29 มี.ค. เวลา 09:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

อุณหภูมิส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยหรือ ตอนที่ 1

เรื่องราว ตอนที่ 1
ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของโลกในปี 2023 ได้แก่ สหรัฐฯ ที่มี GDP ใกล้จะแตะ 26 ล้านล้านเหรียญฯ รองลงมาก็คือจีน 17.7 ล้านล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยญี่ปุ่นอันดับสาม 4.2 ล้านล้านเหรียญฯ ส่วนอันดับสี่ได้แก่เยอรมนี 4 ล้านล้านเหรียญฯ ปิดท้ายอันดับห้าคืออินเดีย 3.3 ล้านล้านเหรียญฯ เบียดแซงหน้าอังกฤษขึ้นมาเล็กน้อยแบบแลบลิ้นเข้าเส้นชัย
หากวิเคราะห์จากชุดข้อมูลที่ใหญ่กว่าเดิมจาก GDP per capita หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว นั่นก็คือประชากรหนึ่งคนของประเทศนั้น ๆ โดยเฉลี่ยแล้วจะสร้างรายได้ได้เท่าไหร่ ซึ่งจะพบว่าบรรดาประเทศชั้นนำจำนวน 14 ประเทศจาก 20 ประเทศที่มี GDP per capita ( ต่อไปขอเรียกว่า GDP ต่อหัว
เหตุผลเพราะน่าจะเข้าใจได้ง่าย ๆ บ้าน ๆ กว่า) สูงที่สุดในโลกนั้นล้วนตั้งอยู่นอกเขตร้อน ประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงนั้น กว่า 70% ต่างก็อยู่ในเขตที่มีอากาศหนาวของโลก ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติอย่างเห็นได้ชัด เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมากระหว่างอุณหภูมิเฉลี่ยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ
อะไรคือพื้นที่เขตหนาว เขตร้อนของโลกที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้ แผนภาพด้านล่างจะเห็นการแบ่งโซนภูมิอากาศได้อย่างชัดเจน โดยบริเวณที่ร้อนที่สุดก็คือแนวเส้นศูนย์สูตรที่จะเป็นแถบสีแดงและอุณหภูมิเฉลี่ยจะลดต่ำลงเมื่อห่างจากเส้นศูนย์สูตรออกไป
ลองลงลึกไปในข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิเฉลี่ยในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมกับดู GDP ของประเทศนั้น ๆ ไปด้วย มาดูกันว่าเราจะเห็นอะไรจากข้อมูลสองชุดนี้
เมื่อทำการเปรียบเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยและ GDP ต่อหัว ของทั้ง 98 ประเทศทั่วโลก ข้อมูลที่แสดงให้เห็นดูเหมือนจะสนับสนุนข้อสังเกตที่ว่าประเทศที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าจะมี GDP ต่อหัวต่ำกว่า การวิเคราะห์ทางสถิติทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีความเกี่ยวข้องกันบางประการระหว่างตัวแปรทั้งสอง
แต่อย่างไรก็ตาม เราเองก็ยังทราบด้วยว่า ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อเรื่องนี้ อย่างเช่น ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานและตัวแปรอื่นอีกมากมายที่ส่งผลต่อ GDP ของประเทศใดประเทศหนึ่ง อุณหภูมิเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลและเรากำลังจะเจาะลึกลงไปในปัจจัยดังกล่าวนี้
ดังนั้นเพื่อให้ยังคงวิเคราะห์ได้อย่างต่อเนื่องถึงความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับ GDP เราจำเป็นต้องมั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรสองตัวนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ
นักสถิติใช้สิ่งที่เรียกว่า coefficient of determination หรือ R2 (R-SQUARE) ค่าดังกล่าวนี้จะเป็นตัวระบุว่าความผันแปรดังกล่าวของตัวแปรกำหนดสามารถทำนายจากตัวแปรอิสระได้มากน้อยเพียงใด
สิ่งที่เราต้องการทราบในตอนนี้ก็คือ ค่า R-square ของชุดข้อมูลอุณหภูมิที่สัมพันธ์กับค่า GDP นั้นมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ ซึ่งจากการทดสอบพบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ .087 หรือ 8.7%  ซึ่งหมายความว่าเกือบ 9% ของ GDP ต่อหัวนั้นถูกกำหนดด้วยปัจจัยทางอุณหภูมิเฉลี่ยของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
เมื่อทำการทดสอบความแตกต่างของผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอาฟริกาและกลุ่มประเทศในอเมริกาใต้ ข้อสรุปดังกล่าวก็ยังคงเป็นจริง โดยกลุ่มประเทศอเมริกาใต้มี nominal GDP ราวๆ 4.04 ล้านล้านเหรียญฯ ในขณะที่กลุ่มประเทศอาฟริกามี nominal GDP (เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ) ที่ 3.14 ล้านล้านเหรียญฯ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วประเทศที่มีอุณหภูมิสูงกว่าในสองทวีปนี้ต่างก็มี GDP ต่อหัวต่ำกว่าประเทศที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าในทวีปเดียวกัน ตัวอย่างเช่น อุรุกวัย อาเจนตินา และชิลี ต่างก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากกว่าประเทศในทวีปเดียวกันทำให้มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศอื่นในโซนอเมริกาใต้ แต่ทว่ากลับมี GDP ต่อหัว  สูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่นกัน
ในปี 2021 อุรุกวัยเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงที่สุด อยู่ที่ราว ๆ 17,313 เหรียญฯ ต่อปี ตามมาด้วยชิลีที่  16,265 เหรียญฯ ต่อปีและอันดับสามคืออาเจนตินา ที่ 10,636 เหรียญฯ ต่อปี
ในทางกลับกัน บรรดาประเทศที่อยู่ตามแนวเส้นศูนย์สูตรต่างก็มี GDP ต่อหัวต่ำกว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น โคลัมเบียที่มี GDP ต่อหัวอยู่ที่ราว 6,104 เหรียญฯ ต่อปี เอกวาดอร์อยู่ที่ 5,965 เหรียญฯ ต่อปีและซุรินัมมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ราว ๆ 4,869 เหรียญฯ ต่อปี
อุณหภูมิเฉลี่ยของอุรุกวัยคือ 17.5 องศาเซลเซียส ส่วนของซุรินัมคือ 26 องศาเซลเซียส ความแตกต่างระหว่าง GDP ต่อหัวของทั้งสองประเทศดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับความแตกต่างของอุณหภูมิเฉลี่ย
โฆษณา