19 มี.ค. เวลา 02:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไม ญี่ปุ่น จะขึ้นดอกเบี้ย สวนทางกับประเทศอื่น ๆ ที่กำลังจะลด ?

ในช่วงนี้ ราคาทองคำ รวมถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งเหตุผลหนึ่งมาจากการที่กระแสเงินกำลังไหลออกจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) กำลังพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
เมื่อพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ กำลังจะลดดอกเบี้ย หลายประเทศทั่วโลก ก็เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อเตรียมปรับลดดอกเบี้ยของตัวเองเช่นกัน
นอกจากเพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงินที่เกิดจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศแล้ว
อีกประเด็นก็เพราะว่าเงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว ประกอบกับบางประเทศพบสัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง จึงหันมามองนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นนั่นเอง
แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก กลับสวนกระแส เพราะธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) กำลังหาทางปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี..
ทำไมญี่ปุ่น ถึงจะเพิ่มดอกเบี้ย สวนทางกลับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ที่ผ่านมา ธนาคารกลางในหลายประเทศ ต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสู้กับเงินเฟ้อระดับสูงซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก
แต่ญี่ปุ่นกลับดำเนินนโยบายที่ตรงกันข้าม ด้วยการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แถมยังให้คงดอกเบี้ยนโยบายติดลบเอาไว้
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า เงินเฟ้อคือสิ่งที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรอคอยมานาน..
เนื่องจาก ญี่ปุ่นต้องต่อสู้กับภาวะเงินฝืดมากว่า 2 ทศวรรษ จากวิกฤติฟองสบู่ครั้งใหญ่ในอดีต ทำให้คนญี่ปุ่นไม่กล้าใช้เงิน อีกทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ไปไหนเลย
ซึ่งในช่วงปี 1990 ถึงปี 2020 ญี่ปุ่นประสบกับภาวะเงินฝืด มากถึง 14 ปี จนมีคำเรียกว่า “Lost Decades”
ธนาคารกลางของญี่ปุ่น หรือ BOJ จึงไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยมาตั้งแต่ปี 2007 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และคงดอกเบี้ยติดลบมาตั้งแต่ปี 2016 เพื่อให้คนนำเงินออกมาใช้ แทนที่จะฝากธนาคาร
และอีกเหตุผลที่ทำให้ BOJ ไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็เพราะตั้งแต่อดีต รัฐบาลญี่ปุ่นก่อหนี้จำนวนมาก เพื่อนำมาใช้จ่ายทั้งด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และสวัสดิการทางสังคม จนมีหนี้สินต่อ GDP กว่า 250% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก
ทำให้หากขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจอ่อนแอ รัฐบาลที่มีหนี้มาก ก็จะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มตามไปด้วย
1
การกดดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ จึงเป็นแนวทางที่ดำเนินการมานาน
ที่น่าสนใจคือ ในขณะที่เงินเฟ้อก่อตัวขึ้นทั่วโลก จากผลของการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงล็อกดาวน์ จนทำให้หลายประเทศต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในภายหลัง เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
1
แต่ตัวเลขเงินเฟ้อในญี่ปุ่น กลับเป็นเงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ โดยหากไปดูตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่น เทียบกับสหรัฐฯ จะพบว่า
- อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น
2021 : -0.2%
2022 : 2.5%
2023 : 3.2%
- อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ
2021 : 4.7%
2022 : 8.0%
2023 : 4.1%
จะเห็นว่า เงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ในระดับอ่อน ๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจ จนเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดเรื้อรังแล้ว
ทำให้ในปี 2023 BOJ ไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเลย แถมยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบไว้ต่อเนื่อง
แต่ฝั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนถึงระดับ 5.25 - 5.50% เพราะเจอเงินเฟ้อสูงถึง 8%
อีกทั้งเมื่อเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนการผลิตและบริการสูงขึ้น ผลที่ตามมาคือ ราคาสินค้าและบริการในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทำให้ผลประกอบการของภาคเอกชนดูดีขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น GDP ของประเทศขยายตัว
ส่งผลต่อยอดหนี้ต่อ GDP ลดลง เพราะหนี้สินที่เป็นเงินต้นจะ Fix อยู่ที่เดิมตามมูลค่าเงินที่กู้
2
สรุปคือ ทั้งภาษีที่เก็บได้มากขึ้น และ GDP ที่โตขึ้น ช่วยให้รัฐบาลญี่ปุ่น มีหนทางลดระดับหนี้ที่สูงซึ่งสะสมมานานหลายปี
ดังนั้น เงินเฟ้อในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนสิ่งที่ญี่ปุ่นรอคอยมาอย่างยาวนาน
แล้วทำไมในตอนนี้ ญี่ปุ่นถึงกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ?
1
ตัดมาที่ปัจจุบัน เงินเฟ้อในหลายประเทศเริ่มอ่อนตัวลง เศรษฐกิจและการจ้างงานเริ่มซบเซา หลายประเทศก็เริ่มพูดถึงการปรับลดดอกเบี้ยให้ต่ำลง
อย่าง FED เองก็บอกชัดเจนว่า น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นได้ลดดอกเบี้ยตาม
แต่ญี่ปุ่นกลับสวนกระแส ด้วยการพูดถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี โดยจุดประสงค์หนึ่งคือเพื่อรักษาระดับค่าเงินเยน ไม่ให้อ่อนค่าจนเกินไป
เพราะแม้ว่าค่าเงินที่อ่อนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ จะดีต่อการส่งออกและท่องเที่ยว
แต่ก็ส่งผลลบต่อการนำเข้า เพราะทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม
โดยเฉพาะพลังงาน ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศไม่มีทรัพยากรพลังงาน เลยต้องนำเข้าเป็นหลัก
1
อีกประเด็นคือ ราคาพลังงานในญี่ปุ่น ยังมีเงินอุดหนุนของรัฐบาลช่วยกดราคาไว้ให้ต่ำ ซึ่งเมื่อการอุดหนุนจบลง เงินเฟ้อในประเทศก็จะพุ่งสูงขึ้นไปอีก
สรุปแล้ว ด้วยสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นกำลังเจอ คือ หลุดจากเงินฝืด และต้องสู้กับเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นอีก จนถึงการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินเยน
จึงผลักดันให้ BOJ พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบ 17 ปี สวนทางกลับประเทศอื่น ๆ ที่กำลังพูดถึงการลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อได้ปรับลดไปก่อนแล้ว นั่นเอง..
โฆษณา