23 มี.ค. เวลา 05:34 • ศิลปะ & ออกแบบ

MYSAYAS นักดนตรีผู้กล้าลองดีกับเทพเจ้า

ประติมากรรมชิ้นนี้กระชากสายตาคนดูไม่แพ้ชิ้นอื่นๆ อมนุษย์ที่เราเห็น ท่อนล่างเป็นร่างแพะ ท่อนบนเป็นชายชราที่กำลังโดนมัดร่างห้อยตรึงอยู่กับต้นไม้หนังตาทะลักทุรนทุรายด้วยการถูกทรมาน ชวนให้สงสัยว่านี้คือใคร และโดนอะไรมาจึงมีสภาพแบบนี้
(อ้อ บอกก่อนว่า ภาพที่เห็นด้านบน จริงๆเป็นประติมากรรมชิ้นเดียวกันนะฮะ แต่ถ่ายไว้หลายมุม)
ผู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้มีชื่อว่า มาร์ไซยาส (Marsyas) ผู้ซึ่งถูกเทพเจ้าลงโทษ
แต่ถามว่าไปทำผิดอะไรก็ขอบอกว่า ไม่ได้ทำอะไรร้ายแรงหรอก เพียงแต่ว่าอวดเก่งเกินไปจนเทพเจ้าหมั่นไส้ (เหมือนคนอีกหลายคนที่โดนแบบนี้)
1
เคราะห์กรรมของมาร์ไซยาสนั้น เริ่มจากการได้พบเครื่องดนตรีขลุ่ยคู่ (double flute หรือ aulos) ซึ่งเป็นขลุ่ยกรีกโบราณวางตกอยู่จึงได้มาลองเล่นดู และเมื่อได้ลองเล่นไปก็พบว่าตนเองสามารถเล่นได้ดีไพเราะจับใจเสียด้วย จนเกิดความลำพองคิดว่าฉันช่างเก่งเสียจริง ขลุ่ยนี่คงต้องเป็นขลุ่ยเทพที่ประทานมาเป็นของขวัญนำโชคให้เราแน่ๆ
ขลุ่ยคู่ (double flute หรือ aulos) ของกรีก
ซึ่งอันที่จริงขลุ่ยคู่ที่มาร์ไซยาสได้มา มันก็เป็นขลุ่ยนำโชคจริงๆแหละ แต่ทว่ามันเป็นโชคร้ายต่างหาก เพราะมีค่าสาปแช่งไว้ว่าผู้ใดได้มันไปครอง ผู้นั้นต้องพบกับความหายนะ!!!
คำสาปที่ดูน่ากลัว แต่ก็ไม่มีเหตุมีผลอะไรที่สมควรเลย เกิดจากเรื่องไร้สาระของเทพีอธีน่าผู้เป็นเจ้าของเดิมของขลุ่ย เธอเป็นคนทำมันขึ้นมาแล้วก็นำไปเป่าเล่น แต่ผลก็คือโดนหัวเราะใส่ ไม่ใช่ว่าเล่นไม่ไพเราะหรอกนะ แต่ว่าพอเป่าไปแล้วแก้มเธอป่องดูแล้วตลก เธอก็เลยโกรธมากโยนขลุ่ยทิ้งแล้วสาปแช่งว่าใครได้มันไปเล่นต้องโชคร้ายวายป่วง พูดง่ายๆก็คือโยนความผิดของตัวเองไปให้คนอื่นซะงั้น
นี่แหละ ความซวยก็เลยมาถึงตัวมาร์ไซยาส
เมื่อมาร์ไซยาสฝึกบรรเลงเพลงด้วยขลุ่ยได้ถึงที่แล้วก็เข้าไปอวดอ้างกับเทพเจ้าทั้งหลายว่าฉันมีฝีปากทางดนตรีมากกว่าเหล่าเทพทั้งหลายเสียอีก ไม่เชื่อก็ลองมาแข่งกันได้เลย และแล้วคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก็คือเทพอพอลโล เพราะเป็นเทพที่ใครๆก็ยกย่องว่าเป็นเลิศด้านดนตรี พอได้ยินเข้าก็บอกว่าเรามาท้าดวลกันได้เลย ดูซิว่าใครจะแน่กว่าใคร งานประชันดนตรีก็เริ่มขึ้น เหล่าเทพเทวาทั้งหลายก็มาดูฟรีคอนเสิร์ตของทั้งคู่ด้วยความอยากรู้
1
การประชันดนตรี ของมาร์ไซยาสกับอพลอโล https://en.wikipedia.org/wiki/Marsyas
อพอลโลหยิบพิณมาบรรเลงแข่งกับมาร์ไซยาส โดยตกลงกติกากันว่าให้มีการแข่งเป็น 3 รอบ มีผู้ตัดสินคือเหล่านางไม้ (Muses) 9 องค์ ซึ่งเป็นทวยเทพแห่งศิลปะมาฟัง ยกแรกอพอลโลต่อสู้โดยใช้พิณคู่กายบรรเลงแข่ง แต่พอเหล่านางไม้ได้ยินขลุ่ยคู่ก็พบว่ามันช่างไพเพราะชวนให้หัวใจละลายเสียเหลือเกิน จึงตัดสินให้มาร์ไซยาสเป็นฝ่ายชนะ
อพอลโลมีหรือจะยอม แต่ยังก่อน ยังมีรอบสองไว้ให้แก้ตัว คราวนี้ใช้การร้องประกอบดนตรี และยกนี้อพอลโลเป็นฝ่ายชนะบ้าง
ผู้อ่านหลายคนคงคิดใช่มะ ว่ามันยุติธรรมไหม งานประกวดดนตรีแต่ดันชนะด้วยการร้องเพลงมันใช่ซะที่ไหนล่ะ แน่นอนว่ามาร์ไซยาสเสียงไม่ไพเราะร้องไม่เป็น พอมาสู้กับของแถมของอพอลโลก็เลยต้องแพ้ ทว่าอพอลโลก็แก้ตัว (แบบน้ำขุ่นๆ) ว่า อ๊าว ปากของฉันก็คือเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งนะ จะบอกว่าฉันทำไม่ถูกกติกาตรงไหนล่ะ เหล่ากรรมการนางไม้โง่ๆพอได้ยินข้อแก้ตัวก็เห็นชอบเห็นดีไปด้วยซะงั้น เออหนอ
คราวนี้หลังจากต่างคนต่างแพ้ชนะเท่ากันแล้วก็มาถึงรอบตัดสิน ฝ่ายอพอลโลจอมเจ้าเล่ห์ก็เลยงัดไม้เด็ดด้วยการร้องเพลงสรรเสริญเหล่านางไม้ซึ่งเป็นกรรมการ ซึ่งพอพวกเธอได้ยินคำเยินยอตอแหลก็เคลิ้มใจยอมเทคะแนนให้อพอลโลเป็นฝ่ายชนะแบบเอกฉันท์
ผลการตัดสินรอบไฟนอลจึงเป็นเช่นนี้ อพอลโลชนะ 2 ครั้งจากการแข่ง 3 ยก ก็เลยเป็นผู้ชนะ
ผลออกมาแบบนี้ ก็คงจะรู้ว่ารายการต่อไปก็คือการลงโทษผู้แพ้ (รายการอื่นเขาให้รางวัลผู้ชนะกันนะ แต่รายการนี้เป็นการลงโทษผู้แพ้แทน ซึ่งนี่แหละคือรางวัลของผู้ชนะ) คือการสั่งให้ทำอะไรก็ได้ต่อผู้แพ้ อพอลโลผู้ใจร้ายจึงสั่งให้ลงโทษมาร์ไซยาสด้วยโดยการจับมามัดแล้วทำการถลกหนังทั้งเป็น
ประติมากรรมที่เรามองก็คือตอนนี้แหละ แสดงภาพของมาซายาตอนโดนมัด ชำแหละ ใบหน้าแสดงความกล้าสยองแบบได้อารมณ์จริง และทีเด็ดของมาร์ไซยาสแห่งคาปลิโตลิเน่ตนนี้ก็คือการใช้วัสดุหินอ่อนสีแดงกระดำกระด่างมาแกะเป็นตัวมาร์ไซยาส ซึ่งพอทำออกมาเป็นแลเป็นผิวช้ำเลือดช้ำหนอง ได้เอฟเฟคท์ดีมากๆ
สังเกตสีผิวที่ดูช้ำเลือดช้ำหนอง เพราะเอาหินอ่อนสีแดงมาแกะ
ช่างสงสารมาร์ไซยาสเสียเหลือเกินที่โดยพวกเทพเจ้ากลั่นแกล้ง ชวนให้คิดถึงเรื่องความคดโกงของเทพพวกนี้ในงานวรรณกรรมอื่นๆอย่างเช่น นนทุกในรามเกียรติ์ เหล่าอสูรในการกวนเกษียณสมุทร ซึ่งก็มีมีจุดร่วมของเรื่องราวแบบนี้เสมอๆ
อ้อ มาร์ไซยาสนี่เป็นตัวละครที่ถูกนำเอาไปสร้างงานศิลปะเยอะอยู่เหมือนกัน งานก๊อปปี้ของกรีกแบบนี้เรายังจะได้เจอที่อื่นๆ อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ลุฟท์ ซึ่งก็มีรูปแบบเดียวกัน แต่ที่เราชอบมากๆก็คือที่อิสตันบูล เพราะแขนขาหัก เลยดูสวยสุดแบบเดียวกับวีนัส (มีใครจะคิดอย่างฉันมะเนี่ย)
(ซ้าย) มาร์ไซยาส ที่ลุฟท์ (ขวา) ที่อิสตันบูล https://en.wikipedia.org/wiki/Marsyas
นอกจากนั้นแล้วก็มีงานอื่นๆมาให้ดูกัน ที่ชอบอีกอันคืองานลายเส้นของรูเบน ข้าพเจ้านับถือในฝีมือมากอ่ะ
ของรูเบน สวยเนอะ
Apollo flaying Marsyas by Ribera (Bruxelles)  https://commons.wikimedia.org/
https://en.wikipedia.org/wiki/Marsyas
และที่เลื่องลืออีกชิ้นก็คือที่พิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิทัน นิวยอร์ก เห็นแล้วอาจต้องถอยผงะไปชั่วครู่ นี่เป็นศิลปะยุคบาโรกซึ่งเน้นการแสดงระเบิดอารมณ์รุนแรงแบบนี้แหละ งานนี้ชวนให้คิดถึงแเบรีนี่ศิลปินเอกแห่งยุคนี้ยิ่งนัก (คนที่ทำเมดูซ่า ถ้าไม่รู้จักก็ไปดูในบทก่อนๆนะฮะ แต่ถ้าอยากเห็นงานเขาเยอะๆก็ไปดูบทที่เกี่ยวกับหอศิลป์บอร์เกเซ่ที่ผมได้ลงไว้แล้ว) ทว่ารูปนี้แบรรีนี่ไม่ได้เป็นคนทำหรอก แต่เป็นศิลปินที่ชื่อ Permoser ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากแบรรี่นี่อีกที
นอกจากนี้ก็มีงานชิ้นอื่นๆที่มีภาพชายชราผู้น่าสงสารนี้อยู่อีกหลายแห่ง
นิทานเรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสั่งสอน ว่ามนุษย์นั้นอย่าอวดตัวโอหังจนเกินเลย ไม่งั้นอาจมีภัยถึงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปลองของกับเหล่าผู้มีอิทธิพล อ่านแล้วสังวรไว้ละกัน เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา