17 มี.ค. เวลา 05:21 • ประวัติศาสตร์
จีน

จกรุกวุย การศึกคราวขงเบ้งรบสุมาอี้

ตอนที่ 20 “แผนปิดทางลัดตัดเสบียง” สุมาอี้ตั้งเฮกเจียวทำหน้าที่ป้องกันตันฉอง เตรียมรับมือการยกพลขึ้นเหนือครั้งที่ 2 ของขงเบ้ง
ปลายปี ค.ศ. 228 ซุนกวน (อ๋องแห่งงอก๊ก) ได้คิดอุบายรุกล้ำเขตแดนของวุยก๊ก โดยแสร้งทำเป็นแปรพักตร์เข้าด้วยวุยก๊ก แล้วแต่งตั้งให้ลกซุนเป็นแม่ทัพใหญ่นำทัพโจมตีโจฮิว (ขุนพลวุยก๊กผู้ดูแลชายแดนด้านตะวันออกของเมืองลกเอี๋ยงในเวลานั้น) จนต้องล่าถอยไปยังเซ็กเต๋ง ทำให้โจยอยจำเป็นต้องแบ่งทหารบางส่วนออกไปเสริมกำลังด้านตะวันออก เป็นผลให้เมืองลกเอี๋ยงเหลือกำลังทหารรักษาเมืองไม่มากนัก
.
เมื่อได้ยินข่าวความปราชัยของวุยก๊ก ขงเบ้งจึงดีใจเป็นอย่างมาก เขาเฝ้ารอคอยโอกาสที่วุยก๊กเพลี่ยงพล้ำอยู่นานหลายเดือนทีเดียว
ด้วยความอับอายจากการพ่ายศึกในการยกพลขึ้นเหนือครั้งเเรก เสมือนแผลเป็นที่ไม่มีวันลบหาย ขงเบ้งจึงมิอาจอยู่ได้อย่างเป็นสุข เขาวิเคราะห์ความพ่ายแพ้จากศึกในครั้งนั้นว่า เป็นเพราะความประมาทในการใช้งานคนที่ผิดพลาด จึงทำให้ต้องพบกับความปราชัยอย่างอัปยศเช่นนี้ แต่ขงเบ้งมิได้เฝ้ารอคอยโอกาสโดยนิ่งเฉย ระหว่างตั้งทัพอยู่ในเขตเมืองอันต๋ง อันเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์นั้น เขาได้ตระเตรียมไพร่พล แลฝึกทหารด้วยความเคร่งครัด
เนื่องจากเมืองอันต๋งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบ และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์บนที่ราบยาวซึ่งเหมาะแก่การตั้งรับ เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ แลมีแม่น้ำฮั่นซุย (ฮั่นฉุ่ย) อยู่ระหว่างเทือกเขาใหญ่สองเทือก คือ ‘เทือกเขาฉินหลิ่ง’ ทางเหนือ และ ‘เทือกเขาบิซองสัน’ (หมี่ชางชาน) ทางใต้ ทำให้ข้าศึกไม่อาจบุกเข้าโจมตีได้ง่าย
ขงเบ้งเห็นโอกาสนี้ จึงเขียนฎีกาออกศึกฉบับที่ 2 (นักวิชาการยุคราชวงศ์ชิงชื่อ เฉียน ต้าจัว ได้ให้ข้อสังเกตุว่า ฎีกาออกศึกฉบับหลังไม่ได้เขียนโดยจูกัดเหลียง) เพื่อออกศึกยกพลขึ้นเหนือปราบวุยก๊กครั้งที่ 2 ใจความสำคัญ ดังนี้
“1)พระจักรพรรดิองค์ก่อน เห็นว่าฮั่นกับพวกโจรกบฏไม่อาจอยู่รวมกันได้ และรัฐเราไม่อาจพอใจเพียงความมั่นคงภายในเท่านั้น ดังนั้นพระองค์จึงทรงมอบหมายให้ข้าพระพุทธเจ้าโจมตีพวกโจรกบฏ เมื่อข้าพเจ้าได้รับมอบหมายภารกิจ ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจกินได้นอนหลับอย่างเป็นสุข
2)ในเดือนห้า ข้าพระพุทธเจ้าข้ามลกเข้าดินแดนแห้งแล้งกันดาร ข้าพระพุทธเจ้ารับประทานอาหารเพียงทุก ๆ สองวัน ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าข้าพระพุทธเจ้าไม่รักตัวเอง เราไม่อาจคาดหวังความปลอดภัยได้เพียงแค่อยู่ในจกก๊ก ข้าพระพุทธเจ้าจึงต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อสานต่อปณิธานของจักรพรรดิองค์ก่อน แต่ก็ยังมีผู้โต้แย้งว่านี่ไม่ใช่แผนที่ดีที่สุด
3)บัดนี้ข้าศึกกำลังวุ่นวายอยู่ทางตะวันตก และถูกยึดครองพื้นที่ทางตะวันออก ตามหลักพิชัยยุทธ์แล้ว เวลาที่ดีที่สุดที่จะโจมตีข้าศึกคือเวลาที่ข้าศึกเหนื่อยล้า บัดนี้เป็นเวลาอันเหมาะแล้วที่จะเคลื่อนทัพเข้าโจมตีวุยก๊กให้แตกพ่ายโดยเร็ว”
ในขณะเดียวกัน พระเจ้าโจยอยที่กำลังหวั่นวิตกจากการพ่ายศึกที่เซ็กเต๋ง ได้เห็นโอกาสจากการรบชนะขงเบ้งในการยกพลขึ้นเหนือครั้งที่ 1 เพื่อปลุกให้กองทัพมีความฮึกเหิมได้ใจอีกครั้ง จึงคิดจะยกทหารลงใต้เพื่อบุกยึดเสฉวนของจกก๊กให้ได้โดยเร็ว จึงได้ประชุมขุนนางเพื่อหารือเรื่องการศึกต่อไป
.
ในวรรณกรรมอธิบายว่า สุมาอี้ได้ทูลทัดทานพระเจ้าโจยอย เนื่องจากในเวลานั้นตรงกับฤดูคิมหันต์ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อน ทำให้ไม่เหมาะกับการทำศึก เพราะต้องใช้ทรัพยากรในการหล่อเลี้ยงกองทัพเป็นอันมาก
อีกทั้งวุยก๊กมีความจำเป็นต้องแบ่งทหารไปเสริมแนวรบด้านตะวันออก หากต้องแบ่งทหารไปโจมตีจกก๊กอีกทางเห็นทีคงต้องเสียเปรียบข้าศึกเป็นแน่แท้ และอาจเป็นการเปิดช่องว่างให้ขงเบ้ง ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่เมืองอันต๋ง สามารถบุกโจมตีเมืองลกเอี๋ยงได้โดยง่าย เพราะไม่มีกำลังทหารคอยอยู่เฝ้ารักษาเมือง
.
แผนบุกยึดเสฉวนจึงนับว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะได้ไม่คุ้มเสีย สุมาอี้จึงแนะนำให้ใช้แผน “รับเพื่อรุกจะดีกว่า”
แผนที่การยกพลขึ้นเหนือครั้งที่ 2 ของขงเบ้ง
พระเจ้าโจยอยจึงตั้งข้อสังเกตว่า บัดนี้ขงเบ้งทำการสะสมเสบียงและฟื้นกำลังทหารอยู่ที่เมืองอันต๋ง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของจกก๊กที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองลกเอี๋ยงเท่าไหร่นัก หากวุยก๊กเอาแต่นิ่งเฉย ไม่ยอมนำกำลังเข้าบุกโจมตีระหว่างที่ข้าศึกกำลังอ่อนล้า เมื่อข้าศึกฟื้นตัวได้อาจยกทัพขึ้นเหนือบุกวุยก๊กอีกครั้ง อาจจะทำให้รับมือได้ลำบาก
สุมาอี้ (ฉบับจดหมายเหตุบอกว่าเป็นโจจิ๋น) จึงเสนอความคิดว่า หากวิเคราะห์ตามจุดยุทธศาสตร์ของเมืองอันต๋ง เชื่อว่าขงเบ้งจะไม่บุกมาทางเขากิสานเหมือนคราวก่อนเป็นแน่ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเดินทัพที่ยาวนาน อาจทำให้เสบียงกองทัพมีปัญหาได้
เนื่องจากการทำศึกสำคัญอยู่ที่เสบียงกองทัพ หากไร้เสบียง กองทัพก็ไร้กำลังรบ ดังนั้นขงเบ้งจึงจำเป็นต้องยกทัพลัดมาทางเมืองตันฉองเพื่อประหยัดเสบียงทัพไว้ก่อน หากวุยก๊กนำกำลังทหารให้ยกไปปิดปากทางเข้าเมืองไว้ ขงเบ้งก็จะเดินทางเข้าเมืองลกเอี๋ยงได้ลำบาก เชื่อว่าไม่เกินหนึ่งเดือน เมื่อทัพจกก๊กขาดเสบียง ขงเบ้งต้องยกทัพกลับเมืองอันต๋งไปอย่างแน่นอน
เมื่อวิเคราะห์ตามแผนของสุมาอี้ เขารู้ดีว่าจุดอ่อนของขงเบ้งคือไม่อาจทำศึกได้ในเวลานาน จึงคิดใช้แผนประวิงเวลา ให้กองทัพจกก๊กขาดเสบียงจนถอยร่นกลับไปเอง และจะใช้จังหวะในความชุลมุนวุ่นวายนี้ เผด็จศึกขงเบ้งได้โดยง่าย
.
พระเจ้าโจยอยได้ยินดังนั้นจึงตรัสถามสุมาอี้ว่า “แล้วท่านเห็นว่าใครเหมาะสมที่จะให้ไปป้องกันเมืองตันฉองในศึกคราวนี้”
สุมาอี้จึงว่า “เฮกเจียว ขุนพลเฒ่าชาวเมืองไท่หยวน มีรูปร่างใหญ่กำยำ ตัวสูงได้หกศอกเศษ มีสติปัญญาเป็นอันมาก เข้าร่วมกองทัพตั้งแต่อายุยังเยาว์ และได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าเมืองโหไส นำทัพออกศึกมีผลงานประสบความสำเร็จในทุกยุทธการ เมื่อดูอายุ สติปัญญา และความสามารถแล้ว เฮกเจียวผู้นี้เห็นทีจะสามารถรับมือกับขงเบ้งได้อย่างแน่นอน”
โจยอยเมื่อคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วก็เห็นด้วยกับแผนของสุมาอี้ ได้มีหนังสือไปถึงเฮกเจียวที่เมืองโหไส พร้อมกับมอบทหารให้ 1,000 นาย เพื่อตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลตันฉอง เพื่อปิดทางลัดในการขนส่งเสบียง และรอรับมือกับกองทัพของจกก๊กต่อไป
โปรดติดตามตอนต่อไป
Author: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
Refer:
- ราชบัณฑิตยสภา. (2471). สามก๊ก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนาก
- ยศไกร ส.ตันสกุล. (2556). จดหมายเหตุสามก๊กฉบับเฉินโซว่. กรุงเทพฯ: ปราชญ์สำนักพิมพ์
- เล่าชวนหัว. (2553).สามก๊กฉบับคนเดินดินเปิดหน้ากากขงเบ้ง .กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เคล็ดไทย
โฆษณา