21 มี.ค. เวลา 05:00 • การเกษตร

เฉลย ข้าว 10ปี โครงการจำนำข้าว ยังกินได้ จริงหรือ

นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ไขข้อข้องใจ ข้าว 10ปี จากโครงการจำนำข้าว ยังกินได้ จริงหรือ หลังรัฐมนตรีพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจโกดังเก็บข้าวด้วยตัวเอง พร้อมนำมาหุงรับประทาน
จากกรณีข้าว 10 ปี จากโครงการรับจำนำข้าวยังบริโภคได้ ซึ่งมีที่มาจากเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจโกดังข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ในพื้นที่ จ. สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชบุรี ที่คลังสินค้า บจก.พูนผลเทรดดิ้งหลัง 4 อ. เมือง ปัจจุบันมีข้าวคงเหลือ 32,879 กระสอบ และคลังกิตติชัยหลัง 2 อ.ปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันมีข้าวคงเหลือ 112,711 กระสอบ
พร้อมยืนยันว่า ข้าวที่ถูกเก็บไว้ในคลังยังมีคุณภาพที่ดี ได้ชักตัวอย่างนำข้าวจากกระสอบ ออกมาทดลองหุงและชิม ซึ่งคุณภาพข้าวที่หุงแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถกินได้ ช่วงเวลานี้ข้าวมีราคาค่อนข้างดี หากเร่งขายระบายออก จะเป็นการรักษาประโยชน์ของรัฐและสะสางปัญหาให้กับทุกฝ่าย โดยจะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพราะถ้าไม่รีบทำวันนี้อีกหน่อยข้าวราคาตกจะยิ่งแย่ ก็จะเสียค่าเช่าเป็นคอร์สต้นทุนอีกมากมาย
ข้าว 10 ปี ยังสามารถบริโภคได้จริงหรือ ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวถึงกรณีดังกล่าว ให้ความเห็นว่า การที่รองนายกฯ กล่าวว่าข้าว 10 ปียังสามารถบริโภคได้อาจจะเป็นการพูดที่เร็วเกินไป เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือ food security ด้วย
ตามปกติแล้วข้าวหอมมะลิจะสามารถเก็บได้ ประมาณ 3-4 ปี โดยข้าวเก่าจะมีราคาสูงกว่าข้าวใหม่ แต่ในกรณีข้าวที่ถูกเก็บไว้เป็น 10 ปี คาดว่าเป็นข้าวที่อยู่ในคดีความภายใต้โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอาจเกิดจากข้าวผิดมาตรฐาน หรือข้าวไม่ได้มาตรฐานในยุคนั้น สำหรับโกดังข้าวที่สุรินทร์ได้มีการทิ้งประมูลเกิดขึ้น จึงนำมาสู่การประมูลใหม่
การเก็บข้าวที่ดี จะมีการรมควันกันมอด และรักษาความชื้นให้ได้มาตรฐาน ก็จะทำให้อายุของข้าวอยู่ได้นานถึง 4-5 ปี แต่ถึงอย่างไร สีของข้าวสารก็จะมีความเหลืองมากขึ้น เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว มีการเก็บข้าวในลักษณะเป็นข้าวสาร ซึ่งถือเป็นจุดบอดของโครงการนี้ เพราะหากเก็บเป็นข้าวเปลือกจะสามารถทำให้ข้าวมีอายุได้ยาวนานมากกว่าเก็บเป็นข้าวสาร แต่ถึงอย่างไรหากเป็นข้าวเปลือกที่เก็บเอาไว้นานเมื่อเข้าสู่โรงสีก็จะทำให้ข้าวสารที่ได้มีโอกาสหักได้สูงขึ้น
1
ดร.สมพร อธิบายต่อถึงการกล่าวว่า โครงการจำนำข้าว มีจุดบอดคือการเก็บข้าวเป็นข้าวสาร ก็เพราะว่า การเก็บข้าวสารมีความยากมากกว่าการเก็บข้าวเปลือก เพราะหากรักษาความชื้นไม่ได้ การรมควันไม่ดี จะทำให้เกิดเชื้อรา เกิดอะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) ซึ่งเห็นได้จากข้าวที่คสช. ตรวจยึดมาประมาณ 18 ล้านตัน จะมีข้าวที่ได้มาตรฐานอยู่ไม่เกิน 3 ล้านตัน เป็นข้าวต่ำกว่ามาตรฐาน 10 กว่าล้านตัน เป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานอีกจำนวนหนึ่ง และข้าวที่ต้องอาหารสัตว์อีกจำนวนหนึ่ง
1
สำหรับข้าวที่นายภูมิธรรมได้ลงไปตรวจสอบคาดว่าเป็นข้าวหอมมะลิเก่า ซึ่งเจ้าของโกดังอาจเก็บไว้ในสภาพดี แต่อย่างไรก็ตามข้าวสารที่เก็บเอาไว้เป็นระยะเวลา 10 ปี ย่อมต้องเสื่อมคุณภาพลง ในทางกายภาพที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่าคือเมล็ดข้าวสารจะมีสีเหลือง ซึ่งจะมี 2 ลักษณะคือเมล็ดข้าวยุ่ยและไม่ยุ่ย แต่ถ้าไม่ถึงกับเน่า เมล็ดข้าวไม่ยุ่ยก็สามารถนำมาปรับสภาพได้ แต่หากนำมาหุงบริโภค ข้าวที่เก็บมานาน 10 ปี อาจจะมีกลิ่นชื้นอับอยู่บ้าง
1
ในเชิงความปลอดภัยของผู้บริโภค (food security) เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพราะหากจะนำมาบริโภคแล้ว ควรจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่นการตรวจหาเชื้อรา อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) และยังต้องคำนึงถึงสารเคมีที่อาจตกค้างจากการรมยาป้องกันมอด ทุกๆ 4-6 เดือน เป็นระยะเวลานานถึง 10 ปีอีกด้วย
3
โดยการตรวจนี้จำเป็นต้องสุ่มตรวจ เพื่อให้ได้ตัวอย่างกระจายทั้งโกดังที่เก็บข้าวจำนวนกว่า 15,000 ตัน ไม่ควรตรวจแค่เฉพาะกระสอบข้าวด้านหน้ากองเท่านั้น การตรวจข้าวแค่เฉพาะหน้ากองแต่นำข้อมูลมาเสนออธิบาย ว่าเป็นคุณภาพของข้าวทั้งกองนั้น อาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่จริงนัก เนื่องจากข้าวหน้ากอง ข้าวกลางกอง ข้าวก้นกอง ข้าวหลังกอง อาจมีคุณภาพของข้าวในลักษณะที่แตกต่างกัน
1
ภาครัฐควรต้องติดตามตรวจสอบการระบายข้าวในล็อตดังกล่าวมากยิ่งขึ้น เพราะหากผู้ประมูลข้าวนำข้าวที่มีคุณภาพไม่ดี ไปผสมปนกับข้าว คุณภาพดี ก็จะเป็นการทำลายตลาดเพราะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงเป็นปัจจัยหลักที่รัฐบาลควรคำนึงถึงมากกว่าการมุ่งชี้ว่า ข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวแม้จะผ่านมา 10 ปี แต่ยังบริโภคได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรละเลยเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค
สำหรับผู้เข้าประมูลข้าวก็ควรได้เห็นตัวอย่างของข้าว และเป็นหน้าที่ของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อที่ต้องนำข้าวมาตรวจ โดยอาจส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ซึ่งใช้เวลาเพียง 1-2 วัน ก็สามารถทราบผลได้ว่า ข้าวมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่ นี่คือหน้าที่ของรัฐที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในทุกห่วงโซ่อุปทานของข้าวด้วย
ตามปกติของการเก็บข้าว หากเป็นชาวบ้านมักมีการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางประมาณ 1ปีเท่านั้น แต่สำหรับโรงสีอาจมีการเก็บข้าวในรูปแบบของข้าวเปลือกได้ถึงประมาณ 3-5 ปี สำหรับประเทศที่อาจขาดแคลนข้าวก็จะมีการเก็บข้าวไว้เพื่อเป็น buffer stock โดยจะมีการระบายข้าวที่เก็บไว้นานออก เพื่อรับข้าวใหม่เข้าจัดเก็บ แต่ก็จะมีการเก็บไว้ที่ประมาณ 3-5 ปีเช่นกัน แต่หากประสงค์จะเก็บข้าวให้นานถึง 10 ปี จะต้องจัดเก็บในรูปแบบสุญญากาศ ก็อาจจะเป็นไปได้
โฆษณา