22 มี.ค. เวลา 07:53 • ท่องเที่ยว

สามก๊ก .. Romance of the Three Kingdoms

“สามก๊ก” (จีนตัวเต็ม: 三國演義; อังกฤษ: Romance of the Three Kingdoms) เป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จัดเป็นวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก เป็นมรดกทางปัญญาของปราชญ์ชาวตะวันออกที่สุดยอด มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 10 ภาษา และมีการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายทั่วโลก
แต่งขึ้นประมาณในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ยุคสมัยราชวงศ์หมิง บทประพันธ์โดย “หลัวก้วนจง” (จีน: 羅貫中) แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยครั้งแรกโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ. 2345 ในรูปแบบสมุดไทย .. ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ในปี พ.ศ. 2408 และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งภายใต้ชื่อ "หนังสือสามก๊ก ฉบับราชบัณฑิตยสภา" โดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ในปี พ.ศ. 2471
ปัจจุบัน “สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)” ได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้งโดยหลายสำนักพิมพ์ถือเป็นวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เล่มที่ 2 โดยแปลจากไซ่ฮั่นและเก่าแก่ที่สุดในไทย
“สามก๊ก” มีเนื้อหาหลากหลายรสชาติ เต็มไปด้วยเล่ห์กลเพทุบาย กลศึกในการรบ การชิงรักหักเหลี่ยม ความเคียดแค้นชิงชัง ความซื่อสัตย์และการให้อภัย ซึ่งมีเนื้อหาและเรื่องราวในทางที่ดีและร้ายปะปนกัน
ภาพโดยรวมของสามก๊ก .. กล่าวถึงประวัติศาสตร์จีนในยุคสามก๊ก ในปี พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823 โดยจุดเริ่มต้นของสามก๊กเริ่มจากยุคโจรโพกผ้าเหลืองในปี พ.ศ. 726 ที่ออกอาละวาด จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามคือ “เล่าปี่” “กวนอู” และ “เตียวหุย” ได้ร่วมสาบานตนเป็นพี่น้องและร่วมปราบกบฏโจรโพกผ้าเหลือง
รวมทั้งการแย่งและช่วงชิงอำนาจความเป็นใหญ่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นของก๊กต่าง ๆ อันประกอบด้วย “วุยก๊ก” หรือก๊กเว่ย (魏) “จ๊กก๊ก” หรือก๊กสู่ (蜀) และ “ง่อก๊ก” หรือก๊กหวู (吳) จนถึงการสถาปนา “ราชวงศ์จิ้น”โดยสุมาเอี๋ยน รวมระยะเวลาประมาณ 60 ปี
นอกจากนี้ “สามก๊ก” ยังเป็น 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับ “ไซอิ๋ว” “ซ้องกั๋ง” และ “ความฝันในหอแดง” ซึ่งนักอ่านหนังสือจำนวนมากยกย่อง “สามก๊ก” เป็นบทเรียน “ตำราพิชัยสงคราม” ภาคปฏิบัติ การบริหารและเศรษฐกิจ
เนื้อเรื่องย่อสามก๊ก
ภายหลัง “พระเจ้าฮั่นโกโจ” สถาปนา “ราชวงศ์ฮั่น” จนมีอายุกว่าสี่ร้อยปี ในรัชกาลพระเจ้าเลนเต้ ฮ่องเต้ขาดความเฉลียวฉลาด เชื่อแต่คำของเหล่าสิบขันที เหล่าขุนนางถืออำนาจขูดรีดราษฏรจนได้รับความเดือดร้อนไปทั่ว โจรผู้ร้ายชุกชุมปล้นสะดมไปทั่วแผ่นดิน ดังจดหมายเหตุของจีนตอนหนึ่งได้บันทึกไว้ว่า
.. "ขุนนางถือราษฏรดั่งหนึ่งอริราชศัตรู ขูดรีดภาษีอากรโหดร้ายยิ่งกว่าเสือ" เกิด “กบฏชาวนา” นำโดย “เตียวก๊ก” หัวหน้า “กลุ่มโจรโพกผ้าเหลือง” ออกปล้นชิงเมืองต่าง ๆ จนเกิดความวุ่นวายแตกแยกแผ่นดินเป็นก๊กเป็นเหล่าภายใต้ขุนศึกต่าง ๆ
ภายหลังพระเจ้าเลนเต้สวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระราชโอรสต่างพระชนนี 2 พระองค์ “พระเจ้าหองจูเปียน” ได้สืบทอดราชสมบัติโดยมี “โฮเฮา” พระชนนีเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ในราชสำนักคงเกิดความวุ่นวายจาก 10 ขันที
“โฮจิ๋น” ผู้เป็นพระเชษฐาของโฮเฮาจึงวางอุบายให้ “ตั๋งโต๊ะ” มาช่วยกำจัดเหล่าขันที แต่โฮจิ๋นกลับถูกลวงไปฆ่าทำให้เหล่าทหารของโฮจิ๋นยกเข้าวังหลวงเพื่อแก้แค้นจนเกิดจลาจลขึ้น ภายหลัง ตั๋งโต๊ะ ยกทัพมาถึงวังหลวงและฉวยโอกาสยึดอำนาจมาเป็นของตน สั่งถอดพระเจ้าหองจูเปียนและปลงพระชนม์ และสถาปนา “พระเจ้าหองจูเหียบ” ขึ้นแทน ทรงพระนามว่า “พระเจ้าเหี้ยนเต้” และสถาปนาตนเองเป็นพระมหาอุปราช มีฐานะเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้
“ตั๋งโต๊ะ” ถืออำนาจเป็นใหญ่ในราชสำนัก สั่งประหารชีวิตผู้คัดค้านจนเหล่าขุนนางพากันโกรธแค้น “โจโฉ” พยายามลอบฆ่า ตั๋งโต๊ะ แต่ไม่สำเร็จต้องหลบหนีออกจากวังหลวงและลอบปลอมแปลงราชโองการ นำกำลังทัพจาก 18 หัวเมืองมากำจัดตั๋งโต๊ะ
.. แต่กองทัพหัวเมืองกลับแตกแยกกันเองจึงทำให้การกำจัดตั๋งโต๊ะล้มเหลว
.. “อ้องอุ้น” จึงวางแผนยก “เตียวเสี้ยน” บุตรสาวบุญธรรมให้แก่ “ตั๋งโต๊ะ” และ “ลิโป้” บุตรบุญธรรม จนตั๋งโต๊ะผิดใจกับลิโป้เรื่องนางเตียวเสี้ยน ทำให้ลิโป้แค้น และฆ่าตั๋งโต๊ะ
หลังจากตั๋งโต๊ะตาย “ลิฉุย” และ “กุยกี” ได้เข้ายึดอำนาจอีกครั้งและฆ่าอ้องอุ้นตาย รวมทั้งบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้อยู่ภายใต้อำนาจ สร้างความคับแค้นใจให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นอย่างยิ่ง จนมีรับสั่งให้เรียกโจโฉมาช่วยกำจัดลิฉุย กุยกี จากนั้นโจโฉย้ายนครหลวงไปที่เมืองฮูโต๋
โจโฉ เข้าปราบปรามกบฏและควบคุมราชสำนัก ทำศึกรบชนะลิโป้ .. จึงควบคุมหัวเมืองในภาคกลางไว้ได้
..ในศึกกับลิโป้ก็ได้ “เล่าปี่” มาเข้าสวามิภักดิ์ ระหว่างนั้น พระเจ้าเหี้ยนเต้ มีความระแวงว่า โจโฉ จะคิดทะเยอทะยาน ขณะนั้น เล่าปี่ซึ่งอ้างตนเป็นผู้สืบสายราชวงศ์ฮั่น มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระเจ้าอา พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องการปราบโจโฉ จึงใช้พระโลหิตเขียนสาสน์ให้เหล่าขุนนางที่จงรักภักดีให้ช่วยกำจัดโจโฉ .. แต่ถูกจับได้ทำให้เหล่าขุนนางถูกสังหาร
.. แต่เล่าปี่ได้อ้างว่าจะนำทหารไปปราบ “อ้วนสุด” แล้วแยกตัวออกมา .. จากนั้นก็ลุกฮือต่อต้านโจโฉ แต่ก็พ่ายแพ้ จึงต้องหนีลงไปเกงจิ๋วแล้วไปขอพึ่งพิงเล่าเปียว เตรียมทำศึกกับโจโฉต่อ
ระหว่างนั้น โจโฉทำศึกรวบรวมแผ่นดินภาคเหนือและภาคกลาง รบชนะกองกำลังต่าง ๆ สามารถปราบอ้วนเสี้ยวซึ่งครองภาคเหนือลงได้ จึงเข้าควบคุมจงหยวน หรือบริเวณภาคกลางและภาคเหนือในลุ่มแม่น้ำฮวงโหของจีนได้แทบทั้งหมด
โจโฉ ต้องการบุกปราบภาคใต้ .. แต่ฝ่ายเล่าปี่ ก็มีขุนพลทหารเอกที่เก่งกล้าอย่าง กวนอู เตียวหุย จูล่ง แล้วยังได้เชิญ “จูกัดเหลียง” หรือ “ขงเบ้ง” มาเป็นที่ปรึกษา
.. ระหว่างนั้น ขงเบ้ง ได้เสนอแผนการแบ่งแผ่นดินเป็น 3 ขึ้นมา แล้วแนะนำให้เล่าปี่จับมือเป็นพันธมิตรกับซุนกวน เจ้าเมืองกังตั๋ง พันธมิตรระหว่าง เล่า-ซุน จึงเกิดขึ้น .. แล้วซุนกวนก็ได้มอบหมายให้จิวยี่ เป็นแม่ทัพใหญ่ ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมมือกันทำศึกกับโจโฉใน “ยุทธการที่ผาแดง” แล้วก็ได้รับชัยชนะ ทำให้แผ่นดินจีนเริ่มก่อสภาพเป็น 3 ขั้วใหญ่ขึ้น
โจโฉ ได้ตั้งหลักที่ภาคกลางและภาคเหนือ .. บีบบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้แต่งตั้งตนขึ้นเป็นวุยก๋งและเป็นวุยอ๋องตามลำดับ
เล่าปี่เข้ายึดครองเกงจิ๋ว แล้วทำศึกเข้ายึดเมืองเสฉวนมาครอง และตั้งตัวอยู่ในภาคตะวันตก
ซุนกวนตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ในกังตั๋งทางภาคตะวันออก ควบคุมกองทัพเรือที่เข้มแข็ง แต่ก็ไม่สามารถขยายดินแดนได้มากนัก
***หลังจากเริ่มก่อรูปเป็นสามก๊ก ทั้งสามฝ่ายต่างทำศึกสงครามกันตลอด แต่ก็ไม่อาจเอาชนะซึ่งกันและกันได้อย่างเด็ดขาด
ต่อมา โจโฉได้สิ้นชีพลง โจผีบุตรชายขึ้นครองราชสมบัติแทน สั่งปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าเหวินตี้” ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์วุย
เล่าปี่ซึ่งเป็นเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นก็สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิสืบทอดราชวงศ์ฮั่น โดยใช้เมืองเสฉวนเป็นเมืองหลวง
ซุนกวนซึ่งไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าโจผีหรือเล่าปี่จึงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิบ้าง ปกครองเมืองกังตั๋ง
ภายหลัง พระเจ้าโจผี พระเจ้าเล่าปี่ และพระเจ้าซุนกวนสวรรคตไปหมดสิ้น ผู้เชื้อสายต่อมาเริ่มอ่อนแอลง จึงเป็นโอกาสให้ “สุมาอี้” ที่ปรึกษาและมหาเสนาบดีของวุยก๊ก ซึ่งเข้ามาทำงานรับใช้สกุลโจตั้งแต่สมัยโจโฉ ได้เริ่มสร้างอำนาจบารมีมากขึ้น
.. สุมาอี้ยังสามารถทำศึกชนะขงเบ้งได้ จึงยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมา สุมาอี้ได้กระทำการชิงอำนาจโจซอง และได้สังหารเชื้อพระวงศ์ของวุย วางรากฐานให้ลูกหลาน
หลังจากสุมาอี้สิ้นแล้ว บุตรชายคือ สุมาเจียว ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราชของวุยก๊กต่อมา ก็สามารถส่งทหารรบชนะจ๊กก๊ก ควบคุมตัวพระเจ้าเล่าเสี้ยนมาเป็นเชลยได้สำเร็จ
.. หลังจากสุมาเจียวตาย สุมาเอี๋ยน บุตรชายสืบทอดตำแหน่งแทนและช่วงชิงราชสมบัติของ วุยก๊ก มาจากพระเจ้าโจฮวนและแต่งตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี๋ยนสามารถปราบพระเจ้าซุนโฮแห่งง่อก๊กให้ยินยอมสวามิภักดิ์ได้สำเร็จ
นับแต่นั้น แผ่นดินจีนที่เคยแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ามายาวนาน กลับรวมกันเป็นอาณาจักรเดียวได้อีกครั้ง ก่อนที่จะแตกแยกเป็นยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ในเวลาต่อมา
**ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย อ่านเพิ่มเติมได้ตาม Link ด้านล่าง
โฆษณา