28 มี.ค. เวลา 00:00 • สุขภาพ
โรงพยาบาลปิยะเวท

โรคปอดอักเสบ IPD (Invasive Pneumococcal Disease)

โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) เป็นโรคในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันที่พบบ่อย โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาล
โรคปอดอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา  ชนิดของแบคทีเรียที่มักทำให้เกิดโรคปอดอักเสบมากที่สุด คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย
"สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumonia)"  หรือเรียกอีกอย่างว่า "เชื้อนิวโมคอคคัส" (Pneumococcus)  แบคทีเรียชนิดนี้ นอกจากจะทำเกิดโรคปอดอักเสบแล้ว อาจลุกลามจนเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบขึ้น สำหรับป้องกันการติดเชื้อ และอันตรายร้ายแรงจากเชื้อดังกล่าว
อาการของโรคปอดอักเสบ
🔹มีไข้สูง ตัวร้อน หน้าแดง เหงื่อออก หนาวสั่น
🔹ไอมีเสมหะ
🔹เจ็บหน้าอก
🔹หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
🔹คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
🔹อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดตามข้อ
🔹ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม รู้สึกสับสน และไม่มีไข้
ในทารกหรือเด็กเล็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ บางรายอาจมีอาการชักจากไข้
วัคซีนปอดอักเสบคืออะไร ?
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือ วัคซีนนิวโมคอกคัส (Pneumococcal vaccine) เป็นวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุของโรคปอดอักเสบที่มีมากกว่า 90 สายพันธุ์ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนปอดอักเสบเพื่อป้องกันการติดเชื้อชนิดนี้ และยังกำหนดให้วัคซีนชนิดนี้เป็นหนึ่งในบัญชียาจำเป็นขององค์การอนามัยโลกอีกด้วย
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบมีทั้งหมด 2 ชนิดด้วยกัน คือ 
วัคซีน PCV (Pneumococcal conjugate vaccine) เป็นการนำเชื้อแบคทีเรียมาจับกับโปรตีนที่เป็นตัวนำส่ง ตัวที่นิยมใช้คือ PCV 13 ซึ่งครอบคลุมการป้องกันเชื้อ pneumococcus 13 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
วัคซีน PPSV (Pneumococcal polysaccharide vaccine) จะใช้คาร์โบไฮเดรตขนาดใหญ่เป็นตัวนำส่ง ทำให้มีความจำเพาะ และมีประสิทธิภาพสูง ตัวที่นิยมใช้คือ PPSV 23 ที่สามารถป้องกันเชื้อได้ 23 สายพันธุ์ ส่วนมากแนะนำให้ฉีดในผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
ใครบ้างมีความเสี่ยงในการติดโรคปอดอักเสบ?
🔹ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
🔹เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
🔹ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำทุกสาเหตุ
🔹ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง
🔹ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
🔹ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหรือเป็นโรคหอบหืดเรื้อรัง
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
สำหรับเด็กแรกเกิดที่ยังไม่มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอักเสบ ควรได้รับวัคซีน PCV จำนวน 3 เข็ม ในช่วงปีแรกหลังคลอด คือ ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นอีก 1 เข็มเมื่ออายุ 12 เดือน
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับแข็ง ผู้ป่วยโรคหอบหืดเรื้อรัง ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ป่วยซึ่งมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด PCV13 ก่อน 1 เข็ม และหลังจากนั้น 8 สัปดาห์ ให้ฉีดวัคซีนชนิด PPSV23 อีก 1 เข็ม
สำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งชนิด PCV และ PPSV โดยฉีดวัคซีน PCV ก่อน 1 เข็ม ตามด้วย PPSV โดยห่างกัน 12 เดือน
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ
โดยทั่วไป วัคซีนปอดอักเสบอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำ รอยแดงหรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไม่อยากอาหาร รู้สึกหงุดหงิดหรือเหนื่อย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการหนาวสั่น เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ หลังการฉีดวัคซีน แต่มักพบได้น้อยมาก ได้แก่
เวียนศีรษะ การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป หูอื้อ ซึ่งเป็นสัญญาณของการหมดสติ   ปวดบริเวณหัวไหล่อย่างรุนแรงและขยับหัวไหล่ที่ถูกฉีดยาได้ยาก อาการแพ้วัคซีนที่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักจะได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากผลข้างเคียงเหล่านี้อาจปรากฏออกมาภายในเวลาไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน แต่หากพบอาการแพ้หรือความผิดปกติใด ๆ นอกเหนือจากนี้ในภายหลังจากการฉีควัคซีนปอดอักเสบ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
คำเตือนในการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
ห้ามใช้วัคซีนปอดอักเสบกับผู้ที่มีประวัติการแพ้วัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) วัคซีนวัคซีนปอดอักเสบชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) วัคซีนปอดอักเสบชนิด 7 สายพันธุ์ (PCV7) หรือวัคซีนที่มีส่วนผสมของวัคซีนคอตีบ
ผู้ที่มีปฏิกิริยาการแพ้หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการฉีดวัคซีนหากผู้ป่วยมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ปัญหาเกี่ยวกับปอด ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ
ผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรงอย่างมีไข้สูงหรือหนาวสั่น ควรรอให้หายดีก่อนแล้วค่อยเข้ารับการฉีดวัคซีน ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงอย่างไข้หวัด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยต่อร่างกาย
โฆษณา