18 มี.ค. เวลา 06:52 • การตลาด

9 วิธีเพิ่ม "Brand Sentiment" ในเชิงบวก

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า "Brand Sentiment" คืออะไร?
มันคือการวัดว่าผู้คนพูดถึงแบรนด์ของเรายังไง ไม่ว่าจะพูดถึงในเชิงบวก ลบ หรือเฉย ๆ เปรียบเสมือนการเช็คสุขภาพของแบรนด์ โดยใช้เครื่องมือ Social Listening Tool ในการติดตามและวิเคราะห์นั่นเอง
ส่วน "Sentiment Analysis" ก็คือ เครื่องมือวิเคราะห์ความรู้สึก
เครื่องมือนี้ช่วยให้เข้าใจภาพลักษณ์ของแบรนด์บนโลกออนไลน์แบบลึกซึ้ง ไม่ได้จำกัดแค่ยอดไลก์ คอมเมนต์หรือแชร์ แต่ช่วยให้เข้าใจถึงความรู้สึกของลูกค้าจริง ๆ นำไปสู่การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่แม่นยำ สร้างชื่อเสียงในเชิงบวก และนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจได้
วันนี้เราจะพามาดู 9 วิธี ในการเพิ่ม “Brand Sentiment” ให้เป็นเชิงบวกกันค่ะ
1. Know your audience: รู้จักกลุ่มเป้าหมาย
ศึกษาและทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์อย่างลึกซึ้ง เพราะการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้านั้น จำเป็นต้องเจาะลึกถึงความต้องการ และพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ปรับข้อความและคอนเทนต์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม จะทำให้การมีส่วนร่วมกับลูกค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. Address negativity head-on: จัดการกับ Sentiments เชิงลบ
เมื่อเจอคอมเมนต์หรือความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับแบรนด์ ไม่ว่าจากลูกค้าหรือกลุ่มอื่น ๆ ควรรีบจัดการโดยเร็วและเป็นมืออาชีพ ต้องเข้าไปชี้แจงหรือแก้ไขปัญหาทันที เปลี่ยนมุมมองเชิงลบให้เป็นบวก เพื่อปรับทัศนคติของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ให้ดีขึ้น
3. Improve customer service: การบริการลูกค้าคือกุญแจสำคัญ
การติดตามความคิดเห็นของลูกค้า (sentiment monitoring) ช่วยให้ทีมบริการลูกค้าและทีมสนับสนุน ทำงานได้ง่ายขึ้น เช่น
- รู้ทันปัญหา และเตรียมตัวรับมือ หรือทำคอนเทนต์แจ้งลูกค้า สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
- แก้ปัญหาเชิงรุก แค่การตอบกลับหรือทักทายง่าย ๆ ก็ช่วยให้ลูกค้าประทับใจ และปัญหาก็อาจจะจบตั้งแต่ยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ
4. Tweak brand messaging and product development: อัพเกรดสไตล์การสื่อสารและพัฒนาสินค้าให้โดนใจ
จากการติดตามข้อมูลความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดีย แบรนด์จะได้เห็นภาพรวมว่ากระแสหรือประเด็นไหนมีคนพูดถึงเยอะ ไม่ว่าจะในเชิงบวก ลบ หรือเฉย ๆ ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์เห็นว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับกลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์ รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
ยกตัวอย่าง เช่น Zoom เห็นคนมีปัญหาใช้งานบางอย่าง ก็รีบทำคลิปสั้นบน TikTok สอนการใช้งานทันที ทำให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีขึ้นและมั่นใจในแบรนด์มากขึ้น
5. Benchmark your niche: เข้าใจสถานะตัวเองในกลุ่มเป้าหมายที่ Niche
แบรนด์ต้องทำความเข้าใจว่าสถานะปัจจุบันของตนเองอยู่ในจุดไหนของกลุ่มเป้าหมาย (niche) หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่ายืนอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์สามารถวางตำแหน่งตัวเอง ปรับกลยุทธ์ให้โดดเด่น และสื่อสารได้ตรงกลุ่มมากขึ้น
ยกตัวอย่าง บริษัทมีเดีย Underknown ได้สร้างช่อง YouTube ชื่อ "According to Science" ที่พูดถึงเรื่องทางวิทยาศาสตร์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ พอปรับเปลี่ยนไปทำเนื้อหาเกี่ยวกับการรอดชีวิต (Survival) แทน ภายใต้ชื่อช่อง "How to Survive" กลับกลายเป็นช่องที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น สามารถสร้างฐานผู้ติดตามถึง 1 ล้านคนภายในระยะเวลาเพียง 18 เดือนเท่านั้น
6. Use influencer marketing: ร่วมมือกับ Influencer
การร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความเหมาะสมและน่าเชื่อถือ จะช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น สามารถสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดผู้ชมได้อย่างแท้จริง เนื่องจากอินฟลูเอนเซอร์มีความน่าเชื่อถือและจริงใจกับสิ่งที่นำเสนอ คนที่ชอบอินฟลูเอนเซอร์ก็จะชอบแบรนด์ที่นำเสนอนั้นด้วย หากเลือกอินฟลูเอนเซอร์คนที่ชอบแบรนด์เราจริง ๆ ก็จะช่วยสร้างคอนเทนต์ที่ทัชใจ ได้มากกว่าโฆษณาจากแบรนด์ซะอีก
7. Track your progress: ติดตามความรู้สึกของผู้คนตลอดเวลา
การติดตามความรู้สึกของผู้บริโภคบนโซเชียลอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากความรู้สึกนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อภาพลักษณ์แบรนด์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้แบรนด์สามารถปรับและเลือกใช้กลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ดีที่สุด
8. Play to your strengths: เล่นกับจุดแข็งของตัวเอง
ไม่จำเป็นที่แบรนด์จะต้องเก่งทุกด้าน แต่ให้หาจุดเด่นหรือสิ่งที่แบรนด์ถนัดและมีความโดดเด่นที่แตกต่างจากคนอื่น แล้วโปรโมตและเน้นย้ำจุดแข็งเหล่านั้น การเล่นในจุดที่เราถนัดจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและชัดเจนให้แก่แบรนด์ได้มาก เหมือนกรณีของ Wendy's แบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่รู้ว่าลูกค้าชอบมุกตลก เลยเน้นโพสต์แบบตลก ๆ หยอกล้อกับผู้คนบนโซเชียลบ่อย ๆ
9. Spot brand crises early: รู้ทันก่อนทัวร์ลง
การติดตามเสียงสะท้อนและ Sentiment เกี่ยวกับแบรนด์อย่างใกล้ชิด เปรียบเสมือนมีเซนเซอร์ที่วัดความรู้สึกของผู้คน ทำให้แบรนด์สามารถจับประเด็นหรือปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับมือและวางแผนแก้ไขได้ทันท่วงที ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามใหญ่โตจนยากจะควบคุมสถานการณ์
การติดตาม Brand Sentiment และการปรับกลยุทธ์ตามผลวิเคราะห์นี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก สร้างฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น และนำไปสู่ความสำเร็จของแบรนด์ได้ค่ะ
.
โฆษณา