18 มี.ค. 2024 เวลา 11:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ส่องโมเดล’เศรษฐกิจหมุนเวียน’ Action plan

ยุทธศาสตร์ไทยเทียบ 5 ต้นแบบสร้างความมั่งคั่ง
เปิดโมเดล “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ยุทธศาสตร์ออกแบบระบบนิเวศ สังคมบริโภคอย่างรับผิดชอบ โอกาสจ้างงานในธุรกิจใหม่กว่า 7-8 ล้านตำแหน่งในปี 2573 แกะรอย 5 ประเทศต้นแบบสร้างความมั่งคั่งจากเศรษฐกิจหมุนเวียน เทียบยุทธศาสตร์ไทยปั้นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ ผ่านโมเดล BCG
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ศึกษาแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนจาก 5 ประเทศทั่วโลก พร้อมแนะภาครัฐควรส่งเสริม อำนวยความสะดวก และสนับสนุน ให้รอบด้าน เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืน
โลกแห่งการบริโภคจนเกินความต้องการที่ผ่านมา ตามแนวทางเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ใช้แล้วหมดไป ใช้แล้วทิ้ง ใช้ครั้งเดียว เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟื่อย ส่งผลทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัด ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากรโลกกว่า 8,000 ล้านคน โจทย์ของภาคการผลิตสินค้าในยุคต่อไป จึงต้องคิดค้นหาวิธีการผลิตใหม่ และที่ผลิตอยู่แล้วในตลาด นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ ตามแนวทาง 3 R ลดการใช้ นำกลับมาใช้ใหม่ และนำไปรีไซเคิลวัตถุดิบเปลี่ยนรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ ( Reduce, Reuse, Recycle)
นี่คือหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรเสื่อมโทรม ทรัพยากรขาดแคลน ลดปริมาณขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตใหม่ จึงทำให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจใหม่ ที่ตอบสองการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ นำกลับมาใช้ใหม่
อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยหาวิธีการในการกำจัดของเสีย พัฒนาสินค้าที่มีความคงทนใช้งานได้นานขึ้น สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ทำให้ทุกคนเข้าถึงสินค้าคุณภาพ ในราคาไม่สูง ถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นระบบ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ทิศทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอบโจทย์ในยุคหน้า ช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอุตสาหกรรมที่ช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบ และเศรษฐกิจหมุนเวียนยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)
คาดว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนอาจช่วยสร้างงานใหม่ทั่วโลก ประมาณ 7 – 8 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2573 และช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หลายเป้าหมาย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ
3 ยุทธศาสตร์ ออกแบบระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน
สนค. ได้ศึกษาแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลก โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เสนอแนะว่า ภาครัฐควรมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 ด้าน ได้แก่
1.การส่งเสริม (promoting) โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน และส่งเสริมวัฒนธรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน
2. การอำนวยความสะดวก (facilitating) โดยอำนวยความสะดวกในการประสานงานเชื่อมโยงนโยบายและแผนงานอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน
3. การสนับสนุน (enabling) โดยช่วยระดมเงินทุนและจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการประเมินผล
ส่อง 5 ประเทศ ต้นแบบสร้างความมั่งคั่ง
เศรษฐกิจหมุนเวียน
ผอ. สนค. กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาแนวทางของภาครัฐใน 5 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และจีน พบว่า แต่ละประเทศมีแนวทางที่สอดคล้องและครบถ้วนตามข้อเสนอแนะของ OECD แตกต่างกันไป โดยทุกประเทศมีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กำหนดมาตรการ ในการลดขยะ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาทักษะที่จำเป็น
สหภาพยุโรป ที่ผ่านมาได้มีการทบทวนแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Action Plan: CEAP) ค.ศ. 2015 ก่อนจัดทำแผน CEAP ใหม่ในปี ค.ศ. 2020 เพื่อให้การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมทั้งด้านการผลิตและการบริโภค ในระดับประชาชน เมือง และภูมิภาค รวมถึงเป็นผู้นำโลกในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ฟินแลนด์ ได้จัดตั้งกองทุนนวัตกรรม SITRA ที่มีภารกิจสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ มีแนวทางหลัก 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจ การขยายตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน การสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาระบบนิเวศของเศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนานวัตกรรม ดิจิทัล และศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนประเทศอื่นด้วย
เนเธอร์แลนด์ ได้ก่อตั้ง Netherland Circular Accelerator! เป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs และพัฒนา Holland Circular Hotspot ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจหมุนเวียน
ญี่ปุ่น ได้เปิดตัว Japan Partnership for Circular Economy (J4CE) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ประกอบการในประเทศ และสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านการปรับตัวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
จีน ออกมาตรการสนับสนุนทางการเงิน มาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจหมุนเวียน สนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุน Central Financial Rewarding Fund และให้สินเชื่อ Green credits และ Green bonds แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจหมุนเวียน
#สนค.
#เศรษฐกิจหมุนเวียน
#สิ่งแวดล้อม
#Circular
#Economy
#ความยั่งยืน
#สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
โฆษณา