28 มี.ค. เวลา 13:00 • ธุรกิจ

แหล่งลิเทียมไทย หนึ่งโอกาสกับหลากหลายความท้าทายที่ต้องทบทวน

ความต้องการแร่ลิเทียมในตลาดโลกเติบโตต่อเนื่อง ตามตลาดยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในภาคไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากคุณสมบัติของลิเทียมที่สามารถถ่ายโอนประจุไฟได้ดีและน้ำหนักเบา จึงทำให้ลิเทียมเป็นตัวเลือกที่ต้องนำมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการแพร่หลายมากขึ้นของความต้องการแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการกักเก็บพลังงานในภาคไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
โดยขยายตัวถึงราว 60% ต่อปีในช่วงปี 2020-2023 มาอยู่ที่ราว 1 ล้านตันในปี 2023 และคาดว่าจะยังมีความต้องการมากขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ราว 3.5 ล้านตันในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ของโลกโดยรวมที่จะมีความต้องการแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 18,000 GWh
ห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศ
หากพิจารณาผู้เล่นหลักในตลาดเอเชียแปซิฟิก (APAC) จะพบคู่แข่งสำคัญ 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลียผลิตเหมืองลิเทียมเป็นอันดับหนึ่ง และกำลังฝ่าข้อจำกัดของอุตสาหกรรมแปรรูป จีนครอบงำห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่
โดยการเป็นผู้นำด้านการแปรรูปลิเทียมและการสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งในส่วนของทรัพยากรลิเทียมและส่วนผู้ผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีจุดเด่นเรื่องของทรัพยากรแร่นิกเกิลและโคบอลต์ ซึ่งเป็นแร่สำคัญนอกเหนือจากลิเทียม ที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่
แม้ว่าความต้องการลิเทียมจะเติบโตสูง แต่ภาวะอุปทานส่วนเกินส่งผลให้ราคาลิเทียมปรับตัวลดลงในปี 2023 และทรงตัวในระดับต่ำในช่วงปี 2024-2026
สภาวะตลาดลิเทียมที่มีการเร่งผลิตและอุปทานแร่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมากในปี 2022 ส่งผลให้ราคาลิเทียมคาร์บอเนตลดลงอย่างรวดเร็วจาก 70,000-80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เหลือราว 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงปลายปี 2023 และคาดว่าระดับราคาเฉลี่ยในปี 2024-2026 จะอยู่ที่ราว 12,000-13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
จากแรงกดดันของตลาดที่ยังคงมีอุปทานส่วนเกินเหลืออยู่ (Excess supply)
สำหรับโอกาสทางธุรกิจในไทย SCB EIC ประเมินว่าความคุ้มค่าในการลงทุนเหมืองไปจนถึงการแปรรูปลิเทียมในเชิงธุรกิจในแหล่งทรัพยากรแร่ของไทยยังไม่น่าสนใจ
ในปัจจุบัน ทั้งจากราคาลิเทียมคาร์บอเนตที่อยู่ในระดับต่ำ ประเด็นเรื่อง ESG และการแข่งขันจากใน APAC
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไทยได้มีการค้นพบทรัพยากรแร่ 14.8 ล้านตัน ประกอบไปด้วยลิเทียมออกไซด์ราว 6.6 หมื่นตัน ซึ่งสามารถผลิตลิเทียมคาร์บอนเนตได้ราว 1.64 แสนตัน การค้นพบนี้นับเป็นโอกาสต่ออุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของไทย
อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายที่ต้องพิจารณาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความคุ้มค่าในการลงทุนเหมืองลิเทียมจนถึงแปรรูปเป็นลิเทียมคาร์บอเนตซึ่งยังมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน (คาดว่า IRR จะอยู่ที่ราว 7% ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินที่ราว 8%) จากราคาลิเทียมคาร์บอเนตที่อยู่ในระดับต่ำที่ราว 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
กอปรกับประเด็นเรื่อง ESG ที่การทำเหมืองจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยยังต้องศึกษาถึงผลกระทบในเชิงลึกก่อนตัดสินใจลงทุนอีกมาก รวมไปถึงประเด็นการแข่งขันกับคู่แข่งหลักในตลาด APAC ที่มีความได้เปรียบทางการค้าค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามเรื่องความคุ้มค่าทางการเงินและต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม และภาวะการแข่งขันของตลาดลิเทียมในระดับสากล การลงทุนโครงการเหมืองแร่ลิเทียมในไทยอาจมีความน่าสนใจขึ้น หากภาครัฐต้องการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ขึ้นมาในประเทศไทย หรือผู้ประกอบการที่ผลิตแบตเตอรี่ในไทยต้องการเสริมความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานของตน หรือมีการค้นพบแร่หายากและแร่มีค่าอื่น ๆ ในแหล่งแร่ลิเทียมด้วย ซึ่งต้องอาศัยมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ มาตรการทางภาษี และมาตรการสนับสนุนทางการเงิน
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับออนไลน์ได้ที่…
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
โฆษณา