Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ร
รู้รอบ ตอบได้ มีสาระ by T.March
•
ติดตาม
19 มี.ค. 2024 เวลา 05:46 • ประวัติศาสตร์
2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ กับ มุมมองทางประวัติศาสตร์
การ์ตูนแอมิเนชั่น เรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ถือได้ว่าเป็นการ์ตูนที่สะท้อนถึงเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ความเป็นประเชาธิปไตย โดยเริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยได้ไปค้นคว้าหาหนังสือที่หอสมุดวชิรญาณ ในระหว่างนั้นก็ได้พบกับลุงดอน นักศึกษาเข้าใจว่าเป็นบรรณารักษ์หอสมุดวชิรญาณ ลุงดอนได้เล่าเรื่องถึงแนวคิดของพระมหากษัตริย์นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่ามีแนวความคิดอะไรบ้าง อันนำมาสู่เรื่องราวของการปฏิวัติ
เมื่อลุงดอนกล่าวถึงการปฏิวัติ ลุงดอนได้เล่าเรื่องทั้งหมดนับแต่เหตุการณ์ พ.ศ. 2469 คือ การวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้อธิบายถึงบุคคลผู้ก่อการ วิธีการที่ผู้ก่อการใช้ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่มีต่อพระมหาษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ในส่วนของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้ถ่ายทอดออกมาจนผู้เข้าชมนั้น เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ จนทำให้หลายๆ คนถึงกับน้ำตาไหล และมีความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากขึ้น
นับแต่การ์ตูนแอมิเนชั่นเรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้ฉายแล้ว ก็เริ่มมีคำวิจารณ์ต่างๆ มากมาย บางกลุ่มก็ได้ออกมาพูดเรื่องของความน่าสงสารของพระมหากษัตริย์ และออกมาต่อว่ากลุ่มคณะราษฎรเป็นการใหญ่เลย แต่เมื่อผู้เขียนได้ชมเรื่องราวของการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว จึงอยากจะขอกล่าวถึงกลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และกลุ่มของคณะราษฎร ดังนี้
กลุ่มของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
เมื่อดูจุดเริ่มต้นของการ์ตูนแอมิเนชั่นเรื่องนี้ จะเห็นว่าเป็นเรื่องของแนวคิดของพระมหากษัตริย์ ที่พระองค์ทรงเห็นถึงภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตกับประเทศสยาม ดังนั้นพระองค์ทรงวางแผนที่จะปรับปรุงประเทศให้มีความทัดเทียมกับต่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในแถบยุโรป ซึ่งในช่วงนั้นประเทศในยุโรปกำลังล่าอาณานิคม หนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศสยามรอดพ้นได้ คือ การปรับตัวให้เข้ากับนานาอารยประเทศ
พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงหาหนทางในการพัฒนาประเทศให้มีความเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับชาติตะวันตกมากที่สุด ดังจะเห็นได้จาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามปรับปรุงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงกับชาติตะวันตกและยังคงความเป็นสยามมากที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปบ้านเมืองให้มีความทัดเทียมกับชาติตะวันตก รวมไปถึงพระองค์ทรงทราบถึงการปกครองของชาติตะวันตก ดังนั้นพระองค์ทรงปฏิรูปไปอย่างช้าๆ และให้กระทบกับคนสยามน้อยที่สุด
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเรื่องราวของชาติตะวันตกเป็นอย่างดี พระองค์ทรงเรียนรู้จากสิ่งรอบข้าง เช่น เรื่องการปกครองรูปแบบประชาธิปไตย พระองค์ทรงทดลองรูปแบบการปกครองประชาธิปไตย ชื่อ The New Republic โดยเริ่มต้นจากปารีสมาสู่กรุงเทพ และยังได้สร้างเมืองจำลองชื่อ เมืองมัง ซึ่งสร้างก่อนที่จะสร้างดุสิตธานี แต่เมื่อทดลองแล้วออกมาล้มเหลว พระองค์ทรงเห็นว่า คนไทยยังไม่มีความรู้และความสามารถด้านนี้ พระองค์จึงทรงวางแผนการศึกษาให้คนไทยก่อนที่จะดำเนินการนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงเรื่องการปกครองที่ชาติตะวันตกใช้อยู่และทรงทราบดีว่าจะต้องมีคนออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองแน่ ดังนั้นพระองค์จึงทรวงวางแผนด้านการเป็นประชาธิปไตย รวมถึงการใช้รัฐธรรมนูญ ดั่งปรากฏในเอกสารชื่อ Democarcy in Siam หรือ พระราชบันทึกประชาธิปไตยในสยาม ที่มุ่งเน้นให้มีการจัดตั้งเทศบาลและมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และการร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ เพื่อจะนำมาสู่การเกิดประชาธิปไตยในสยาม แต่ทุกอย่างก็จบสิ้นลง เมื่อถูกคัดค้านจากคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีความเป็นประชาธิปไตยในตัวพระองค์ เมื่อเห็นว่าอภิรัฐมนตรีสภาและผู้ร่างรัฐธรรมนูญต่างคัดค้าน จึงทรงพับโครงการไว้ และรอให้ถึงจังหวะดีๆ ก่อน ดังนั้นพระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จประพาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง การเยี่ยมเยือนทางการทูต รวมถึงพระองค์ได้ใช้ช่วงเวลานี้เตรียมแผนอื่นๆ เพื่อนำมาสร้างความเป็นประชาธิปไตย
กลุ่มของคณะราษฎร
กลุ่มของคณะราษฎร หากสังเกตลักษณะของกลุ่มคณะราษฎรให้ชัดเจน จะเห็นว่าพวกเขา คือ คนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้ประเทศสยามมีความเป็นเหมือนกับประเทศในยุโรป กล่าวคือ ประเทศในยุโรปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาเป็นแบบไหน สยามก็ต้องเป็นแบบนั้น นอกจากนี้คนกลุ่มนี้มองว่าข้าราชการหลายๆ ตำแหน่งเหมือนโดนกดขี่ข่มเหง จากการที่ต้องออกจากราชการ เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องการที่จะลดรายจ่ายลง แถมยังมีปัญหาเศรษฐกิจ สังคมมารุมเร้ามากมาย
คณะราษฎร จึงเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองและให้พระมหากษัตริย์เป็นเพียงประมุขหรือที่ปรึกษาในบางครั้งบางคราว และถ้าพวกเขาปกครองกันเองก็จะทำให้ประเทศสยามมีภาวะบ้านเมืองที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงได้ทำการปฏิวัติและดำเนินการปกครองกันเอง แต่ภายหลังกลับเจอปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกับคำว่า "อำนาจ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่เคยสัมผัส พอได้สัมผัสแล้วก็เกิดการแก่งแย่งอำนาจ กันเองไปมาในที่สุด
สำหรับ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นมันสมองของคณะราษฎรนั้นจะเห็นได้ว่า อ.ปรีดี ในขณะนั้นท่านเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ และเมื่อเห็นแล้วก็อยากเห็นสยามเป็นไปตามแบบต่างประเทศด้วย รวมไปถึง อ.ปรีดี ได้พยายามศึกษารูปแบบต่างๆ ของต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้กับประเทศสยามด้วย
สิ่งที่ อ.ปรีดี พลาดไปและไม่สามารถกลับมาแก้ได้ คือ การที่ อ.ปรีดีอยู่แต่ต่างประเทศ ศึกษาแต่เรื่องราวของต่างประเทศ จนลืมลงมาสำรวจข้อมูลของฝั่งสยาม ผ่านเสนาบดีก็ดี พระมหากษัตริย์ก็ดี เป็นผลให้ พรบ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามที่ท่านได้ร่างขึ้นมานั้น กลายเป็นฉบับชั่วคราว และเค้าโครงการเศรษฐกิจของ อ.ปรีดี กลายเป็นไม่ได้ใช้ และเป็นผลให้ท่านต้องไปอยู่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งตรงกับพระราชบันทึกประชาธิปไตยในสยามว่า "...สำหรับประเทศสยามอันตรายนั้นอยู่ที่ความใจร้อนรีบทำ"
เมื่อศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้ย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น อ.ปรีดี ได้ย้อนกลับมาคิดถึงเรื่องราวทั้งหมด และเห็นว่าสิ่งที่เขาทำได้พลาดไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากบทสัมภาษณ์ที่ให้ไว้กับ แอนโทนี่ พอล เมื่อปี 1979 ที่ว่า ท่านขาดประสบการณ์ และมัวแต่อิงกับทฤษฎีอย่างนักตำรา รวมถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีการอธิบายให้คนเข้าใจอย่างชัดเจน รวมถึงความที่ตัวเขามองว่าสยามควรจะเป็นไปตามแนวที่เขาได้วางไว้
ในส่วนของคณะราษฎรที่นอกเหนือจากศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ต่างก็ขัดแย้งกันเอง ทะเลาะกันเอง จนท้ายสุดคณะราษฎรก็เกิดการแตกหักขึ้นมา เพียงเพราะคำว่า "อำนาจ" ที่ได้รับ และความไม่เคารพสิทธิที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้กับคณะราษฎรในการดำเนินการตามรูปแบบที่พระองค์ทรงได้ให้พระราชวินิจฉัยไว้
เมื่อดูจากเรื่องราวที่เขียนมาทั้งหมดจะเห็นว่าในมุมมองของพระมหากษัตริย์ คือ ไม่ว่าจะอย่างไร ประชาธิปไตยจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่พระองค์จะขอเวลาให้ทุกอย่างดำเนินการไปอย่างช้าๆ และเมื่อเข้าที่แล้ว ประชาธิปไตยก็จะสามารถเดินไปได้อย่างสง่าผ่าเผย ผู้เขียนจึงขอเปรียบเทียบกับเด็ก เมื่อคลอดออกจากครรภ์มารดาก็ต้องค่อยๆ เลี้ยงดู อุ้มชูให้เขาเป็นคนดีของสังคม
แต่ของคณะราษฎรนั้น คือ เมื่อที่อื่นเขามี เขาพร้อม เราต้องมีอย่างเขา เหมือนดั่งเช่น เด็กที่ค่อยๆ เติบโต แต่กลายเป็นถูกเร่งให้เติบโต ดังนั้นจึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และสุดท้ายพวกเขาก็เสียท่าให้กับตัวเอง และกลายมาเป็นการแตกหักกันเองในที่สุด
ในเรื่องของมุมมอง ผู้เขียนไม่อยากให้แต่ละกลุ่มไปมองว่าคนนั้นดี คนนี้เลว หรือคนนั้นเลว คนนั้นดี แต่อยากให้มองที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นมากกว่า และมองถึงเจตนาของการกระทำของแต่ละฝ่ายด้วย เหมือนดั่งเช่น ถ้าคณะราษฎรไม่ดำเนินการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกเราก็อาจจะไม่ได้เห็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเราก็คงไม่เห็นถึงข้อบกพร่องของประชาธิปไตยที่ต้องปรับปรุง
ในขณะที่ฝั่งพระมหากษัตริย์ ทรงเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว ประชาธิปไตยในประเทศไทยอาจจะเกิดขึ้นช้ากว่านี้สัก 10 ปี 20 ปี หรือ 50 ปี และพวกเราอาจจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบกว่าที่อื่นๆ ตามมาก็เป็นได้ ดังนั้นแล้วการดูเรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัตินี้ มิใช่เป็นการดูให้เราเข้าข้างฝั่งใด แต่เป็นการดูให้เห็นว่าเมื่อเรามีประชาธิปไตยขึ้นมาแล้ว และเป็นการขัดแย้งแบบนี้กันแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยในประเทศไทย สามารถเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้นั่นเอง
อ้างอิง
1. สถาบันพระปกเกล้า. ข้อมูลในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. เมื่อ ร.๖ ทรงวิจารณ์การเมือง! น่าขันคนที่ยังคิดริษยาจะมาเป็นผู้ปกครองแบบสาธารณรัฐ. (9 สิงหาคม 2564). เรื่องเก่าเล่าสนุก. ใน
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000077873
ค้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567
3.เปิดคำสัมภาษณ์ “ปรีดี” ในวัย 79 ยอมรับความผิดพลาดใหญ่หลวงในอดีต. (15 มีนาคม 2567) คุยทุกเรื่องกับสนธิ. ใน
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000023249
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย