22 มี.ค. 2024 เวลา 01:22 • สุขภาพ

เวลาที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจในเรื่องที่ใหญ่สำหรับเรา

(เช่น จะลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจของตัวเองดีไหม จะเรียนคณะที่ครอบครัวคาดหวังให้เรียนหรือจะเรียนคณะที่ตัวเองอยากเรียน จะบอกคนที่เราแอบชอบว่าเราชอบเขาหรือจะเก็บความรู้สึกไว้ในใจต่อไป เป็นต้น)
ใจของเราจะเผชิญกับเสียงของความกลัว ความกังวล ความวิตกที่ “ดังก้อง” เต็มไปหมด
เสียงของความกลัว ความกังวล ความวิตกเหล่านี้จะกระตุ้นให้เราเลือกตัดสินใจโดยยึดหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน” เป็นสำคัญ (เช่น เลือกที่จะทำงานประจำต่อไป เลือกที่จะเรียนคณะที่ครอบครัวคาดหวังให้เรียน เลือกที่จะเก็บความรู้สึกไว้ในใจต่อไป)
การยึดหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน” ในการตัดสินใจ ไม่ใช่สิ่งที่ “ผิด” นะครับ
อย่างไรก็ตาม การใช้ความกลัว ความกังวล ความวิตกเป็น “ไกด์ไลน์” ในการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆในชีวิตเพียงอย่างเดียว ยากที่จะช่วยให้เรามีชีวิตที่เต็มอิ่มได้
เพราะภายในใจของเราไม่ได้มีเพียงแค่เสียงของความกลัว ความกังวล ความวิตกเท่านั้น
ภายในใจของเรายังมีเสียงของความฝัน ความหวัง ความรัก ความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น ความทะเยอทะยาน ความอดทน ความห่วยใย ความรับผิดชอบ ความอิจฉา ความโกรธ ความเสียใจ ความผิดหวัง ความเหนื่อย ฯลฯ อีกด้วย
การที่เราตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆในชีวิต ด้วยการรับฟังเพียงแค่เสียงของความกลัว กังวล ความวิตก และเพิกเฉยต่อสิ่งอื่นๆที่อยู่ในใจของเรานั้น จึงถือเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยุติธรรมกับตัวเราอย่างแรง
มันไม่ต่างอะไรกับการที่คณะกรรมบริหารของบริษัทไม่กี่คนตัดสินใจว่าจะเอาเงินก้อนใหญ่ของบริษัทไปลงทุนกับโครงการอะไรสักอย่าง โดยที่เพิกเฉยกับความคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารคนอื่นๆโดยสิ้นเชิง
ฉะนั้น เวลาที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจในเรื่องที่ใหญ่สำหรับเรา
แทนที่เราจะถามตัวเองว่า “ความกลัว ความกังวล ความวิตกในใจฉันต้องการให้ฉันเลือกทางไหนดี?”
คำถามที่ดีกว่าที่จะถามตัวเองในจังหวะนั้นก็คือ “ทางเลือกไหนคือทางเลือกที่จะช่วยให้ฉันกลายเป็นคนที่ฉันอยากเป็นมากกว่ากัน?” ครับ
โฆษณา