชนในอดีตที่อยู่ดีๆก็แว๊บเข้ามาในหัวของพี่คิว
-นั่นก็ทำให้ทิศทางของบีทเพลงมีความคุกกรุ่นบางอย่าง มีการ switch แว๊บไปแว๊บมา ทำให้เกิดความแปลกใหม่ทุกครั้งที่ฟัง อยากสารภาพว่า ต่อให้ฟังจบ 3 รอบ ผมดันจำลูกเล่น pattern ในบางเพลงไม่ได้แหล่มชัดเลยด้วยซ้ำ สำหรับผม นั่นถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีและไม่จำเจเกินไป
I swear to God my whole thang been wicked
Tried to keep the peace but all I piece around is bitches
THank god 4 me
-เหมือนตั้งใจจะหยอกล้อกับสภาวะอารมณ์ที่ยังไม่สงบจิตสงบใจเสียทีเดียว อยากได้ความสงบ แต่ความชิบหายเสือกเข้าแทรก สอดคล้องกับประโยคข้างต้นในซิงเกิ้ล THank god 4 me เป็นตัวอย่างของเพลงที่มอบ pattern แห่งความวูบวาบให้ได้หัวหมุนกันเล่นๆเช่นกัน อินโทรปูทางด้วยฟลุ๊ทที่เหมือนจะคลี่คลายในด้านแห่งการตระหนักรู้อะไรบางอย่าง แต่พอเข้าสู่ verse ปกติแทบจะเล่นคลื่นแห่งความวูบวาบขึ้นมาทันที พอเข้าสู่ช่วงท้ายเพลงก็หาทางผสมผสานท่อนฟลุ๊ทในอินโทรได้อย่างแนบเนียน ถือเป็นเพลงที่บอกภาพรวมในอัลบั้มได้ดีที่สุด
-oHio ก็มาแหวก switch beat ถึงสามครั้งในเพลงเดียว ไล่ตั้งแต่ฟังก์ rage นิ่งๆ ก่อนที่จะตบท้ายด้วย Jazz ในพาร์ทของ Freddie Gibbs เป็นอีกหนึ่งความเซอร์ไพร์สที่พี่แกไม่รัวมัดบู๊ใดๆเลยนอกจากมาเวย์ประชดประชันแดกดันเข้มๆไปถึงคู่ปรับตลอดกาล DJ Akademiks ที่ตอนนี้โดนกล่าวหาจากแฟนเก่าของ Akademiks ว่าเคยโดนอดีตแฟนนักจัดรายการชื่อดังกระทำชำเราอย่างขัดขืนใจ
-การสานต่อซีรี่ย์ Druggy’s Wit H*es ร่วมกับ Ab-Soul เพื่อนร่วมค่ายที่ยังคงร่วมความหลอนเฮี้ยนของวังวนคนขี้ยาได้น่าสะเทือนใจในเพลง Foux และยังมีเพลงที่ขับเคลื่อนด้วยบีทแสนล่องลอยแปลกๆอย่าง Movies ซึ่งตัดสลับด้วยบีทสไตล์ West Coast และการทดลองใส่ความเป็นอิเล็กโทรนิกในเพลง Nunu ที่ท้าวความถึงวีรกรรมโดดเรียนและความอยากได้อยากมีในสังคมเด็กเรียนที่อวดเบ่งตลอดเวลา
-กลุ่มเพลงที่ผมยกมากล่าวข้างต้นถือเป็นส่วนนึงของรสชาติที่ไม่ค่อยซ้ำหน้ากับความเป็น traditional hiphop หรือแม้กระทั่งสไตล์ดั้งเดิมของพี่คิวเองที่ได้รับการบิดพริ้วจากเทคนิคการ switch beat ที่ซับซ้อนกว่างานที่แล้วมา อันเป็นการคงความเสน่ห์แห่งความคาดเดาอะไรไม่ได้ชนิดที่ฟังรอบแรกไม่เก็ตได้โดยง่าย แค่แทร็คแรกอย่าง Funny Guy ก็เปิดด้วยการปล่อยเบลอ พึมพำไปเรื่อย ท่ามกลางการล่องลอยด้วยหมอกควันจากปุ๊นที่แลดูชิวล์ แต่เจตนาเรียกน้ำย่อยเพื่อเจอกับมู้ดแอนด์โทนที่ไม่ตายตัวต่อจากนี้
-แต่ก็ใช่ว่าความบิดพริ้วดังกล่าวจะถูกยัดมาทั้งอัลบั้ม ฮิปฮอปสไตล์บู๊ของพี่แกก็ยังถูกเสิร์ฟให้แฟนเพลงได้หลั่งอะดรีนาลีนกันอย่างคุ้นชิน แต่ก็มาด้วยจำนวนน้อยจนนับนิ้วได้ อาทิเช่น Yeern 101 ที่สมเป็นซิงเกิ้ลแห่งตัวตั้งตัวตี Love Birds ที่เจือด้วยคอรัสเสริมของ Lance Skiiwalker อันเป็นลายเซ็นต์ประจำค่าย TDE ตัดสลับกับกลองบีทตึบตับกระแทกกระทั้นสวนทางกับชื่อเพลงที่น่าจะมาเวย์โรแมนติกมากกว่า
-Pop ก็ไม่ได้มาเวย์ซอฟท์ แต่ใส่ความเกรี้ยวกราดแบบช้างกระทืบโรงมากที่สุดในอัลบั้มนี้ ร่วมกับแรปเปอร์หญิง Rico Nasty ที่ออกมาแย้ปได้สั้นกว่าที่คิด แอบเสียดายที่ท่อนของเธอโดนตัดจบเสียก่อน ความเดือดกำลังได้ที่เชียว เพลงที่ให้บรรยากาศท้าชนมากที่สุดคงหนีไม่พ้น Pig Feet ที่ไม่ได้ท้าทายแค่ตำรวจ แต่ยังท้าทายแก๊งค์ Blood อันเป็นขั้วตรงข้ามกับ Crips ที่แกเคยอยู่นั่นแหละ
-ผมไม่ติดหากความพลุ่งพล่านมันจะถูกลดทอนจริงๆ ตราบใดที่ลูกเล่นของท่วงทำนองที่แข็งแรงพอก็น่าเชียร์เหมือนกัน ซึ่งพี่คิวเองก็ทำให้อิทธิพลของ Soul ไม่ถูกละเลงให้เสียของ เต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจของคนที่ไฝ่ความสงบ ปลุกความสุขุม แต่ก็ต้องดีลกับอุปสรรคของ mental health ที่เป็นของแถมจากบาดแผลที่ผ่านมาทั้งหลาย การสูญเสียเป็นประเด็นแผลเหวอะที่เรื้อรังจนเกิด PTSD อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
-โดยเฉพาะการร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ต่อ Mac Miller เพื่อนแรปเปอร์ผู้ล่วงลับในเพลงที่มีท่วงทำนองแห่งความเนี๊ยบที่สุดอย่าง Blueslides ซึ่งชื่อเพลงมาจากชื่อเดบิวต์อัลบั้มของแม็ค Blue Slide Park อีกด้วย การแชร์ความกังวลในฐานะพ่อคนที่ต้องมานั่งกังวลถึงเหตุการณ์กราดยิงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกแห่งหนในเพลง Cooties ที่เดินบีทได้สมูธและมีคลาสมากๆ
-โปรดักชั่นจากโปรดิวซ์เซอร์คู่บุญ The Alchemist ยังคงขับเคลื่อนความโหวงได้อย่างเข้มข้นในเพลง Lost Times ที่กล่าวถึงวันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมองกลับไปถึงไลฟ์สไตล์ที่ต้องสนองความต้องการในหลายๆอย่าง นอกจากจะไม่ช่วยเติมเต็มอะไรแล้ว ยังผลาญเวลาไปโดยสูญเปล่าอีกต่างหาก อีกทั้งยังสอดแทรกแนวคิดในเรื่องการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องล้มเหลวก่อนที่จะมั่งคั่ง ซึ่งก็แน่นอนว่าโลกของเราก็ไม่ต่างอะไรจากนรกดีๆนี่เอง โดยพี่คิวให้เพลงนี้เป็นเพลงโปรดที่สุดในอัลบั้มด้วย
-ท้าวความไปถึงการย้ายถิ่นฐานจากประเทศเยอรมันมาเติบโตในแอลเอในเพลง Germany 86' แทนที่การเติบโตในดินแดนแห่งเสรีภาพน่าจะมอบอะไรที่ดีกว่า แต่กลับได้สภาพแวดล้อมที่อันตรายมารบเร้าชีวิตเสียเอง แต่ก็ไม่ถือโทษแม่ที่พาเขามาเติบโตในสภาพแวดล้อมอันตราย แถมยังตัดพ้อต่อระบบสวัสดิการที่ไม่ได้ให้อะไรตอบแทนแม่มากเท่าที่ควรในฐานะที่แม่เองก็เคยทำหน้าที่เป็นทหารรับใช้ประเทศด้วยเช่นกัน
-ทั้งนี้เขายังรู้สึกแปลกใจถึงชีวิตที่รอดมาได้ไงและมาได้ไกลพอสมควรในเพลง Time killers และปิดท้ายด้วยการ capture ภาพแห่งความสุขในชีวิตครอบครัวเล็กๆของแกในเพลง Smile ที่มาแบบสั้นๆแค่นั้นจริงๆ
-เสน่ห์ของการเสพย์เพลงเป็นอัลบั้มคือการได้เห็น personal growth ของศิลปินท่านนั้นที่ถูกนำเสนอด้วยผลงานศิลปะแขนงนึงที่ฉาบด้วยท่วงทำนองแห่งการเล่าเรื่อง มันคงจะยากมากๆที่การกู้ศรัทธาจากกราฟที่ตกลงในอัลบั้ม CrasH Talk ที่ผมและใครหลายคนต่างผิดหวังในความแผ่ว สาวกบางส่วนถึงขั้นแซวว่า “นี่พี่หาเงินมาจ่ายค่าออกรอบกอล์ฟใช่มั้ย” การกลับมาในรอบ 5 ปีครั้งนี้เป็นการแก้เกมส์ที่ตกตะกอนอะไรได้มากขึ้น
-ในขณะที่ทุกคนพยายาม Trap ทำตัวเป็น Sad rapper แทนที่พี่คิวจะกลับไปเดินสเต็ป gangsta rap ดั้งเดิมอย่างที่แกเคย represent เลือกที่จะไม่สาธยายวีรกรรมการเป็นทั้งผู้ค้าและเสพใน Oxymoron การไม่ใส่บู๊แบบรัวกระสุนใน Blank Face แต่แกเลือกที่จะไฝ่หาความสงบ ณ ปัจจุบันมากกว่ารีไซเคิลเรื่องเล่าวีรกรรมมันติดอยู่กับผลงานในอดีตไปแล้ว
-นี่คือจุดเริ่มต้นก่อนเข้าสู่วิถี Soul Rap เลยนะฮะ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมยังไม่ฟันธงว่า นี่คือ best album ในชีวิตของแกจริงๆ เหมือนกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่รอให้ผลของเวลาและรสนิยมตกตะกอนความคมคายให้ลงตัวกว่านี้เพื่อคัดกรองสิ่งที่ดีที่สุดออกมาให้เป็นประจักษ์ ซึ่งผมรู้สึกพึงพอใจที่แกเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านกันตั้งแต่ตอนนี้
สันติภาพเริ่มบังเกิดแล้ว
Top Tracks: Pop, THank God 4 Me, Blueslide, Yeern 101, Movie, Cooties, Foux, Nunu, Lost Times, Germany 86’, Time Killers, Pig Feet
Give 8/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา