20 มี.ค. เวลา 23:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ

⚠️ Breaking: ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดพุ่ง แม้เฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยน้อยลงในปีหน้า

เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯยังคงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ และเดินหน้าชะลออัตราการถือครองพันธบัตร โดยบอกเป็นนัยว่าเฟดไม่กังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่เฟดมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25% - 5.5% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นการประชุมครั้งที่ 5 ติดต่อกัน นอกจากนี้ผู้กำหนดนโยบายยังส่งสัญญาณว่าพวกเขายังคงอยู่บนเส้นทางการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 แต่ได้ปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยเหลือพียง 3 ครั้งในปี 2025 จากเดิมที่ 4 ครั้งในเดือนธันวาคม โดยอิงจาก Dot Plot
ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ ได้มีการพูดคุยกับผู้สื่อข่าวหลังการตัดสินใจของเฟดเมื่อวันพุธ แต่ปฏิเสธที่ตอบคำถามเมื่อถูกถามว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนหรือไม่ โดยย้ำว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้น " ณ จุดใดจุดหนึ่งในปีนี้"
นอกจากนี้ พาวเวลล์ ยังมองข้ามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า "คนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเราจะบรรลุความเชื่อมั่นนั้นและจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย" อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนแนวทางอย่างระมัดระวังของเฟดในการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก และเสริมว่าผู้กำหนดนโยบายยังคงมองหาหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย 2%
พาวเวลล์ยังกล่าวอีกว่า เป็นการเหมาะสมที่จะชะลอการลดขนาดงบดุลของเฟด “ในเร็วๆ นี้” หลังจากที่ผู้กำหนดนโยบายได้มีการหารือเกี่ยวกับการถือครองสินทรัพย์ของเฟดในสัปดาห์นี้ “การตัดสินใจชะลอลดขนาดงบดุลไม่ได้หมายความว่างบดุลของเราจะหดตัว แต่จะช่วยให้เราเข้าใกล้ระดับเหมาะสมนั้นทีละน้อย” เขากล่าว “โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชะลอตัวการลดขนาดงบดุลจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่น และลดความเป็นไปได้ที่ตลาดเงินจะประสบกับภาวะตึงตัว”
ดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและดัชนี Bloomberg Dollar ปรับตัวลดลง และนักลงทุนเพิ่มความน่าจะเป็นที่เฟดจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน
ถ้อยแถลงหลังการประชุมของ Fed เกือบที่จะเหมือนกันกับของเดือนมกราคม โดยยังคงคำแนะนำว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่เหมาะสมจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนตัวไปสู่เป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน
2
นอกจากนี้ FOMC ยังย้ำถึงความตั้งใจที่จะลดงบดุลลงได้มากถึง 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดบางคน รวมถึงลอรี โลแกน ประธานเฟดแห่งดัลลัส เรียกร้องให้ชะลอการลดขนาดงบดุลของเฟดลง
หลังจากขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 5% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 เจ้าหน้าที่ของ Fed ได้เน้นย้ำว่าพวกเขาไม่ได้เร่งรีบที่จะลดต้นทุนการกู้ยืมจนกว่าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง
พาวเวลล์ กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดในช่วงต้นปีไม่ได้เปลี่ยนเรื่องราวในภาพใหญ่ที่ว่า การเพิ่มขึ้นของราคากำลังชะลอตัวซึ่ง “บางช่วงก็ขลุกขลัก" ในขณะเดียวกัน ข้อมูลก็ไม่ได้เพิ่มความเชื่อมั่น และผู้กำหนดนโยบายยังคงต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังเข้าใกล้เป้าหมาย 2% ของ Fed มากขึ้น โดย พาวเวลล์ กล่าวว่า “มันจะเป็นการเดินทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งเราพูดอย่างนั้นอยู่เสมอ และตอนนี้เรากำลังเจอช่วงที่ถนนขรุขระ”
🎯 ความคาดหวังของตลาด
ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายเห็นว่าอัตราเงินดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4.6% ภายในสิ้นปี 2024 ตามการคาดการณ์ของ Dot Plot แต่การคาดการณ์ของแต่ละบุคคลถูกแบ่งแยกชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่เฟด 10 คนคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปในปีนี้ ในขณะที่อีก 9 คนคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งหรือน้อยกว่านั้น
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ Fed ได้เน้นย้ำว่าการคาดการณ์ดังกล่าวไม่ใช่แผนการที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และการคาดการณ์รายบุคคลอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามาสำหรับอัตราเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน โดยมาตรวัดราคาผู้บริโภคที่สำคัญได้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีซึ่งที่เจ้าหน้าที่เฟดยังคงถือว่าอยู่ในระดับต่ำอยู่
นอกจากนี้ผู้กำหนดนโยบายยังได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ขึ้นเล็กน้อยสำหรับอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% จาก 2.5% หลังจากการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ในระดับที่สูงขึ้นหลังการระบาดใหญ่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องสูงขึ้นและนานขึ้นในอนาคต
สุดท้าย ผู้กำหนดนโยบายยังได้อัปเดตการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2024 โดยเพิ่มการคาดการณ์สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็น 2.6% จาก 2.4% และเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตเป็น 2.1% จาก 1.4% พร้อมกับลดการประมาณการอัตราการว่างงานลงเล็กน้อยเป็น 4% จาก 4.1% ในปี 2024
📌 ความเห็นส่วนตัวของนิคกี้
อย่างที่นิคกี้เคยเล่าไปค่ะว่า เฟดน่าจะไม่สนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ที่พุ่งขึ้นมาในช่วง 2 เดือนล่าสุดมากนัก เพราะเหตุผลคือ 1. เงินเฟ้อเดือนมกราคมกับกุมภาพันธ์มักจะสูงกว่าเดือนอื่นๆอยู่แล้วจาก seasonal factor 2. มีการปรับน้ำหนักในการคำนวณใหม่ ซึ่งทำให้เงินเฟ้อจะดูสูงขึ้นเองอยู่แล้ว และ 3. เฟดยังคงให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ PCE มากกว่า ซึ่งตัวเลขไม่ได้น่าตกใจเหมือน CPI ค่ะ
ดังนั่นในภาพรวมเราจึงเห็นว่า เฟดยังคงคาดการณ์ว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ต่างคือปีหน้าจะลดดอกเบี้ยน้อยลง ซึ่งเมื่อเราดูกับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจที่ปรับตัวขึ้น ก็อาจจะตีความเป็นสัญญาณได้ว่า เฟดอาจเริ่มมองถึงภาวะ no landing แล้วก็ได้ค่ะ ซึ่งภาวะ no landing ถือว่าเป็น best case สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และเป็นผลดีต่อหุ้นทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่เฉพาะหุ้น growth ค่ะ
1
สำหรับนักลงทุนตราสารหนี้อาจจะซับซ้อนมากกว่านิดนึง เพราะตอนนี้ตลาดกับเฟดคาดการณ์ตรงกันแล้วว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ดังนั้นโอกาสที่ bond yield จะปรับตัวลงมีค่อนข้างน้อยค่ะ ทำให้นักลงทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรอาจจะไม่ได้ capital gain หรือส่วนต่างราคามากนัก อย่างไรก็ตามด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไปเป็น hard landing มากขึ้นจะทำให้นักลงทุนกล้าลงทุนในตราสารหนี้เอกชนมากขึ้น เช่น กลุ่ม investment grade หรือ high yield ค่ะ ซึ่งก็จะทำให้ราคาของตราสารหนี้กลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่า
1
ดังนั้นโดยสรุป นิคกี้มองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน สินทรัพย์เสี่ยงมีโอกาสไปต่อ และตราสารหนี้เอกชนน่าสนใจมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลค่ะ
Source: Bloomberg
✅ ทั้งนี้ อย่าลืมติดตามนิคกี้เพิ่มเติมได้ทาง
#เศรษฐกิจ #การเงิน #ลงทุน #กองทุน #มือใหม่ #ข่าวเศรษฐกิจทั่วโลก #ข่าวทั่วโลก #หุ้น #กองทุนรวม #ดอกเบี้ย #นักลงทุน #จีน #GDP #พาวเวลล์ #สหรัฐฯ #เงินเฟ้อ #เฟด
โฆษณา