25 มี.ค. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

‘คิเมียรา สุภาเพ’ พบ ‘ฉลามผี’ สายพันธุ์ใหม่ ใต้ทะเลลึกอันดามัน

‘ฉลามผี’ ไม่ใช่ผี แต่เป็นชื่อเรียกสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ตามใต้ทะเลลึก เป็นหนึ่งในวิวัฒนาการเก่าแก่ที่แยกตัวออกมาจากฉลามเมื่อ 400 ล้านปีก่อน
จะเรียกว่าเป็นญาติห่างๆ ของฉลามหรือกระเบนก็ได้
ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีรายงานการพบฉลามผีชนิดใหม่ที่ว่ายเวียนอยู่ใต้ทะเลลึกของน่านน้ำอันดามัน ประเทศไทย
โดยมันถูกจับได้เมื่อปี 2018 ใต้ทะเลอันดามันที่ความลึกราวๆ 772 - 775 เมตร
นับว่าเป็นความโชคดี หรืออาจกล่าวว่าทะเลทางฝั่งอันดามันมีความหลากหลายทางชีวภาพมากก็ได้ เนื่องจากปกติไม่ค่อยมีการพบเจอฉลามผีทางภูมิภาคนี้สักเท่าไหร่
และไม่พบเลยในอาร์กติก (หรืออาจยังไม่มีการค้นพบ)
จากข้อมูลในอดีต ฉลามผีมักอาศัยอยู่ตามไหล่ทวีป และสันเขามหาสมุทรใต้ทะเลลึก
จะพบได้ที่ระดับความลึกต่ำกว่า 1,640 ฟุต หรือราวๆ 500 เมตร
แฝงตัวอยู่ในน่านน้ำมืด หาอาหารจากสัตว์ที่อาศัยอยู่ในก้นทะเล เช่น สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง หอย และหนอน
ที่ผ่านมามนุษย์รู้จักกับฉลามผีไปแล้ว 53 สายพันธุ์ ตัวที่เพิ่งพบใหม่ที่ทะเลอันดามันจึงเป็นสายพันธุ์ที่ 54 ที่เราได้รู้จัก
ฉลามผีตัวดังกล่าว ถูกเรียกว่า ‘คิเมียรา สุภาเพ’
คิเมียรา (Chimaera) ชื่อเรียกสากลของฉลามผี มาจากสัตว์ในเทวตำนานกรีก เกิดจากการรวมกันของสัตว์ร้าย 3 ชนิด คือ มีหัวเป็นสิงโต ลำตัวเป็นแพะ และข้างท้ายเป็นงูหรือมังกร
โดยทั่วไป คำนี้ยังถูกใช้เรียกสัตว์ที่มีลักษณะประหลาดหรือน่ากลัว
ส่วนชื่อหลังเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์สุภาพ มงคลประสิทธิ์ อดีตคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานปลา
ในรายงานข่าวระบุไว้ว่า เป็นสายพันธุ์ใหม่ ไม่เคยเห็นมาก่อน มีหัวขนาดใหญ่ ดวงตาขนาดยักษ์ มีสีรุ้ง และครีบที่มีขนนก
ลำตัวบาง ผิวหนัง สีน้ำตาลเข้มสม่ำเสมอ ช่องด้านข้าง และช่องปากมีกิ่งก้านสาขาเหมือนกัน
ขอบด้านหลังของครีบหลังนูนเล็กน้อย กระดูกสันหลังด้านหลังยาว 27% BDL ยาวกว่าครีบหลังแรก
มีสัณฐานวิทยาใกล้กับ Chimaera macrospina จากออสเตรเลีย แต่ต่างกันในความยาวของ ventral caudal lobe, ความยาวของช่องจมูก และความยาวของขอบด้านหน้าของครีบหลัง (pectoral fin)
แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยใต้ทะเลลึก มีโอกาสพบเห็นไม่บ่อย แต่คาดกันว่าฉลามผีก็ตกเป็นเหยื่อการทำประมงเกินขนาดเช่นกัน
ดังที่มีชื่อฉลามผี 4 สายพันธุ์ ปรากฏอยู่รายงานการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำพวกฉลาม กระเบน โรนิน ที่ออกมาเมื่อปี 2021
หรือหากอ้างอิงตามข้อมูลบัญชีแดงไอยูซีเอ็นก็จะพบว่ามีบางสายพันธุ์มีถานะสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU - Vulnerable species) และ สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT - Near Threatened)
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า ปัจจุบันเรามีข้อมูลของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้น้อย ในความเป็นจริงสามารถเป็นไปได้ทั้ง ยังอยู่มีสุขหรืออาจวิกฤตแล้วก็ได้
หรือบางสายพันธุ์ที่เรายังไม่เคยได้รู้จักก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้
อ้างอิง
Chimaera supapae (Holocephali: Chimaeriformes: Chimaeridae), a new species of chimaera from the Andaman Sea of Thailand https://shorturl.asia/9Oauf
'Ghost shark' with enormous head and giant iridescent eyes discovered off Thailand https://shorturl.asia/XJ20u
Overfishing drives over one-third of all sharks and rays toward a global extinction crisis https://shorturl.asia/bgRVf
IUCN Red List Chimaera https://shorturl.asia/WN0mp
โฆษณา