28 มี.ค. เวลา 12:54 • ศิลปะ & ออกแบบ

เขียนหนังสือให้อ่านยาก เขียนง่าย แต่เขียนหนังสือให้อ่านง่ายนั้น เขียนยาก

ถ้าจะตอบตรงๆ กับตัวเอง จะบอกว่า ชอบอ่านมากกว่าเขียน และชอบฟังมากกว่าพูด เหตุผลง่ายมาก เพราะอ่านมันง่ายกว่าเขียน ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร และไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบอะไรด้วย อ่านจบแล้วก็มีผลเพียงเข้าใจ หรือไม่เข้าใจแค่นั้นเอง ไม่มีผลกระทบต่อคนอื่น
แต่งานเขียน ไม่จบเพียงแค่นั้น มันยังส่งผลไปถึงทุกคนที่ได้อ่าน อ่านแล้วชอบ ไม่ชอบ ก็ประเด็นหนึ่ง แต่ที่เกิดความเสียหายมากกว่านั้นคือ ผู้อ่านแปลความหมายไม่ตรงกับที่ผู้เขียนสื่อ อันนี้น่ากลัว คิดดูเขียนว่าให้เลี้ยวซ้าย แต่ผู้อ่านเข้าใจผิด กลายเป็นเลี้ยวขวา เป็นแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ครูย้ำนักย้ำหนา ก่อนให้การบ้าน ไปอ่านบทความแล้วสรุปใจความสำคัญมาส่ง ว่าให้อ่านเอาเรื่อง คือจับใจความ สาระสำคัญในเรื่องราวทั้งหมด ให้เหลือเพียงย่อหน้าเดียว
จึงได้รู้ว่าการย่อความ ยากกว่าการขยายความ และต้องเขียนข้อความนั้นด้วยจำนวนคำที่จำกัด แต่ต้องสื่อสารความหมายให้ครบ ให้คนเข้าใจ ย่อความยิ่งทำยาก
การเขียนย่อความ มีความจำเป็น มีประโยชน์ต่อการใช้งานจริง จึงจำเป็นต้องทำ เพราะในสภาวะที่ถูกบังคับด้วยเวลา เช่น สื่อโฆษณาทางทีวี ที่มีงบให้จำกัด จะต้องทำให้คนเข้าใจให้ได้ ภายใน 10 วินาที ที่มีเวลาแค่นั้น เพราะเวลาออกอากาศมันแพง จึงเป็นโจทย์ยากของนักออกแบบโฆษณา หรือครีเอทีฟทั้งหลาย ที่ต้องร่างบทภาพยนต์โฆษณา ด้วยการเขียนให้ชัดเจนด้วยข้อความสั้น
หลักเกณฑ์ในการเล่าเรื่อง ทุกคนรู้ดี ว่าจะต้องบอกเล่าอย่างไร
ในทุกๆเหตุการณ์ จะประกอบไปด้วย ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่อย่างไร และเพราะอะไร หากครบทั้งหมดนี้ ถือว่าสมบูรณ์ ส่วนจะสละสลวยสวยงามแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับคำสำนวนภาษาที่เลือกมาใช้ แตกต่างกันไปตามจริตของนักเขียน นักเล่าเรื่องแต่ละคน
การเกริ่นนำที่น่าติดตาม การเล่าเรื่องราวที่เข้าใจง่าย ด้วยภาษาที่ไม่กำกวม ขยายความเท่าที่จำเป็น เรียงลำดับเหตุการณ์ ก่อนหลังให้ถูกต้อง ส่วนไหนข้อเท็จจริง ส่วนไหนเป็นความเห็นส่วนตัว ต้องบอกให้ชัด ไม่อย่างนั้นจะเข้าใจผิดกันได้
จึงต้องใช้พลังงานมากในการเตรียมตัว คิด วางแผน และเลือกคำที่เหมาะสมมาใช้ในการเขียน อาจมองว่ายาก แต่ผลที่ได้คือ ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจง่าย ก็คุ้มค่าน่าภูมิใจ
ในทางกลับกัน เอาง่ายเข้าว่า สักๆแต่เขียนไป ให้มันจบๆ ก็อาจได้งานเขียนที่ทันใจ ได้ปริมาณ แต่ด้อยคุณภาพ เพราะอ่านแล้วเข้าใจยาก ตีความได้หลายแง่ ศัพท์เฉพาะมากเกินไป ทำให้คนทั่วไปไม่รู้เรื่อง งานเขียนประเภทนี้ถือว่าให้ประโยชน์น้อย
ลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ เวลาเราคุยกับใคร แล้วรู้สึกอยากคุยต่อ ยิ่งคุยยิ่งสนุก โยนคำถามกันไปมา คุยไปสลับไปกับเสียงหัวเราะ ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม แสดงว่าชอบใจ สนุก มีความสุข
การเขียนก็ไม่ต่างจากการคุย ต้องสื่อตรงไปตรงมา ไม่ปั้นไม่แต่งจนออกอาการว่าเสแสร้งแกล้งทำ เฟค ไม่ใช่ของจริง อีกฝ่ายรู้สึกได้ ก็จะไม่เชื่อ ภาษากายแสดงออกด้วยการเบือนหน้าหนี ไม่อยากฟังในเรื่องที่เล่า
ใส่ใจต่องานเขียนทุกชิ้น บอกเล่าตรงไปตรงมา ให้เป็นธรรมชาติ เหมือนกับลมพัดใบไม้ไหว เสียงนกร้องเพลง ที่เราเห็นและได้ยินแล้วเกิดความเข้าใจ โดยไม่มีคำถาม
การตั้งใจสร้างงานเขียนด้วยความปราณีต ถือเป็นการให้เกียรติต่อศิลปะ ด้านวรรณกรรม ที่จำเป็นต้องยึดถือ
โดย.. พี่ชื่อวิช
โฆษณา