29 มี.ค. เวลา 12:53 • ยานยนต์

เรื่องที่ไม่ควรฉลาดของนักออกแบบ

เครื่องมือที่คุณแม่ๆทั้งหลาย เลือกใช้หลอกเด็ก ให้เลิกงอแงมีหลายตัว ส่วนใหญ่มักใช้ขนมล่อ หรือใช้ของเล่นล่อหลอกเบนความสนใจ จนเมื่อเด็กโตขึ้นหมดความสนใจกับของเล่นพวกนั้นแล้ว แต่ละบ้านเก็บรวบรวมได้หลายลัง รวมราคาตอนที่ซื้อมาหลายเงิน
จนวันนี้ตลาดของเล่นเด็กก็ยังคึกคัก มีให้เลือกทุกชนิด ส่วนใหญ่เลียนแบบจากของจริงที่มีใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน คำว่าของเล่นจึงใช้เพื่อเล่น ไม่ใช่เรื่องจริงจัง บางอย่างมีประโยชน์ แต่ก็มีบางชนิดที่เป็นโทษ เช่น อมยิ้ม ที่ทำให้เด็กฟันผุ
นักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเล่นเด็ก มีหลายระดับ ตั้งแต่เสริมพัฒนาการการเรียนรู้ ให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์เติบโตตามวัย สอนให้เด็กได้เรียนรู้อันตรายจากอุปกรณ์จำลองจากของจริง ของเล่นที่เด็กๆชอบเป็นพิเศษ จะเป็นพวกอาวุธ ปืน มีด หรือพวกสัตว์มีพิษทั้งหลาย
นักออกแบบ สร้างของเล่นเด็ก เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน และซ่อนกุศโลบาย เสริมทักษะให้ความรู้ควบคู่ไปกับการเล่น ถือเป็นความคิดที่ชาญฉลาด
มีเรื่องของเล่นชิ้นใหม่ แต่เป็นของเล่นสำหรับผู้ใหญ่ ไม่ใช่ของเด็ก จะเล่าให้ฟัง
เคยรู้สึกประหลาดใจกับเพื่อนบางคน ที่ไม่ยอมคาดเข็มขัดนิรภัย แม้เสียงเตือนจะดังจนคนที่นั่งไปด้วยรำคาญทนไม่ได้ ก็ต้องเตือนซ้ำเข้าไปอีกดอก จึงได้เสียบคาดเข็มขัด หรือไม่ก็รอจนเสียงเตือนปิดไปเอง
ไปนั่งอีกคันหนึ่งกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง คนนี้เป็นผู้ใหญ่อายุมากกว่าหลายปี ก็มีพฤติกรรมเดียวกัน ครั้นจะเตือนเหมือนเพื่อนคนโน้นก็เกรงใจ ต้องนั่งเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อน จนเซ็นเตอร์ปิดไปเอง คล้ายกับหมั่นไส้ คนประมาท
ต่อไปสัญญาณสุดท้ายก่อนปิดเสียงเตือน น่าจะออกแบบเป็นคำพูดว่า ‘ เตือนแล้วไม่ฟัง ตัวใครตัวมันเด้อ ‘
แต่มาวันนี้ยิ่งแปลกใจมากกว่าเดิมอีก เพราะไม่ได้ยินเสียงเตือน แม้ไม่ได้คาดเข็มขัดก็ตาม มาถึงบางอ้อ เมื่อเห็นหัวเสียบเข็มขัดนิรภัย เสียบติดอยู่ แต่เป็นหัวหลอก ที่ไม่มีสายเข็มขัด หลอกเซ็นเซอร์ให้เงียบ เหมือนหลอกเด็กด้วยอมยิ้ม จะได้ไม่งอแง
วันนี้มีนวัตกรรมใหม่ คล้ายกับของเล่นเด็กชิ้นหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่กลับเอามาเล่นเอง จุดประสงค์เพื่อหลอกเซ็นเซอร์ว่าได้คาดเข็มขัดนิรภัยเรียบร้อยแล้ว จะได้ไม่ส่งเสียง หรือกระพริบไฟเตือน เพราะรำคาญ
ของเล่นชิ้นนี้หาซื้อง่าย มีขายในออนไลน์ ราคาไม่แพง ผู้ใหญ่หัวใจเด็กนิยมเอามาเล่น
แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งที่เล่นอยู่นั้นมันอันตราย เสียหายถึงชีวิต และกำลังทำผิดกฎหมายจราจร มีโทษปรับถึง 2,000 บาท
พรบ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ได้กำหนดข้อบังคับเพิ่มเติม เรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสาร ทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร โดยเฉพาะเด็ก ต้องมีคาร์ซีทสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ
โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ แบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1. ผู้ที่นั่งในรถยนต์จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง
เดิมบังคับเฉพาะผู้ขับขี่เท่านั้น ต่อมามีการปรับแก้กฎหมาย ให้ผู้โดยสารตอนหน้าต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วย จนกระทั่ง พรบ.การจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม คือ ผู้ที่อยู่ภายในรถทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย โดยไม่มีข้อยกเว้น
2. คนนั่งไม่คาดเข็มขัดนิรภัย มีโทษปรับ
เฉพาะรถยนต์ 4 ประตูส่วนบุคคล ผู้ขับขี่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จะถูกปรับไม่เกิน 500 บาท ผู้โดยสารตอนหน้าปรับไม่เกิน 500 บาท หากผู้ขับขี่ไม่จัดให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัย ถูกปรับเพิ่มอีก 500 บาท
3. กฎหมายจราจรฉบับล่าสุดได้ระบุโทษปรับผู้โดยสารตอนหลังที่ไม่ยอมคาดเข็มขัดนิรภัย จะถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ส่วนการใช้หัวเสียบเข็มขัดนิรภัยหลอก ผิดกฎหมายเทียบเท่ากับการขับขี่โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โทษปรับสูงสุด 2,000 บาท
เข็มขัดนิรภัย จะรั้งร่างกายให้ติดกับเบาะนั่ง ป้องกันศีรษะ ใบหน้า หน้าอกกระแทกกับพวงมาลัย และกระจกด้านหน้า ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตถึง 60%
หากเกิดอุบัติเหตุ ร่างกายของคนที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จะกระแทกกับพวงมาลัย ตัวรถหรือกระจกหน้ารถ หรือกระเด็นออกจากตัวรถ มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่อยู่ในรถถึง 6 เท่า
ทำความเข้าใจกับตัวเอง และเพื่อนผู้ร่วมโดยสารไปด้วยกัน ถึงความสำคัญของการคาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ใช่คาดเพราะกลัวโดนปรับ ไม่เห็นตำรวจไม่คาด พอเห็นด่านตำรวจข้างหน้าก็รีบคาด ผ่านด่านก็ถอด แบบนี้ก็มี เคยเห็น
สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จากความคิดสร้างสรรค์อันชาญฉลาด ของนักออกแบบ นับเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ ควรยกย่อง สรรเสริญ
แต่งานออกแบบหัวเข็มขัดนิรภัยหลอก ส่งผลร้ายถึงชีวิต ถือเป็นความคิดถอยหลัง ไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ ขาดความรับผิดชอบ เป็นเรื่องที่ไม่ควรฉลาดของนักออกแบบเลยจริงๆ คิดได้อย่างไร แค่ต้องการตัดเสียงรำคาญใจ แต่ต้องแลกด้วยความปลอดภัยของชีวิต
กฎจราจรคือ กฎแห่งความปลอดภัย ก่อนออกรถทุกครั้ง ตรวจสอบ 5 หัวข้อเพื่อความปลอดภัย ทำประจำจนติดเป็นนิสัย
จำง่ายๆว่า อาโฟเอส เป็นตัวย่อ R4S
R. คือ Raer Mirror ปรับกระจกมองหลังให้เข้าที่ S1. คือ Seat เบาะนั่งคนขับ ปรับให้เข้าที่ S2. คือ Seat Belt คาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อย S3. คือ Steering Wheel ปรับพวงมาลัยสูงต่ำให้พอเหมาะ และS4. คือ Side Mirrors ปรับกระจกมองข้างให้มุมมองพอดี
สำหรับตัวเอง มีประสบการณ์ราคาแพงเป็นอุทาหรณ์สอนใจ หากอุบัติเหตุทางรถยนต์วันนั้นไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย วันนี้คงไม่มีโอกาสมาคุยกับท่านผ่านงานเขียนชิ้นนี้ แน่นอน
โดย.. พี่ชื่อวิช
โฆษณา