19 มี.ค. เวลา 02:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เชียงใหม่

เจาะภารกิจ NASA เหนือน่านฟ้าไทยกับปัญหาฝุ่นควัน-คุณภาพอากาศ PM 2.5

ภาพของการบิน Low Pass เหนือพื้นรันเวย์ 15 เมตร ในรูปแบบ Missed approach ของเครื่องบินคุณปู่ McDonnell Douglas DC-8 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ NASA (National Aeronautics and Space Administration) NASA's DC - 8 N817 โฉบบินต่ำ ณ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ VTCC ได้รับความสนใจ เมื่อวานนี้ (18 มีนาคม 2567) เพราะภารกิจนี้ไม่ธรรมดา
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 เครื่องคุณปู่ลำนี้ อายุ 55 ปีได้ปินทางจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมกับเครื่องบิน Gulfstream C-20A ทะเบียน N520NA อีก 1 ลำ มาถึงยังท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นเบส และจะทำภารกิจตั้งแต่วันที่ 15-25 มีนาคม 2567 และจะได้เดินทางออกจากประเทศไทยในวันที่ 27 มีนาคม 2567 ใช้เวลาประมาณครึ่งเดือนที่ภาคเหนือของไทยอยู่ในภาวะไฟป่าฝุ่นควันที่วิกฤติสุด
Gulfstream C-20A ทะเบียน N520NA จะบินในลักษณะเป็น Pattern ในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กินระยะยาว 135 กิโลเมตร กว้าง 50 กิโลเมตร เพื่อทำแผนที่ 2D ของ NO2 และ Formaldehyde ด้วยอุปกรณ์ GEO-CAPE Airborne Simulator (GCAS) และทำแผนที่ Aerosol และ Ozone ด้วย LiDAR
ภารกิจนี้ไทยโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ด้ประสานงานมาล่วงหน้า 3 ปี โดยจะเน้นศึกษาปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาฝุ่นละออง PM2.5ภายในประเทศไทย
ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) ซึ่ง NASA จะทำงานร่วมกับหน่วยงานในภูมิภาคเพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการศึกษาด้านอากาศโดยใช้เครื่องบิน สถานีภาคพื้นดิน และดาวเทียมสำรวจ โดยร่วมกับพันธมิตรในเอเชีย 5 ราย ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย
สำหรับเครื่อง NASA's DC - 8 N817 ถูกดัดแปลงให้ติดตั้งเครื่องมือตรวจสภาพอากาศด้วยกันทั้งสิ้นถึง 23 เครื่องมือ สามารถวิเคราะห์ปริมาณขององค์ประกอบในอากาศได้ไม่ต่ำกว่า 28 โมเลกุล พร้อมทั้งเซ็นเซอร์ที่สามารถวิเคราะห์ขนาด ความหนาแน่น ค่าการสะท้อนแสงของละอองลอยในอากาศ ได้ทุกระดับความสูง เป็นห้องทดลองสภาพอากาศบินได้เคลื่อนที่ ที่บินในภารกิจสำรวจสภาพอากาศมาแล้วทั่วโลก
โดยภารกิจนี้ได้วางแผนเก็บข้อมูลเหนือน่านฟ้าประเทศไทยระหว่างวันที่ 16-25 มีนาคม โดยอาศัยการขึ้นบินจากระยะความสูงที่ต่างกัน เพื่อศึกษาความแตกต่างของบรรยากาศในแต่ละระดับความสูง และรวมกับข้อมูลจากอุปกรณ์บนเครื่อง G-III ที่ขึ้นบินศึกษาจากระยะเพดานบิน 28,000 ฟุตอย่างสม่ำเสมอ โดยภารกิจ ASIA-AQ ในไทยนี้เป็นหนึ่งในภารกิจสุดท้ายก่อนที่เครื่องจะปลดประจำการไปอย่างถาวร และจะนำเรื่อง Boeing 777 มาเข้าปฏิบัติการแทนในอนาคต
ดร. มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. ได้โพสต์รายละเอียดในเพจ NARIT ว่า ภารกิจ ASIA-AQ เน้นการศึกษาการกระจายตัวของมลพิษตามความสูงต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ ที่เรียกว่า vertical profile ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศระหว่างที่อยู่ระดับความสูงต่าง ๆ โดยตรง (in-situ measurements) นำมาสู่การใช้เครื่องบินที่เต็มไปด้วยเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่สามารถดูดอากาศภายนอกเครื่องบินเข้าไปวิเคราะห์หาองค์ประกอบ ขนาดอนุภาค ความหนาแน่น ฯลฯ ได้
เทคนิคการบินสำหรับการศึกษานี้มีความท้าทาย การเก็บตัวอย่าง vertical profile คือจะต้องบินลดระดับ ตั้งแต่ 11,000 ฟุต ไปจนถึงความสูงเพียง 50 ฟุตจากพื้น ซึ่งการลดระดับลงต่ำใกล้พื้นในระดับนี้นั้น จะสามารถทำได้ในบริเวณเหนือท่าอากาศยานเพียงเท่านั้น เครื่องบิน DC-8 จึงใช้การบินในรูปแบบของ missed approach หรือการจำลองการลงจอดลงบนรันเวย์ แต่ลอยอยู่เหนือจากพื้นเพียง 50 ฟุต (ประมาณ 15 เมตร) ก่อนที่จะทำการไต่ระดับขึ้นไปยัง 11,000 ฟุต (ประมาณ 3.3 กม.) อีกครั้ง เพื่อวัดการกระจายตัวของมลพิษในอากาศ
โดยแต่ละเที่ยวบินของเครื่องบิน DC-8 นั้น จะออกบินจากสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง และทำการ missed approach เหนือสนามบินดอนเมือง สุโขทัย เชียงใหม่ แพร่ พิษณุโลก และกลับมา missed approach ยังสนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภา ก่อนจะวนกลับไปยังภาคเหนือซ้ำอีกรอบตามลำดับ รวมระยะเวลาบินทั้งสิ้นประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบสภาพอากาศทั้งในช่วงเช้าและบ่าย เหนือพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย
งานนี้ GISTDA ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งทีมร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ไทยเพื่อทำงานร่วมกับ NASA โดยทีมวิชาการประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และในการบินเพื่อเก็บข้อมูลอากาศในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานทางทหารที่เกี่ยวข้อง (กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กรมแผนที่ทหาร), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัดและสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT)
บทสรุป: ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่าของภาคเหนือ ต้องใช้ความอดทนและเติมทุกศาสตร์ เป็นพหุศาสตร์ที่จะต้องเข้าไปทะลุทะลวง ไม่มีใครถูกผิด เพราะปัญหาพันกันเป็นปมเชือกที่ขมวดแข็งเกลียว การค่อย ๆ แกะทีละปม เติมเต็มไม่ใช่แก้ไขไปผูกปมใหม่ ปัญหาก็จะไม่มีที่สิ้นสุด กฎหมายอากาศสะอาด เป็นความหวังที่อาจะมิใช่คำตอบสุดท้ายเพราะมีอีกหลายมิติที่ยังเป็นปมใหญ่ ทั้งในพรมแดน และข้ามพรมแดน
หวังว่าในเชิงของ NASA ที่มาศึกษาครั้งนี้จะได้ปิด Gap คลี่ปมได้ในไม่ช้าจะได้พฤติกรรมของฝุ่นควัน พิษภัยอันตราย ช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงปัจจัยที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการติดตามสถานการณ์การประเมินการปล่อยแก๊สจากแหล่งต่างๆ ปรากฏการณ์ทางเคมี รวมถึงผลกระทบจากด้านการขนส่งประเภทต่างๆ
โดยผ่านการสร้างแบบจำลองที่หลากหลายเพื่อใช้สำหรับการออกแบบนโยบายในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ที่สำคัญคือการได้มีส่วนลดผลกระทบ และแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในอนาคต
ผู้สนใจสามารถติดตามเส้นทางการบินของ DC-8 ได้จากเว็บไซต์ เช่น flightradar โดยใช้รหัส N817NA และสามารถชมการ missed approach ของเครื่องบินนี้ได้ตามสนามบินที่อยู่ในแผนการบิน สำหรับรายละเอียดของภารกิจ ASIA-AQ และความร่วมมือระหว่าง NASA และ NARIT ในการวิเคราะห์ วิจัย ทำความเข้าใจเพื่อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในระยะยาวนั้น ติดตามรายละเอียดต่อไปได้ทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ GISTDA
ขอบคุณภาพ : https://www.facebook.com/NARITpage และ Chittapon Kaewkiriya - Love Airplanes , และ https://fire.airnow.gov/
เรื่องเกี่ยวเนื่อง : Spaceth.co
เจาะลึกโครงการ ASIA-AQ ทำไม NASA ต้องส่งเครื่องบินมาที่ไทย - https://spaceth.co/what-is-asia-aq/ และ https://spaceth.co/dc-8-airborne-science-laboratory
#NARIT #GISTDA #อว #NASA #คุณภาพอากาศ #มลพิษทางอากาศ #ASIAAQ #SPACEFORALL #GIFORALL #DC8 #กรมควบคุมมลพิษ #มหาวิทยาลัยศิลปากร #สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง #กระทรวงกลาโหม #กองทัพอากาศ #กองทัพเรือ #กรมแผนที่ทหาร #วิทยุการบินแห่งประเทศไทย #สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย #CAAT
โฆษณา