19 มี.ค. เวลา 08:37 • ข่าว

จับตามติ “แบงค์ชาติญี่ปุ่น” ปลดล็อก “อัตราดอกเบี้ยติดลบ” รอบ 17 ปี

การประชุมพิจารณาอภิปรายและลงมติเกี่ยวกับ
การกำหนดทิศทางและนโยบายการบริหารทางการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่น การปลดล็อกนโยบายดอกเบี้ยติดลบ การแก้ไขมาตรการการผ่อนปรนทางการเงินขนานใหญ่ ครั้งนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan (BOJ) ) หรือ ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจัดประชุมขึ้น
ในระหว่างวันที่ 18 -19 มีนาคม 2567 ที่ใช้เวลาประชุม 2 วัน นี้
การประชุมในวันที่สองได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในเช้าวันที่ 19 มีนาคม 2567 เพื่ออภิปรายในรายละเอียดของนโยบายการเงิน ที่คาดกันว่า หลังการประชุม จะประกาศยกเลิกมาตรการนโยบายดอกเบี้ยติดลบ
ในเช้าประชุมวันนี้ นายคาสึโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้เสนอวาระการประชุมเข้าใน
ที่ประชุมเรื่องการพิจารณาสัปเปลี่ยนนโยบายผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่แล้ว อาทิ การปลดล็อกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของรัฐบาล เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การสรุปญัตติจากการอภิปรายภายในวันนี้
โดยที่ประชุมดังกล่าวมีทิศทางกำหนดจะยกเลิก
นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของรัฐบาลและวางแนว
ทางที่จะยุติกรอบการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาว
นอกเหนือจากดอกเบี้ยระยะสั้น ที่เรียกว่า การควบคุมอัตราผลตอบแทนของ Yield Curve Control (YCC)
(*Yield Curve Control (YCC) หมายถึง
ธนาคารญี่ปุ่นจะดำเนินการจัดการเกี่ยวกับต้นทุนการเงินในประเทศ ในการกำหนดอัตราผลตอบแทน (Yield)
ของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวและระยะสั้นแต่ละช่วง
ให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งตามการดำเนินงานของตลาดการเงิน โดยญี่ปุ่นเข้าซื้อพันธบัตรด้วยปริมาณเงินที่น้อยกว่าการทำ QE ที่ 10 ปีด้วยอัตราผลตอบแทนสูงกว่า 0% และไม่ต้องเพิ่มเงินเข้าระบบเหมือน QE )
ซึ่งอาจกำหนดจะยกเลิกพร้อมกัน ทั้งการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น กองทุนรวมจดทะเบียนที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดหลักทรัพย์(ETF) เพื่อระงับอัตราดอกเบี้ยระยะยาวด้วย และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี และยุติการผ่อนคลายครั้งใหญ่
ไฮไลท์ที่จับตาและกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากของทั้ง
นักวิเคราะห์ นักลงทุน และประชาชน ทั้งสื่อทั่วโลก คือ มติหลังการประชุม ที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจะออกแถลงข่าวหลังการลงมติผลการพิจารณาและรายงานรายไตรมาสเกี่ยวกับ “แนวโน้มเศรษฐกิจและราคา'' นอกเหนือจากเนื้อหาสาระที่กำหนดในที่ประชุมด้วย
ซึ่งนายคาสึโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นมีกำหนดจะแถลงกับผู้สื่อข่าวในวันที่ 19 มีนาวันเดียวกันนี้ตั้งแต่เวลา 15:30 น. ของเวลาในญี่ปุ่น
(หรือเวลา 13:30 น. ของประเทศไทย) เป็นต้นไป
ว่าจะมีการปลดล็อกอัตราดอกเบี้ยติดลบอย่างไร
นับเป็นข่าวที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงวันสองวันนี้ ว่า
ญี่ปุ่นจะปลดล็อก “อัตราดอกเบี้ยติดลบ” ให้ขึ้นเหนือ 0% อย่างไร
ซึ่งนายคาสึโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้กล่าวก่อนหน้าการประชุมว่า จะพิจารณาในที่ประชุมพร้อมกับข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้ในสัปดาห์นี้
หลังทราบผลการเจรจาต่อรองเรื่องอัตราค่าจ้าง
ซึ่งจากข้อตกลงการเจรจาล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ผู้ประกอบการฝ่ายบริหารส่วนใหญ่พาเหรดกัน
พิจารณาให้เต็มอัตราตามที่ฝ่ายลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง
อันเป็นผลมาจากผลประกอบการของธุรกิจที่ดีขึ้น
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก และการให้ความร่วมมือของผู้ประกอบการด้วย ที่จะร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ฟื้นตัวดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
จึงเป็นที่มาของธนาคารกลางของญี่ปุ่น และที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า มีโอกาสสูงที่จะปลดล็อกอัตราดอกเบี้ยติดลบภายในเดือนมีนานี้ ซึ่งเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์บางส่วนคาดเดาไว้ว่าน่าจะเป็นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
ซึ่งธนาคารกลางอาจไม่ได้ปลดล็อกดอกเบี้ยในระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการพิจารณายกเลิก YCC * (Yield curve control) ในช่วง 10 ปี และการซื้อขายแลกเปลี่ยนกองทุน ETF ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ตามที่กล่าวข้างต้น ที่ตลาดหุ้นก็กำลังระมัดระวังหากมีการปลดล็อกใน 3 ประเด็นนี้พร้อมกัน อันเป็นวิธีการดำเนินนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นที่แตกต่างจากสังคมโลกทั่วไป
ทั้งหมดนี้ เป็นผลจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองมานานกว่า 30 ปี
หลังภาวะฟองสบู่แตก ให้กลับฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง
ซึ่งตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ในไตรมาส 4 ปี 2567 ที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผย พบว่า ขยายตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
แม้ตัวเลขจะบวกเพียงเล็กน้อยที่ 0.4% ก็ตาม
ที่ทำให้หลีกเลี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
บวกกับการที่นายฟุมิโอ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี
ได้พบปะตัวแทนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง
สมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น (หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกชื่อย่อว่า “เร็นโก”)สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นภาคคันโต
(เคดันเด็น) เพื่อขอให้พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างที่ไม่เคยขึ้นมาเป็นเวลา 30 ปี ให้มีการปรับขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่บริษัทรายใหญ่ลงมาจนถึงบริษัทกลางและย่อมด้วย
ซึ่งผลความคืบหน้าของการเจรจาสภาพการจ้างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เรียกว่า “ชุนโต” ( “ชุน” หมายถึง
ฤดูใบไม้ผลิ “โต” หมายถึง “การต่อสู้”) หมายถึง
ฤดูกาลเจรจาต่อรองการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
ที่มีการเจรจาต่อรองอันเป็นเอกลักษณ์ลักษณะเฉพาะของญี่ปุ่น
ผลการเจรจา จึงเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ธนาคารกลางใช้ประกอบการพิจารณานโยบายทางการเงิน ที่มีผลต่อสภาวะเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของประชาชน
จึงเป็นที่จับตาของธนาคารกลางญี่ปุ่นด้วย
ที่ประชาชนก็จะจับตาดูผลการพิจารณานโยบายการเงินต่อไป
จากผลการเจรจาที่ให้การตอบรับพร้อมกันเมื่อวันที่ 13 มีนาที่ผ่านมา พบว่า นายจ้างส่วนใหญ่ให้การตอบรับดี
เช่นในอุตสาหกรรมผลิตกว่า 80% พิจารณาตอบรับ
ตามข้อเรียกร้องเต็มตามวงเงินที่ร้องขอ โดยขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยที่มากกว่า 5% กว่า ในรอบ 33 ปี นำโดยบริษัทรายใหญ่ คือ บริษัทโตโยต้าที่มีบทบาทต่อธุรกิจญี่ปุ่นมากที่สุด ที่มีพิจารณาตอบตามตัวเลขที่ฝ่ายลูกจ้าง
เรียกร้อง 100% ตั้งแต่ปี 2566 ในขณะที่ในอดีต
ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2565
อัตราการขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 2 – 2.38% ยกเว้นปี 2564 ที่ลดเหลือ 1.86%
หากมีการปลดล็อกจริง สิ่งที่จะคาดว่าจะเกิด
การเปลี่ยนแปลงตามมา และมีผลต่อการใช้ชีวิตของ
ชาวญี่ปุ่นมากที่สุด คือ ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน
ที่มีดอกเบี้ยแบบคงที่ กับ ดอกเบี้ยแบบลอยตัว
ดอกเบี้ยแบบคงที่ เมื่อกำหนดแล้ว จะไม่มีการปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยตลอดช่วงเวลาที่ผ่อนชำระจนกระทั่งผ่อนหมด จึงไม่ต้องกังวลว่า ดอกเบี้ยสินเชื่อจะปรับขึ้นหรือปรับลง อัตราในช่วงแรกของการทำสัญญากู้ยืมจึงสำคัญยิ่ง
แต่จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ณ เวลานี้
สินเชื่อบ้านของชาวญี่ปุ่นกว่า 70% เลือกผ่อนบ้านตามอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวมากกว่า
ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านของธนาคารต่างๆ จะแปรเปลี่ยนตามอิทธิพลดอกเบี้ยนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง
ซึ่งมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น
จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบมาเป็นศูนย์ หรือ บวกต่อไป
ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เคยมีแต่จะลดลงในช่วง 30 ปีมานี้
อาจไม่เหมือนเดิมอีกอีกต่อไป จึงเป็นที่สนใจของ
ผู้ที่มีสินเชื่อบ้านแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวพอสมควร
ที่ต้องมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าดอกเบี้ยจะยังถูก
และเป็นการกลับไปสู่อัตราดอกเบี้ยปกติมากกว่ก็ตาม
หากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านแต่ละประเภทปรับตัวสูงขึัน ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถก็มีแนวโน้มการปรับตัวที่สูงขึ้นทั้งภาระค่าครองชีพ ค่าเล่าเรียนของนักเรียน นักศึกษาก็มีโอกาสปรับสูงขึ้น ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่อาจกระทบต่อผู้ส่งออก และมีผลต่อผู้ที่พำนักอยู่ต่างประเทศ
บางคนกล่าวว่า เริ่มเตรียมพร้อม ด้วยการใช้จ่ายประหยัดมากขึ้น รับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง
เริ่มเก็บเงินมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
นายโอซามุ นางาชิมะ ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์
“การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ดอกเบี้ยแบบคงที่น่าจะมีการปรับขึ้นตามสภาพ แต่ไม่น่าจะมีอิทธิพลต่ออัตราดอกเบี้ยลอยตัว แบงค์ชาติญี่ปุ่นไม่น่าจะยอมรับให้มีการขึ้นดอกเบี้ยตลาดขนานใหญ่ น่าจะแปรเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย อาจจะขึ้น 0.1% หรือไม่ขึ้น ก็ได้”
แต่เอเอ็นเอ็นนิวส์รายงานว่า
“การปลดล็อกอัตราดอกเบี้ยติดลบ ไม่ได้มีแต่ผลกระทบในทางลบเท่านั้น ดอกเบี้ยของเงินที่ฝากในธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย”
นายฮิโรมิ นากาชิมะ ธนาคารเอสบีไอชินเซ ชี้ว่า
“หากมีการปลดล็อกอัตราดอกเบี้ยติดลบ ก็จะเอื้อต่อสภาพแวดล้อมที่จะปรับดอกเบี้ยเงินฝากได้ง่ายขึ้น
รวมถึงธนาคารที่ตนอยู่ด้วย” โดยธนาคารเอสบีไอชินเซคาดว่า จะปลดอัตราดอกเบี้ยติดลบภายในเดือนนี้
จึงได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากบางประเภทไปแล้ว
ตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาที่ผ่านมา
นักลงทุนวัย 70 ปีคนหนึ่ง ที่ผ่านประสบการณ์ภาวะฟองสบู่ได้หวนนึกถึงเงินฝากเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนว่า “ในยุคสมัยภาวะเงินเฟ้อ ขอเพียงมีเงินฝากธนาคาร เงินจะเพิ่มขึ้น ได้รับดอกเบี้ยถึง 6%, 7% แต่ก็ใช่ว่าชีวิตจะโรยด้วยดอกกุหลาบเสมอไปไม่
นักลงทุนประสบการณ์การลงทุน 15 ปีรายนี้ กล่าวว่า
“หากเงินเฟ้อ ก็จะมองกันว่า เงินเดือนจะต้องเพิ่มตาม
แต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ที่สุดของมนุษย์เงินเดือน คือ ต้องพยายาม
ตั้งใจทำงาน”
ช่องนิปปอนทีวีนิวส์รายงานว่า ดอกเบี้ยแบบลอยตัวของสินเชื่อบ้านอาจมีโอกาสปรับขึ้น ส่วนใหญ่มองว่า ธนาคารกลางน่าจะปรับขึ้นที่ประมาณ 0.1%
และมองว่า ทั้งดอกเบี้ยสินเชื่อและดอกเบี้ยเงินฝากน่าจะไม่เปลี่ยนแปลง “อย่างทันทีทันใด” หรือเปลี่ยนแปลง
“อย่างมากมาย” นัก ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากหลังจากนี้ อาจมีธนาคารที่ปรับขึ้นเพื่อจูงใจลูกค้าด้วย
ในแง่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างต่างประเทศ
หากการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามีช่องว่างแคบลง
ก็มีโอกาสชะลอไม่ให้เงินเยนอ่อนค่ามากเกินไปได้ และช่วยชะลอการขึ้นค่าครองชีพได้อีกทางหนึ่ง แต่ถึงแม้นายคาสึโอ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นปลดล็อกอัตราดอกเบี้ยติดลบแล้วก็ตาม หากยังมีท่าทีที่จะผ่อนคลายทางการเงินต่อไป อัตราแลกเปลี่ยนที่แม้จะมีการขึ้นลงชั่วคราว ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี มีใจความว่า “รายละเอียดวิธีการเฉพาะของนโยบายการเงินและการตีความสภาวะการณ์เศรษฐกิจและการเงิน ควรเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น จึงของดแสดงความเห็นใดๆ ในฐานะรัฐบาล”
นอกเหนือจากนี้ ยังได้ตอบข้อซักถามว่า มีการขึ้นค่าครองชีพที่ได้เสถียรภาพตามสภาพแวดล้อม
ทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นแล้วหรือยัง นั้น
รัฐมนตรีซูซูกิได้กล่าวว่า “การขึ้นค่าจ้างในฤดูกาลเจรจาต่อรองค่าจ้าง หรือที่เรียกว่า “ชุนโต” ของครั้งนี้ โดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่ ได้ปรับขึ้นอย่างมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เรื่องนี้ที่สำคัญคือ จะต้องขยายต่อไปยังธุรกิจกลางและย่อมด้วย ทั้งยังต้องมีการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องจักรอีกมากด้วย”
“ถือเป็นสัญญาณบวกที่ชัดเจน ในฐานะของรัฐบาล
ก็จะระดมนโยบายต่างๆ มาสนับสนุนให้มีลักษณะเช่นนี้ต่อไปไปจนถึงปีหน้าด้วย”
หลังจากมติของธนาคารกลางญี่ปุ่น หากมีการสัปเปลี่ยนนโยบายทางการเงินจากอัตราดอกเบี้ยติดลบมาเป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวของ
สินเชื่อบ้านที่มีผู้ใช้บริการกว่า 70% เลือกประเภทนี้นั้น
จะอ่อนไหวกับดอกเบี้ยในระยะสั้นได้ง่ายกว่า
แต่ถึงแม้ว่าธนาคากลางของญี่ปุ่นจะขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม
คาดว่า สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ต่างๆ จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวของสินเชื่อบ้านในทันทีทันใด
หากดอกเบี้ยนโยบายถึงขั้นที่ขึ้นสูงกว่า 0% คาดกันว่า ดอกเบี้ยลอยตัวก็น่าจะขึ้นตามเช่นกัน
โดยนานา โอสึกิ นักวิเคราะห์หญิงได้กล่าวกับสำนักข่าวเอ็นเอชเค ว่า ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและกับประชาชน มี 4 ประเด็น ดังนี้
- สินเชื่อบ้าน
- ดอกเบี้ยเงินฝาก
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน
- การจัดหาเงินทุนของบริษัท
นักวิเคราะห์การเงินนานา โอสึกิ ได้ให้รายละเอียดว่า
แม้ว่าจะปลดล็อกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบแล้วก็ตาม น่าจะยังไม่มีแนวทางที่จะรีบเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างกระทันหัน ทั้งนี้ เพื่อคงสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายไปอีกสักระยะหนึ่ง
อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่จะมีผลกระทบกับดอกเบี้ยในระยะยาวได้ง่ายกว่า เนื่องจากว่า หากธนาคารกลางผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยติดลบเมื่อไร ทั้งยกเลิกกรอบที่เรียกว่า Yield curve control ด้วย ก็อาจทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น หากเป็นเช่นนี้ ก็จะน่าจะทำให้ดอกเบี้ยของผู้ที่กู้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัวแพงขึ้นหลังจากนี้ จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้กู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กู้ที่เลือกดอกเบี้ยแบบลอยตัวต้องยืนยันถึงกรณีการขึ้นดอกเบี้ยก่อนทำสัญญากู้ยืมให้ดี ว่าสินเชื่อบ้านก็ตนมีโอกาสผันผวนตามปัจจัยอะไรได้บ้าง
ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ที่ผ่านมา ธนาคารโดยทั่วไปมักจะดูรูปการณ์สักเล็กน้อยโดยเว้นระยะเวลาห่างสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยกำหนดการขึ้นลงของดอกเบี้ย แต่ครั้งนี้ อาจดำเนินการเร็วกว่าปกติก็ได้
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยน นานา โอสึกิ นักวิเคราะห์หญิงชี้ว่า “จะขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศตนกับประเทศอีกฝ่าย หากตลาดญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้น ผู้คนก็จะซื้อเงินเยนมากขึ้น ทำให้เงินเยนมีแนวโน้มแพงขึ้น หากเงินเยน
แข็งค่าต่อไปอีก ราคาวัตถุดิบ สินค้าที่ซื้อจากต่างประเทศก็จะถูกลงด้วย สินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศที่ถืออยู่ในมือก็อาจมีค่าลดลงได้
ส่วนด้ายการจัดหาเงินทุนของสถานประกอบการนั้น
นักวิเคราะห์การเงินกล่าวว่า “ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของบริษัทจะมีความอ่อนไหวที่แปรผันตามดอกเบี้ยนโยบายของรัฐบาล สมมุติว่า ดอกเบี้ยนโยบายของรัฐขึ้น 0.1% ดอกเบี้ยของสถานประกอบการที่กู้ยืมมาแบบลอยตัว ก็มีโอกาสจะขึ้น 0.1% หรือขึ้นมากกว่านั้นได้ ส่วนกรณีดอกเบี้ยระยะยาวขึ้น มองว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแบบคงที่ก็จะมีโอกาสสูงขึ้นด้วย”
นอกเหนือจากนี้ นักวิเคราะห์โอสึกิกล่าวว่า “หากดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น เกรงว่าจะมีผลกระทบทางลบต่อ
การดำเนินกิจการทางธุรกิจ ที่อาจกระตุ้นให้
ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจ หรือก่อให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มอัตรากำไร”
“ดอกเบี้ยที่ติดลบในสภาพที่ผิดปกติแล้วทำให้กลับสู่สภาพปกติต่อไปนั้น จึงถือว่าเป็นก้าวแรกที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงตนเองต่อไปด้วย”
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
v=i_-vgSU8Acw
v=2O3y5d3Lk-g
k10014395131000.html
yield-curve-control-boj
โฆษณา